COVID-19

ราชวิถี-เอสซีจี จับมือผุด 4 นวัตกรรมโควิด-19 แบบด่วนๆ-มีประสิทธิภาพ

รพ.ราชวิถี จับมือเอสซีจี พัฒนา 4 นวัตกรรม แบบด่วนๆ เพิ่มประสิทธิภาพงานป้องกัน-รักษาโควิด-19 และปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ ลดเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 

S 83706071

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำให้มีประชาชน ที่เข้ามารับการตรวจรักษา ที่โรงพยาบาลเป็นจำนวนมาก มีความห่วงใยต่อสุขภาพของประชาชนที่จะต้องได้รับการตรวจรักษาอย่างถูกต้องตามมาตรการ และกระบวนการป้องกันการติดเชื้อ ตลอดจนตระหนักถึงความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล

ซึ่งอาจติดเชื้อจากการให้บริการ การตรวจ หรือการรักษาพยาบาล โดยโรงพยาบาลราชวิถี ถือเป็นหน่วยงานหลักของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในการรับดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 โดยโรงพยาบาลราชวิถี ได้พัฒนาร่วมกับเอสซีจี ทำให้สามารถสร้างระบบการดูแลผู้ป่วย “แยกโรคและเก็บกักเชื้อ” ได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เป็นประโยชน์ในการป้องกันการแพร่เชื้อไปยังบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วยรายอื่นๆ

S 83706055

ทางด้านนพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี  กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันยังคงมีผู้ป่วยรายใหม่หรือกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงมารับการตรวจที่คลินิกโรคระบบทางเดินหายใจ (ARI Clinic) ของโรงพยาบาล ประมาณ 100 – 150 รายต่อวัน ทีมแพทย์โรงพยาบาลราชวิถีร่วมกับเอสซีจี ได้คิดค้นนวัตกรรมร่วมกัน

สามารถตอบโจทย์การใช้งานได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย อาทิ

1.ห้องคัดกรอง ตรวจผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่ติดตั้งโดยใช้ระยะเวลา 2 วัน เป็นห้องที่แยกออกจากตัวอาคารของโรงพยาบาลด้วยระบบควบคุมแรงดัน และการหมุนเวียนของคุณภาพอากาศที่เหมาะสม

โดยทีมแพทย์จะอยู่ในห้องที่ไม่มีอากาศเสีย จากภายนอกเข้าไป อากาศภายในจึงบริสุทธิ์ ส่วนผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงติดเชื้อจะอยู่ในห้องที่มีระบบการป้องกันอากาศรั่วไหล ไม่ให้เชื้อไวรัสฟุ้งกระจายออกสู่ภายนอก อีกทั้งยังมีการใช้แสง UV เข้มข้นสูงฆ่าเชื้อโรคต่างๆ หลังการใช้งานห้องทุกครั้ง

 

2.นวัตกรรมชุดอุปกรณ์ป้องกันเชื้อแบบเคลื่อนที่ ได้แก่ ห้อง ICU แยกผู้ป่วยความดันลบ เป็นห้องที่แพทย์ และพยาบาลสามารถทำการรักษาผู้ป่วยหนักได้ทันที โดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วย หรืออุปกรณ์ช่วยชีวิตอื่นๆ ทำงานด้วยระบบความดันลบ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่ภายนอก

S 83706049

3.ห้องตรวจเชื้อความดันลบ เป็นห้องตรวจเคลื่อนที่ ที่ช่วยให้ทีมแพทย์ และพยาบาล สามารถสอดมือผ่านมือ เข้าไปทำหัตถการกับผู้ป่วยได้ โดยไม่ต้องสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง ซึ่งภายในห้องควบคุมแรงดันอากาศ ให้เป็นได้ทั้งลบหรือบวก

4.แคปซูลเคลื่อนย้ายความดันลบ ที่เป็นอุปกรณ์ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อระหว่างการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย และอุปกรณ์ครอบศีรษะคนไข้เพื่อป้องกันเชื้อสำหรับงาน ทันตกรรม ที่ออกแบบมาเพื่อลดการสัมผัสละอองน้ำที่ฟุ้งกระจายขณะที่ทีมแพทย์ปฏิบัติงานอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนแออัด หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการโรคระบบทางเดินหายใจ กินร้อน ช้อนส่วนตัว ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)

พร้อมทั้งสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันโรค หากสงสัยว่าตนเองติดเชื้อโรคโควิด-19 หรือไม่ สามารถทำแบบประเมินความเสี่ยงผ่านเว็บไซต์ http://covid19.rajavithi.go.th เพื่อลดการมาโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น และลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดได้อีกด้วย

Avatar photo