Digital Economy

ม.44 ดึง ‘สุรเกียรติ์’ นั่งนายกสภามหาวิทยาลัย CMKL ผลิตซูเปอร์รีเสิร์ช

สุชัชวีร์
ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

มาตรา 44 ส่งผล ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศักยภาพสูงเพื่อรองรับการเติบโตของนโยบายประเทศไทย 4.0 กับ “CMKL University” หรือมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอลภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังและมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้ เมลลอน จากสหรัฐอเมริกา โดยใช้หลักเกณฑ์ รูปแบบ วิธีการและเงื่อนไขในการดำเนินการจัดการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศและดำเนินการตามขั้นตอนของหลักเกณฑ์และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยมี “ศาสตราจารย์พิเศษสุรเกียรติ์ เสถียรไทย” นั่งแท่นนายกสภามหาวิทยาลัย

รุปหน้าบ้าน2013
ศาสตราจารย์พิเศษ สุรเกียรติ์ เสถียรไทย

โดยความเคลื่อนไหวล่าสุดของปีการศึกษาแรกนั้น ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เปิดเผยกับทีมงาน The Bangkok Insight ว่า นักศึกษารุ่นแรกได้เดินทางไปยังมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้ เมลลอน แล้วเป็นที่เรียบร้อย และจะศึกษา ณ สหรัฐอเมริกาเป็นเวลาหนึ่งปี จึงจะกลับมาทำวิจัยที่ประเทศไทย

สำหรับที่มาของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ และเป็นแห่งเดียวในภูมิภาคเอเชียที่ผู้เรียนจะได้รับปริญญาของคาร์เนกี้ เมลลอนนั้น ดร.สุชัชวีร์เล่าว่า เป็นความตั้งใจที่จะพัฒนามหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สู้กับประเทศต่าง ๆ รอบตัวให้ได้

“ตั้งแต่เมื่อสามปีที่แล้ว เราอยากจะสู้กับสิงคโปร์มาก เคล็ดลับของเขาคือพยายามเชิญคนเก่ง ๆ มาอยู่ที่สิงคโปร์ เราก็คิดว่าถ้าจะสู้กับสิงคโปร์ให้ได้ เราต้องคบกับคนที่เก่งกว่าที่มีในสิงคโปร์ นั่นจึงเป็นที่มาของการจับมือกับคาร์เนกี้ เมลลอน ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกของโลกที่พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ ตั้งแต่ปียุค’60”

CMKL University
ความร่วมมือก่อตั้ง CMKL University ระหว่างสจล. และคาร์เนกี้ เมลลอน

สำหรับ CMKL University นั้นถูกจัดเป็นมหาวิทยาลัยศักยภาพสูง ที่มีรูปแบบการเรียนคือเรียนฟรี เนื่องจากมีผู้ให้การสนับสนุนเป็นภาคธุรกิจยักษ์ใหญ่อย่างเบทาโกร และไทยเบฟ รองรับการผลิตบุคลากรระดับปริญญาโท และปริญญาเอก โดยทั้งหมดจะต้องทำซูเปอร์รีเสิร์ช ร่วมกับอาจารย์จากคาร์เนกี้ เมลลอนที่จะบินมาร่วมสอนที่ประเทศไทยด้วย และไม่มีผลผูกพันว่าต้องใช้ทุนใด ๆ ทั้งสิ้น

“เราหวังให้คนเก่ง ๆ ในไทยได้ทำงานวิจัยระดับโลก กับบุคลากรระดับโลก แล้วเป็นงานวิจัยที่ทำเพื่อประเทศไทย หรืออีกนัยหนึ่งอาจกล่าวได้ว่า ซูเปอร์รีเสิร์ชคืองานวิจัยที่ต้องตอบโจทย์ประเทศไทยจริง ๆ มีการนำบิ๊กดาต้า เอไอ เข้ามาร่วมด้วย อย่างเรื่องการสมาร์ทฟาร์มมิ่ง สมาร์ทปศุสัตว์ ก็ต้องลงลึก และวิจัยเพื่ออุตสาหกรรมนี้อย่างแท้จริง สามารถทำฟาร์มขนาดใหญ่ หรือเมกะฟาร์มได้ เอาเทคโนโลยีเข้ามาตอบโจทย์”

“ตอนไปคุยกับเขานั้นยากมาก เพราะสิงคโปร์ และมาเลเซียก็ไปคุยกับเขาเหมือนกัน แต่เขาพูดมาคำหนึ่งว่า เด็กไทยที่มาเรียนกับเรา (คาร์เนกี้) ไม่เคยทำให้เราผิดหวัง เด็กไทยตั้งใจเรียนหนังสือ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีน้ำใจช่วยงานอาจารย์ และนั่นคือสิ่งที่ทำให้เขาตัดสินใจมาจับมือกับประเทศไทย”

ทั้งนี้ รูปแบบของการเรียนนั้น หากเป็นระดับปริญญาโท จะต้องไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา 1 ปี ก่อนจะกลับมาทำงานวิจัยที่ประเทศไทยอีก 1 ปี ส่วนถ้าเป็นปริญญาเอก จะไปเรียน 2 – 2.5 ปี และกลับมาทำวิจัยอีก 2 – 3 ปีจึงจะจบหลักสูตร

“การสร้างคนระดับนี้ถือว่าเป็นการลงทุนที่สูงมาก และถึงแม้ว่าระยะแรกจะยังไม่สามารถรับเด็กเยอะ ๆ ได้ แต่มันก็เป็นทางเลือกหนึ่งให้มองเห็นว่า มหาวิทยาลัยไทยไม่ยอมแพ้ เราต้องการปรับตัว ต้องการเปลี่ยนแปลงในการสร้างคน” ดร.สุชัชวีร์กล่าวปิดท้าย

สำหรับมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอลนั้นเบื้องต้นจะเปิดสอน 3 หลักสูตรได้แก่ ปริญญาเอก ด้านวิศวกรรมไฟฟ้า และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์, ปริญญาโท ด้านวิศวกรรมไฟฟ้า และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และ ปริญญาโท ด้านวิศวกรรมซอฟแวร์

โดยล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธาน คพอต. ได้มีมติแต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล ดังนี้

  1. ศาสตราจารย์พิเศษ สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภามหาวิทยาลัย
  2. ศาสตราจารย์สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อุปนายกสภามหาวิทยาลัย
  3. นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการสภามหาวิทยาลัย
  4. นายวนัส แต้ไพสิฐพงษ์ กรรมการสภามหาวิทยาลัย
  5. ศาสตราจารย์เดวิด เคนเนดี กรรมการสภามหาวิทยาลัย
  6. ศาสตราจารย์โจเซ มัวรา กรรมการสภามหาวิทยาลัย
  7. นายแอลเลน กูดแมน กรรมการสภามหาวิทยาลัย
  8. นายอัลเฟรด กูเซนบาวเออร์ กรรมการสภามหาวิทยาลัย
  9. นายสราวุธ เบญจกุล กรรมการสภามหาวิทยาลัย
  10. นายสมชัย สัจจพงษ์ กรรมการสภามหาวิทยาลัย
  11. นายจรูญเดช เจนจรัสสกุล กรรมการสภามหาวิทยาลัย
  12. ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุพันธุ์ ตั้งจิตกุศลมั่น กรรมการสภามหาวิทยาลัยและเลขานุการ

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight