Business

‘โควิด’ ฉุด ‘ดัชนีภาวะเศรษฐกิจฯ’ ร่วงต่ำสุดในรอบ 74 เดือน

“ไวรัสโควิด” ฉุด “ดัชนีภาวะเศรษฐกิจฯ” ลดลงต่อเนื่องเดือนที่ 3 ต่ำสุดในรอบ 74 เดือน เผยครัวเรือนเริ่มดึงเงินออมมาใช้จ่าย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ถูกยกระดับความรุนแรงสู่การระบาดใหญ่ทั่วโลก หลายประเทศประกาศล็อกดาวน์ ห้ามประชาชนออกจากบ้านเว้นมีเหตุจำเป็น เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และประกาศปิดสถานที่ชั่วคราว ได้ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย โดยดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สร้างสถิติต่ำสุดในรอบ 74 เดือน จากระดับ 37.3 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 มาอยู่ที่ระดับ 33.1 ในเดือนมีนาคม 2563 ในขณะที่ดัชนีฯ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับมุมมองในปัจจุบัน จากระดับ 36.5 มาอยู่ที่ระดับ 32.6 ชี้ให้เห็นถึงมุมมองของครัวเรือนที่เต็มไปด้วยความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของตนเองในอีก 3 เดือนข้างหน้า (เม.ย.-มิ.ย. 2563)

KR ECI FB210420

ขณะที่รายได้ของครัวเรือนที่ลดลง ท่ามกลางภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ การทำประกัน COVID-19 ทำให้ครัวเรือนในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1,223.2 บาทต่อเดือน และเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 706.5 บาทต่อเดือน สำหรับครัวเรือนในพื้นที่ต่างจังหวัด ส่งผลให้ครัวเรือนไทยที่ทำการสำรวจส่วนใหญ่ 65.3% มีเงินออมลดลงจากเดือนก่อนหน้าหลังดึงเงินที่เก็บออมมาใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีพ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สำรวจเพิ่มเติมในประเด็นเรื่องการปรับตัวทางด้านการจ้างงานขององค์กรและธุรกิจที่ครัวเรือนสังกัดหรือเป็นเจ้าของในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 พบว่า องค์กรและธุรกิจส่วนใหญ่พยายามประคับประคองสถานะการมีงานทำของลูกจ้างให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดย 21.4% ของครัวเรือนที่ทำการสำรวจถูกปรับลดเงินเดือนลงชั่วคราวแทนการเลิกจ้างอีก 21.1% ลดเวลาการทำงานล่วงเวลาเพื่อลดต้นทุนด้านแรงงาน มีเพียง 4.9% ของครัวเรือนที่ถูกเลิกจ้างในเดือนมีนาคม 2563

อย่างไรก็ตาม มองว่า ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในช่วง 9 เดือนที่เหลือของปี 2563 จะเผชิญโจทย์ที่ยากยิ่ง ท่ามกลางความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ทั้งภาวะภัยแล้งที่คาดว่าจะส่งผลกระทบหนักต่อครัวเรือนภาคเกษตรในช่วงไตรมาสที่ 2/2563 และสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่มีโอกาสวนกลับมาระบาดใหม่อีกคร้ัง หากยังไม่มีประเทศไหนคิดค้นวัคซีนสำเร็จ อย่างไรก็ดี มาตรการดูแลเยียวยาที่ภาครัฐออกมา ก็น่าจะมีส่วนช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้บ้างบางส่วน

Avatar photo