Opinions

ชวนคิดโลกหลัง ‘โควิด-19’ (ตอนที่ 1)

Avatar photo
3160

เมื่อได้ติดตามข่าวสาร และข้อคิดของหลายๆ ท่านในโลกอย่างต่อเนื่อง ผมรู้สึกว่าผู้สันทัดกรณีทั้งหลาย อาจเห็นต่างกันว่า โลกหลังโควิดจะหน้าตาเป็นอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นตรงกันคือ จะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมากจากโลกก่อนโควิด

gggg

ด้านการต่างประเทศ

  • ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องการแก้ไขปัญหาโควิด-19 จะถูกผลักห่างออกไป

เพราะต่างคนต่างมองว่า ปัญหาไม่เหมือนกัน และจะดูแลคนของตน ก่อนจะยื่นมือช่วยเหลือคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นประเทศมั่งมี หรือยากจน จนเกิดการแย่งหน้ากากอนามัย แย่งชิงเวชภัณฑ์ในสนามบินหลายแห่งของโลก

กรณีประเทศตะวันตกห้ามจำหน่ายเวชภัณฑ์สำคัญ เพราะจะต้องดูแลผู้ป่วยในประเทศก่อนก็เกิดขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ

  • สถาบันพหุภาคี (Multilateral Institutions) มีความอ่อนแอ และไม่พร้อมรับมือกับโรคระบาดระดับโลก

ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ตามมาในทุกประเทศทั้งรวย และจน องค์กรระหว่างประเทศเหล่านี้ ไม่สามารถช่วยกระชับความร่วมมือช่วยเหลือกันของสังคมระหว่างประเทศ

ผมนั่งคิดวิเคราะห์ในช่วง Work from Home ต่อมาอีกระยะแล้ว จึงชวนท่านคิดต่อ ถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นเพิ่มเติมครับ

เมื่อเทียบกับวิกฤติอื่นๆ ที่ผ่านมาในโลกนี้  สิ่งที่องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การอาหาร และการเกษตร (FAO) องค์การการค้าโลก (WTO) ธนาคารโลก (World Bank) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) รวมไปถึง องค์กรแม้ คือ สหประชาชาติ (UN) ทำ คือ ให้ข้อมูลแจ้งเตือน ขอความร่วมมือให้กำลังใจ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศที่เป็นรูปธรรม ในยามวิกฤติโรคระบาดที่ทุกประเทศต่างเอาตัวรอดกันก่อน

  • องค์กรระดับระดับภูมิภาคดูจะเป็นความหวังของผู้คนได้บ้าง

อาเซียนเพิ่งประชุมสุดยอดระดับผู้นำ และผู้นำอาเซียน +3 (จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น) ผ่านระบบประชุมทางไกล  (Video Conference) ไปเมื่อ14 เมษายนที่ผ่านมา โดยมีความพยายามในการตั้งกองทุนขึ้นมาช่วยกันในเรื่องโควิด  การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ประสบการณ์ข้อมูล (Big Data) การหารือเชิงนโยบาย การส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ มาตรการเยียวยา และกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิด ซึ่งเป็นคร้ังแรกที่ผู้นำอาเซียนได้หารือข้อตกลงกัน เพื่อกำหนดทิศทางความร่วมมือในภูมิภาค

asean

มองไปภูมิภาคอื่น เช่น องค์กรความร่วมมือของเอเชียใต้ (SAARC) จัดการประชุมไปเมื่อวันที่ 15 มีนาคม เพื่อตั้งกองทุนฉุกเฉินในการรับมือกับโรคระบาด สหภาพอัฟริกัน  (African Union) ก็มีประชุมระดับรัฐมนตรีไปเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ และประชุมร่วมกับ  FAO เมื่อวันที่ 16 เมษายน องค์กรรัฐอเมริกัน (OAS) ในทวีปอเมริกาก็มีการประชุมระดับสูงเมื่อวันที่ 3 เมษายน เพื่อเพิ่มความร่วมมือในการรับมือกับโควิด

ต้นแบบความร่วมมือระดับภูมิภาค เช่น สหภาพยุโรป  แม้ยังไม่เห็นความสามารถในการกระชับความร่วมมือในยามยากด้านมาตรการสาธารณสุขอย่างเข้มข้น และเพียงพอ  แต่ทางด้านเศรษฐกิจ ธนาคารกลางของอียู (ECB) ก็มีมาตรการทางการเงินออกมาช่วยด้านสภาพคล่อง และอียูมีการกำหนดวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ (QE) แม้จะถูกมองว่า ยังห่างไกลความเพียงพอที่จะประคองเศรษฐกิจขาลงทั้งในช่วงระบาด และหลังการระบาดได้ก็ตาม

ความร่วมมือระ ดับภูมิภาคต่างๆ นั้น แม้อาจถูกมองว่ายังเน้นการพูดมากกว่าการทำ ยังขาดความรวดเร็วทันสถานการณ์และยังขาดความเพียงพอที่จะรองรับวิกฤติครั้งนี้ และหลายองค์กรก็มีสมาชิกที่สะบักสะบอมจากโรคระบาด และวิกฤติเศรษฐกิจ จะร่วมมือกันได้แค่่ไหนเพียงใด แต่อย่างน้อยก็ดูจะมีความหวังในด้านการต่างประเทศมากกว่าองค์กรระดับโลก

ความเคลื่อนไหวในระดับภูมิภาคนี้ แสดงให้เห็นถึงความพยายามขององค์กรระดับภูมิภาค ที่จะรับมือกับปัญหาโรคระบาด และเศรษฐกิจขาลง แม้อาจจะช้าไป และอาจยังไม่เพียงพอ แต่แนวโน้มนี้ชี้ถึงอนาคตของโลกาภิวัฒน์ว่า คงเป็นโลกาภิวัฒน์ที่เป็นเสี่ยงเสี้ยว (Fragmented Globalization) คือ เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศของโลก ที่แบ่งเป็นส่วนๆ แบ่งเป็นรายกลุ่มประเทศเป็นแต่ละเรื่องๆ ไป คงไม่ใช่ความร่วมมือช่วยเหลือระดับโลก แต่จะมาจากแต่ละภมูิภาคพยายามร่วมมือกกัน หรือบางประเทศ เช่นจีน ช่วยบางประเทศข้ามภูมิภาคเป็นกรณีๆ ไป โลกเราจะเดินไปทางนี้หรือเปล่า

การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเป็นตัวเร่งความร่วมมือระดับภูมิภาคในด้านสาธารณสุข และสุขภาพ และจะมาแทนความร่วมมือระดับโลกในด้านดังกล่าวจริงหรือไม่ องค์กรภูมิภาคจะดึงความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่ถูกผลักห่างออกไป เพราะสถานการณ์โควิด ให้กลับมาได้จริงหรือไม่ หรือในที่สุด อำนาจอธิปไตยของแต่ละรัฐ ที่เรียกร้องกดดันให้เจ้าของอำนาจอธิปไตย จะทำให้แต่ละประเทศมองไม่พ้นพรมแดนของตน ช่วยเหลือแต่คนชาติของตน ในขณะที่เชื้อโรคไม่รู้จักพรมแดน ไม่เลือกเชื้อชาติและสัญชาติหรือเปล่า

GettyImages 1191475709

  • การแข่งขันกันเป็นผู้นำโลกทางเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีจะต่อเนื่องจากเดิมหรือไม่

สหรัฐเองก็ประสบปัญหาโควิด มีคนติดเชื้อ และเสียชีวิตสูงระดับต้นๆ ของโลก ใช้มาตรการทั้งการเงิน และการคลังอย่างเต็มที่ ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ประเทศหลักในอียูเอง ก็บอบช้ำจากปัญหาโควิด และเศรษฐกิจ

จีนซึ่งเป็นพี่ใหญ่พึ่งได้มาตลอด ก็ลดความช่วยประเทศต่างๆ ลงไป เพราะการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ผ่านมา ต่อเนื่องด้วยการทุ่มงบประมาณในการแก้ปัญหาโควิด จนหนี้ภาครัฐ และเอกชนรวมกัน เพิ่มขึ้นถึง 300% ของ GDP จะทำให้บทบาทการนำโลกทางเศรษฐกิจลดลงหรือไม่ ส่วนรัสเซียก็ประสบปัญหาเช่นกัน แม้จะมีระดับไม่หนักหนานัก และอาเซียน 10 ประเทศ คงจะอ่อนเปลี้ยไปจากปัญหาโควิด ที่ไม่ทราบว่า เมื่อไหร่จะยืนทรงตัวขึ้นมาได้

การเป็นผู้นำโลกจะเปลี่ยนไปหรือไม่ หรือจะไม่แข่งขันกันด้านทหาร ด้านการค้า หรือด้านเทคโนโลยี อย่างที่เป็นมา แต่จะเป็นการมีบทบาทการเป็นผู้นำด้านอาหารปลอดภัย ผู้นำด้านสาธารณสุข ยา เวชภัณฑ์ เทคโนโลยีทางการแพทย์

สิ่งเหล่านี้หรือเปล่า ที่ทุกประเทศโหยหา และวิ่งเข้าหาประเทศที่จะเป็นผู้นำเรื่องเหล่านี้ได้ จะเป็นเกมใหม่ของโลกหรือไม่ แต่ละประเทศมหาอำนาย จะต้องทุ่มเทงบประมาณไปที่ใด เพื่อให้มีบทบาทนำในเรื่องดังกล่าว แล้วประเทศไทยเราจะอยู่ตรงไหน ในสมการใหม่นี้

ดังนั้น โลกหลังโควิดจะเป็นโลกของ “พหุอภิรัฐพิภพ” (Multi-PolarityWorld) หรือเปล่า คือเป็นโลกที่มีผู้นำหลายๆ ขั้ว ไม่ใช่ประเทศเดียว หรือ 2 มหาอำนาจแข่งกัน หากแต่เป็นผู้นำกันคนละเรื่องหรือไม่ โดยไม่มีใครมีบทบาทนำใครในทุกเรื่อง สหประชาชาติก็มีบทบาทในเรื่องที่สำคัญต่อชีวิตมนุษย์น้อยลงไปเรื่อยๆ หรือเปล่า รวมถึง การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ในปลายปีนี้ จะได้ผู้นำคนเดิมหรือไม่ ปัจจัยเหล่านี้ ก็จะทำให้การต่างประเทศยุคหลังโควิดน่าคิด และท้าทายทุกรัฐบาลในโลกเป็นอย่างดี

HON 0331 1

บทความโดย ศ.พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย