Business

นายกประชุมอีอีซีเผยครึ่งปีแรกการลงทุนเพิ่ม 122%

นายก

ช่วงบ่ายวานนี้(10 ส.ค.) ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) หรือคณะกรรมการอีอีซี ครั้งที่ 2/2561 ร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง สรุปสาระสำคัญของผลการประชุมได้ดังนี้

1.ความร่วมมือระหว่างประเทศ มีความก้าวหน้าดึง Pearson ลงพื้นที่ สร้างหลักสูตรการศึกษาพัฒนาบุคคลากรในอีอีซี โดยในระยะ 3 เดือนที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้เดินทาง Roadshow ในหลายประเทศ เพื่อดึงดูดนักลงทุนสำคัญและขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างประเทศ

อาทิ ร่วมคณะนายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ วันที่ 20 – 26 มิถุนายน 2561 ในการนี้ ได้มีการหารือกับบริษัท Pearson ด้านการพัฒนาบุคลากร เพื่อสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรในการรองรับการพัฒนา 10 อุตสาหกรรม ในพื้นที่อีอีซี

โดยเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2561 สกพอ. ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ Framework for Human Resources Development Collaboration ซึ่งเป็นการสานต่อความร่วมมือภายหลังการเยือนสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี โดย Pearson มีแผนการดำเนินงานชัดเจนที่จะนำแนวทางการพัฒนาแรงงานด้วยระบบ Business and Technician Education Council (BTEC) ซึ่งเป็นหลักสูตรอาชีวะศึกษาที่มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับของบริษัทชั้นนำทั่วโลก เข้ามาปรับใช้ให้สอดคล้องตรงกับความต้องการแรงงานของภาคอุตสาหกรรมในอีอีซี

ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าความร่วมมือกับ Pearson โดยวันที่ 10 สิงหาคม ทางคณะ Pearson ลงพื้นที่เพื่อพบปะสถาบันอาชีวะศึกษาในพื้นที่ EEC แล้ว

ทั้งนี้ การดำเนินการในด้านการศึกษา สกพอ. มีการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับ 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อขับเคลื่อนสัตหีบโมเดลพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ EEC

2.การลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ในครึ่งปีแรก 2561 เพิ่มขึ้น 122% โดยการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกครึ่งปีแรก (มกราคม-มิถุนายน) ปี 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 142 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนรวม 183,230 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 122% ในช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งที่ประชุมรับทราบ ประกาศสิทธิประโยชน์อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ 11 คืออุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI)ด้วย

3.การดำเนินงานโครงการโครงสร้างพื้นฐาน มีความก้าวหน้าและเป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีบริษัทเอกชนให้ความสนใจถึง 31 ราย จาก 7 ประเทศ ซึ่งการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ในระยะที่ 1 (ช่วงท่าอากาศยานดอนเมืองถึงท่าอากาศยานอู่ตะเภา) มีบริษัทเอกชนสนใจเข้าซื้อเอกสารการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ทั้งสิ้น 31 ราย จาก 7 ประเทศ และมีขั้นตอนการดำเนินงาน ดังนี้

  • ตอบคำถามนักลงทุน วันที่ 26 กรกฎาคม 2561
  • การจัดประชุมชี้แจงเอกสารคัดเลือกครั้งที่ 2 วันที่ 24 กันยายน 2561
  • เปิดรับซองข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2561
  • ประกาศผลผู้ยื่นข้อเสนอ เดือนมกราคม 2562
  • ลงนามสัญญาร่วมลงทุน เดือนกุมภาพันธ์ 2562
  • เปิดให้บริการโครงการฯ ปลายปี 2566

นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบแผนการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 2 (ส่วนต่อขยายท่าอากาศยานอู่ตะเภาผ่านระยอง จันทบุรี และตราด) โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการเตรียมการศึกษาและออกแบบโครงการฯ

สำหรับโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงท่าอากาศยานอู่ตะเภา ระยะที่ 1 พร้อมประกาศเชิญชวนให้เอกชนร่วมลงทุนภายในเดือนกันยายน 2561 โดยที่ประชุมเห็นชอบกรอบการพัฒนาโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงท่าอากาศยานอู่ตะเภา ระยะที่ 1 พร้อมทั้งหลักเกณฑ์วิธีการ เงื่อนไขและกระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน โดยมีขั้นตอนการดำเนินงาน ดังนี้

  • ลงนาม MOU เช่าที่ดิน เดือนสิงหาคม 2561
  • ประกาศเชิญชวนให้เอกชนร่วมลงทุน เดือนกันยายน 2561
  • ประกาศผลผู้ยื่นข้อเสนอ เดือนพฤศจิกายน 2561
  • ลงนามสัญญาร่วมลงทุน เดือนธันวาคม2561
  • เปิดให้บริการโครงการฯ ปี 2564

ส่วนโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 พัฒนาโครงการเพิ่มประสิทธิภาพรองรับการขยายตัวปริมาณสินค้า ซึ่งที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินโครงการฯ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาและวิเคราะห์โครงการฯโดยมีขั้นตอนการดำเนินงาน ดังนี้

  • เปิดรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชนครั้งที่ 4 เดือนสิงหาคม2561
  • ประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน เดือนกันยายน 2561
  • กำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอ เดือนมกราคม 2562
  • คัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน เดือนกุมภาพันธ์ 2562

ส่วนโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 เตรียมเปิดสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน ครั้งที่ 3 ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินโครงการฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการศึกษารูปแบบการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนโดยมีขั้นตอนการดำเนินงาน ดังนี้

  • เปิดรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชนครั้งที่ 3 เดือนสิงหาคม 2561
  • ประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน เดือนตุลาคม2561
  • กำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอ เดือนธันวาคม2561
  • คัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน เดือนกุมภาพันธ์ 2562

โครงการพัฒนาเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand : EECd) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการ PPP EECd โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการ EECd

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight