World News

‘นอร์เวย์’ เจ็บน้อยสุด ‘ชาติผลิตน้ำมัน’ เหตุศก.หลากหลาย รับมือราคาดิ่งได้

ในปี 2563 นี้ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก เจอกับปัจจัยลบที่มาคู่กันตั้งแต่ช่วงต้นปี จากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 และการทำสงครามราคาน้ำมันระหว่างซาอุดีอาระเบีย กับรัสเซีย

GettyImages น้ำมัน141

 

แม้ในขณะนี้ เรื่องของการทำสงครามราคาจะยุติลงแล้ว จากการที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) และชาติพันธมิตร ที่เรียกกันว่า กลุ่มโอเปคพลัส ได้บรรลุข้อตกลงในเรื่องการลดเพดานผลิตน้ำมันเพิ่มอีก แต่การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ความต้องการน้ำมันซบเซาทั่วโลกนั้น ยังเป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้ และฉุดให้ราคาน้ำมันดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง จนมองไม่เห็นแนวโน้มว่า ราคาจะสามารถฟื้นตัวไปยืนอยู่ที่ระดับ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เหมือนในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้อีกครั้ง

สำหรับบางประเทศแล้ว ยิ่งราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำเท่าใด ก็จะยิ่งตกอยู่ในสถานะที่ยากลำบากมากเท่านั้น โดยรายได้รัฐบาล และดุลบัญชีเดินสะพัด ของประเทศผู้ส่งออกน้ำมันหลายราย ขึ้นอยู่กับยอดขายน้ำมัน

ผลการศึกษาบ่งชี้ว่า ในช่วงเวลาที่ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันส่วนใหญ่ กำลังเผชิญกับความยากลำบากทางเศรษฐกิจนี้ ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันในแอฟริกา เป็นกลุ่มที่มีความสามารถน้อยสุดที่จะรองรับกับผลกระทบทางเศรษฐกิจนี้ได้ ซึ่งการที่จะดูว่า ประเทศใดบ้างที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันในระดับต่ำนั้น ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงเศรษฐกิจจากการผลิตน้ำมันเท่านั้น แต่ต้องดูถึงผลกระทบที่เกิดต่อการเมืองด้วย

ราคาน้ำมันที่หายไประหว่าง 10-20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อาจทำให้รายได้ของประเทศผู้ส่งออกบางราย หายไปมากกว่า 10% ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งแน่นอนว่า ความรุนแรงจากผลกระทบของราคาน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ที่ร่วงต่ำเป็นประวัติการณ์จะมีความหลากหลายแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับว่า เศรษฐกิจของแต่ละประเทศมีความหลากหลายมากน้อยเพียงใด

ประเทศผู้ผลิตที่น่าจะเจ็บปวดน้อยสุดจากเรื่องนี้ น่าจะเป็น นอร์เวย์ ที่ตามความเป็นจริงแล้ว เศรษฐกิจของประเทศ ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบที่ร่วงลงอยู่ในขณะนี้ไปแล้ว เนื่องจาก น้ำมันดิบคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 55.6% ของการส่งออกโดยรวมของประเทศในปี 2562  ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว เฉพาะการขายน้ำมันดิบเพียงอย่างเดียว ทำให้รายได้ให้กับรัฐบาลออสโลมากถึง 33,300 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนราว 7% ของจีดีพีประเทศ

oil Chart 01

อย่างไรก็ดี นอร์เวย์ยังสามารถปกป้องตัวเองได้ ผ่านการดำเนินมาตรการหลายอย่าง รวมถึง เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน และการลดดอกเบี้ย ที่เมื่อเร็วๆ นี้ เพิ่งปรับลดลงไปมากถึง 1.25% มาอยู่ที่ 0.25% แต่ประเทศแถบอ่าวเปอร์เซียจำนวนมาก ที่ไม่มีความหลากหลายแบบนี้ จากการตรึงค่าเงินไว้กับดอลลาร์ ล้วนแต่ต้องเจอกับปัญหาอย่างหนัก

อเล็กซานเดอร์ เปอร์เจสซี นักวิเคราะห์อาวุโสจากมูดี้ส์ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำ แสดงความเห็นว่า ประเทศที่มีความอ่อนไหวต่อราคาน้ำที่ลดต่ำลงในปี 2563-2564 คือ กลุ่มที่พึ่งพาน้ำมันเป็นหลักในการสร้างรายได้ และส่งออก โดยที่มีความสามารถจำกัดในการปรับตัว

มูดี้ส์ ยังเจาะจงไปถึงประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากรายได้ที่หายไปราว 10% รวมถึง โอมาน กาตาร์ อาเซอร์ไบจาน คองโก บาห์เรน และซาอุดีอาระเบีย ที่ต่างประกาศเจตนารมณ์ถึงการเพิ่มการผลิตน้ำมันเป็นจำนวนมาก ในความพยายามที่จะชิงส่วนแบ่งในตลาด

“ในกรณีเหล่านี้ เราคาดว่าจะเห็นจีดีพีที่หายไปราว 4-8% โดยประเทศอย่าง รัสเซีย คาซัคสถาน ทรินิแดด และโตเบโก ไนจีเรีย และกาบอง จะมีจีดีพีลดลงไม่ถึง 3% น้อยกว่าประเทศอื่นๆ “

โดยรวมแล้ว มูดี้ส์ชี้ว่า ประเทศที่มีความเสี่ยงที่สุด กับราคาน้ำมันที่ร่วงลง คือ โอมาน บาห์เรน อิรัก และแองโกลา ที่มีความเสี่ยงต่อความผันผวนภายนอกประเทศสูง และมีความสามารถในการปรับตัวรับกับความตกใจอย่างจำกัด

ในทางตรงกันข้าม ประเทศที่มีสถานะงบประมาณ และดุลบัญชีเดินสะพัดที่แข็งแกร่งอยู่แล่ว อย่างกาตาร์ รัสเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย คูเวต และคาซักสถาน จะสามารถรับแรงกระทบเหล่านี้ได้

Avatar photo