The Bangkok Insight

พระราชกรณียกิจสมเด็จพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9

ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งภารกิจในการส่งเสริมคุณภาพชีวิต อาชีพ และความเป็นอยู่ของบุคคลผู้ยากไร้ และประชาชนในชนบทห่างไกล ได้โดยเสด็จพระราชดำเนิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ไปทั่วทุกหนแห่งในแผ่นดินไทย

S 16515143

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ได้แสดงถึงพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่จะทรงบําเพ็ญพระราชกรณียกิจ เพื่อทํานุบํารุงราชอาณาจักรและมรดกวัฒนธรรมไทย ที่บรรพบุรุษได้สร้างสมไว้จนตกทอดมาถึงอนุชนไทยรุ่นหลัง

พระองค์ทรงอุทิศ พระปัญญา พระวรกายและพระราชทรัพย์ ด้วยพระวิริยะ อุตสาหะอย่างยิ่งในการทํานุบํารุงชาวไทยให้อยู่ดีกินดี ทรงเข้าพระทัยปัญหาพื้นฐานของทุกท้องถิ่นทั่ว ทุกภูมิภาค โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นสาเหตุทําให้ประชาชนต้องมีชีวิตที่ขัดสน ทรงตระหนักว่าความยากจน หากมิได้มีการเยียวยาย่อมจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว จึงทรงปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะ สงเคราะห์ให้พ้นจากสภาพความยากจน ความเจ็บไข้ ความไม่รู้ โดยช่วยยกฐานะความเป็นอยู่ให้สูงขึ้น ให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้

ด้วยเหตุนี้จึงได้ก่อให้เกิดโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดําริ เพื่อปวงประชาขึ้นในแต่ละพื้นที่ของประเทศอย่างกว้างขวางหลายโครงการ และหลายรูปแบบ

อย่างไรก็ตาม โครงการที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเอาพระทัยใส่เป็นพิเศษ ได้แก่ โครงการพัฒนาที่ครอบคลุมลักษณะงาน 4 ประการ คือ

  • การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  • การศึกษา
  • สาธารณสุข
  • ศิลปวัฒนธรรม

04 20

การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ทรงมีสายพระเนตรกว้างไกลทรงเล็งเห็นคุณค่าของ ธรรมชาติที่มีความสําคัญต่อชีวิตมนุษย์ที่นับวันจะยิ่งเสื่อมโทรมลง อีกทั้งทรงตระหนักดีว่าสภาพแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติของประเทศที่กําลังถูกทําลายลงอย่างน่าเป็นห่วงทั้งทางตรงและ ทางอ้อม จึงได้ทรงพยายามที่จะให้ราษฎรมีความผูกพันในธรรมชาติและทรัพยากรต่างๆ เช่น พืช ป่าไม้ และ สัตว์ป่า

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมจึงเกิดขึ้นมากมาย อาทิ โครงการป่ารักนํ้า โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ โครงการพิทักษ์ป่าเพื่อรักษาชีวิต และการอนุรักษ์สัตว์นํ้า จึงเห็น ได้ว่าพระองค์ท่านทรงเป็นนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสําคัญยิ่งพระองค์หนึ่งที่ชาวโลกยกย่องและสดุดีพระเกียรติคุณ

20663899 822893814546188 598283458152647317 n

การศึกษา

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ทรงเห็นความสําคัญของการศึกษาเป็นอย่างมาก ทรงสนพระราชหฤทัยในการศึกษาหาความรู้ทรงพระราชดําริริเริ่มเรื่องต่างๆ อยู่ตลอดเวลา พระองค์ทรงศึกษาด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การอ่าน การเรียน และสนทนากับผู้รู้ การฟังและทอดพระเนตรสิ่งต่างๆ

พระองค์ทรงมีพระอุปการคุณเป็นล้นพ้นแก่การศึกษาของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการศึกษานอกระบบโรงเรียน ซึ่งพระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดโครงการต่างๆ เพื่อ สอนงานอาชีพและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

เมื่อจะโปรดเกล้าฯ ให้ดําเนินงานโครงการใด พระองค์จะทรง ศึกษาข้อมูลต่างๆ มีการวางแผนระยะสั้นและระยะยาว มีการทดลองโดยเริ่มจากกลุ่มเล็กๆ แล้วทรงประเมิน และทรงปรับปรุง ถ้าได้ผลจึงโปรดเกล้าฯให้ขยายออกไปให้กว้างขวาง ทรงคํานึงการบรรลุจุดประสงค์ของการศึกษาหลายๆ ด้าน ขณะเดียวกัน มีพระราชประสงค์จะให้ราษฎรมีความรู้ทั่วไปให้ตระหนักว่าตนเองมี ความสําคัญต่อสังคม รู้จักการอนุรักษ์ธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรมด้วย

376838 344531868949179 1477317949 n

สาธารณสุข

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ยังทรงเอาพระทัยใส่ในกิจการด้านสาธารณสุข โดยได้ทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกาสภากาชาดไทย และหากเสด็จฯ เยือนต่างประเทศ ก็มักจะทรงถือโอกาสเสด็จฯ ทอดพระเนตรกิจการกาชาดของประเทศนั้น ๆ เพื่อทรงนำมาปรับปรุงกิจการสภากาชาดไทยอยู่เสมอ

พระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจด้านสาธารณสุขนานัปการ อาทิ ทรงรับผู้ป่วยที่เป็นโรคร้ายแรงเป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์  มีพระราชดำริจัดตั้งโครงการแพทย์และสาธารณสุขต่างๆ  เช่น โครงการแพทย์หลวง โครงการหน่วยแพทย์พระราชทาน โครงการทันตกรรมพระราชทาน โครงการศัลยแพทย์อาสา โครงการศัลยแพทย์อาสา โครงการแพทย์หู คอ จมูก โครงการหมอหมู่บ้าน และโครงการแขนขาเทียมพระราชทานเคลื่อนที่

37107226 1015030441999190 3477661004123340800 n

ศิลปวัฒนธรรม

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ทรงส่งเสริมสนับสนุนปรับปรุง และให้การฝึกอบรมเกี่ยวกับศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน และการธํารงรักษา ฟื้นฟูพัฒนาสร้างสรรค์งานฝีมือประเภทต่างๆ อันเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่มีค่าของไทยไว้มิให้สูญหาย

โครงการตามพระราชดำริ ที่มีสาขาขยายกว้างขวางไปทั่วประเทศโครงการหนึ่งก็คือ โครงการส่งเสริมศิลปาชีพ ซึ่งในภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ก่อตั้ง เป็นรูปมูลนิธิพระราชทานนามว่า “มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษในพระบรมราชินูปถัมภ์” เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2519 ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อ เป็น มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในปี 2528 อันเป็นการส่งเสริมอาชีพและขณะเดียวกันยังอนุรักษ์และส่งเสริมงานศิลปะพื้นบ้านที่มีความงดงามหลายสาขา เช่น การปั้น การทอ และการจักสาน

การที่พระองค์ได้ทรงสนับสนุน และให้ความสนพระราชหฤทัยติดตามแนะนําอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา เป็นผลให้องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และ วัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก เห็นผลงานของพระองค์ จึงทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองโบโรพุธโธ (UNESCO Borobudur Gold Medal Award) แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2535

ที่มา: กระทรวงศึกษาธิการ  สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight