Business

‘อริยะ’ กับภารกิจที่ไม่ถึงฝั่งฝัน ‘ล้างขาดทุน’ ช่อง 3 สุดฝืนคลื่นดิสรัปชั่น

เพิ่งประกาศไปหมาดๆ เมื่อต้นปี 2563 ที่ผ่านมาว่า ‘ปีนี้ช่อง 3 จะกลับมามีกำไร’ ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญของ ‘อริยะ พนมยงค์’ เมื่อตัดสินใจโบกมือลา ‘ไลน์ ประเทศไทย’ เข้ามากุมบังเหียน ช่อง 3 ในตำแหน่ง กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท บีอีซีเวิลด์ จำกัด (มหาชน)  เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา

จนกระทั่งล่าสุด ในวันนี้ที่ ‘ครบขวบปีเต็ม‘ ของการเดินหน้าภารกิจพลิกฟื้นช่อง 3 อริยะ พนมยงค์ ได้ตัดสินใจลาออกจากช่อง 3 เรียบร้อยแล้ว จึงกล่าวได้ว่า ‘ภารกิจครั้งนี้ ไม่ถึงฝั่งฝัน’

cover 014

แม้ว่าตลอด 1 ปีที่ผ่านมาของ อริยะ กับการบริหารช่อง 3 ภายใต้ความคาดหวังของบอร์ดบีอีซี อริยะ เริ่มจากการปรับองคาพยพช่อง 3 ครั้งใหญ่ ด้วยการคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล 2 ช่อง ได้แก่ ช่อง 13 (3 Family) และช่อง 28 (3 SD) ในเดือน ต.ค. 2562 พร้อมกับการเลิกจ้างพนักงานฝ่ายข่าวและอื่นๆ อีกเกือบ 200 คน ตามด้วยในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่เปิดโครงการสมัครใจลาออกเป็นครั้งที่ 3

แม้จะมีการผ่าตัดใหญ่ไปหลายครั้ง จนเขย่าตีกมาลีนนท์ สะเทือนไปทั้งตึก แต่ดูเหมือนว่า สถานการณ์ของช่อง 3 ยังไม่มีทีท่าดีขึ้น เห็นได้จากผลประกอบการในปี 2561 ที่มีปี 2561 รายได้ 10,504 ล้านบาท ประสบภาวะขาดทุน 330 ล้านบาท นำมาซึ่งการหาแม่ทัพใหม่อย่าง อริยะ เข้ามาบริหารเพื่อพลิกฟื้นธุรกิจ โดยช่อง 3 มองว่าเป็น อริยะ เป็นคนโลกใหม่ที่พกพาประสบการณ์ทำงานบนโลกดิจิทัล อย่างไลน์ ทำให้คาดหวังว่าจะนำประสบการณ์บนสื่อใหม่ มาปรับใช้กับสื่อเก่าให้สามารถอยู่รอดบนสมรภูมิทีวีดิจิทัลต่อไปได้

แต่ก็ต้องยอมรับว่า คลื่นดิสรัปชั่นที่ถาโถมอย่างรุนแรง จนเกินต้านทาน ประกอบกับการปรับเปลี่ยนระบบขององค์กรที่เคยชินกับสื่อโลกเก่าอย่างโทรทัศน์ ที่แม้จะปรับเป็นทีวีดิจิทัล แต่การเปลี่ยนระบบการทำงานและบุคลากรที่เคยชินกับวิธีการแบบเดิม ถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแม้แต่ อริยะ เอง ยังเคยกล่าวว่า การเปลี่ยนความคิดใหม่ ที่ต้องเริ่มจากผู้นำองค์กร ยังต้องใช้เวลาพอสมควร

CH3 1

 

นอกจากการผ่าตัดองค์กร ทั้งโครงสร้างและบุคลากรแล้ว อริยะ ยังเน้นปรับดีเอ็นเอของช่อง 3 ใหม่ จากเดิมที่เป็นเพียง ผู้ผลิตและเผยแพร่คอนเทนต์ ปรับสู่การเป็นบริษัทด้านการตลาด ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อพัฒนาบริการใหม่ๆ บนโลกออนไลน์ โดยใช้ดาต้าที่มีอยู่ในมือมาต่อยอดทำการตลาดให้แบรนด์ ไปจนถึงการจัดจำหน่ายและจัดส่ง หรือเรียกได้ว่า ครบวงจรสำหรับออนไลน์ มาร์เก็ตติ้งที่จะต่อยอดสู่อีคอมเมิร์ซในที่สุด

ล่าสุด อริยะ ได้วางแนวทางธุรกิจของช่อง 3 ที่จะโกอินเตอร์และโกออนไลน์ เริ่มจากการเปิดตัว “CH 3+” หรือช่อง 3 พลัส ที่ปรับปรุงมาจาก “เมลโล” โดยจะรวมคอนเทนต์ทุกอย่างของช่อง 3 ไว้ที่เดียว ทั้งการชมย้อนหลัง หรือชมรายการสด ตลอดจนการเชื่อมต่อกับจอทีวี ผ่านแอปพลิเคชั่น เพื่อรองรับเทรนด์สมาร์ททีวี พร้อมทั้งให้สิทธิประโยชน์เพื่อทำซีอาร์เอ็ม และเก็บฐานข้อมูลลูกค้าเพื่อนำไปต่อยอดการทำตลาดได้อีกด้วย

อีกธุรกิจที่อยู่ระหว่างการเร่งเครื่องดำเนินการคือ การรุกสู่ธุรกิจโฮมช้อปปิ้ง ทีวีช้อปปิ้ง ซึ่งเป็นการต่อยอดจากช่องทีวี และช่องทางสื่อออนไลน์ที่มีอยู่ในมือ นำไปสู่การทำตลาดตรงถึงผู้บริโภค โดยมีลูกค้าเป็นเจ้าของแบรนด์สินค้าต่างๆ ที่ต้องการขายสินค้าเข้าถึงผู้บริโภคผ่านสื่อในเครือช่อง 3

นอกจากนี้ อีกยุทธศาสตร์สำคัญที่ อริยะ วางเป้าหมายจะเป็นอีกเรือธงสร้างรายได้ คือ การขยายธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศเพื่อเพิ่มรายได้ เช่น การร่วมมือกับเทนเซนต์ ขายลิขสิทธิ์ละครให้เผยแพร่บนแพลตฟอร์ม และต่อจากนี้จะเน้นขยายคอนเทนต์จีนและกลุ่มอินโดไชน่า

มาลีนนท์

จากแผนงานที่อริยะขับเคลื่อนมาตลอด 1 ปีนี้ เขาหวังว่าจะตอบโจทย์ที่วางเป้าหมายพลิกทำกำไรในปี 2563 นี้ รวมทั้งยังคาดว่าในปี 2566 สัดส่วนรายได้ของสื่อทีวีจะอยู่ที่ 65% และอีก 35% เป็นรายได่จากธุรกิจอื่น โดยเฉพาะธุรกิจใหม่ๆ บนโลกออนไลน์

แต่แล้ว เมื่อผลประกอบการปี 2562 ที่ช่อง 3 ยังมีรายได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยอยู่ที่ 8,779 ล้านบาท และขาดทุนเพิ่มเป็น 397 ล้านบาท สะท้อนได้ส่วนหนึ่งว่า แม้จะไม่ถึงกับ “ล้มเหลว” แต่เป้าหมายที่ อริยะ วางไว้ ก็ดูจะยากเกินเอื้อมถึง

ที่สำคัญคือ การฝ่ากระแสดิสรัปชั่นที่เกิดขึ้นกับทีวีดิจิทัลมาแล้ว 2 ระลอก โดยระลอกแรกคือ จากการเกิดของทีวีดิจิทัล ที่มีการประมูลทีวีดิจิทัลเป็น 24 ช่อง ทำให้ก้อนเค้กที่ไม่ได้ใหญ่ขึ้น แต่ถูกซอยมากขึ้น จนส่วนแบ่งของแต่ละช่องลดลง ตามด้วย ระลอกที่สองคือ การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ที่ในปี 2557 อยู่ที่ 27 ล้านคน แต่ในปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็นถึง 40 ล้านคนและเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าตัวภายใน 4 ปี

สำหรับระลอกที่สามที่จะเข้ามาดิสรัปชั่นธุรกิจทีวี คือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเล่นอินเทอร์เน็ตจากมือถือไปสู่หน้าจอที่ใหญ่กว่า จากการพัฒนาเทคโนโลยีของทีวี ไม่ว่าจะเป็น สมาร์ททีวี คอนเน็กทีวี เซ็ตอัพบ็อกซ์ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้วงการทีวีเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้ง นั่นคือ การพัฒนาตัวเองให้สามารถเชื่อมต่อกับมือถือได้ ทั้งในแง่ของระบบ และคอนเทนต์ เพื่อให้สามารถตอบโจทย์พฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป

อริยะ

คลื่นดิสรัปชั่นลูกที่สามนี้ ถือเป็นโจทย์หิน ที่อริยะมองว่า ต้องปรับให้เร็วและทัน เพราะการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีนับวันจะเร็วมากขึ้นทุกวัน และส่งผลกระทบให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนเร็วมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งหากวิเคราะห์กันตรงๆ แล้ว องค์กรที่อยู่มานานอย่างช่อง 3 อาจทำได้ยาก โดยพิสูจน์จากรอบ 1 ปีของอริยะกับช่อง 3

ดังนั้น การตัดสินใจลาออกจากช่อง 3 ครั้งนี้ ของ อริยะ พนมยงค์ ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็น กูรูบนโลกดิจิทัลคนหนึ่ง จึงอาจไม่ใช่เพราะอริยะไม่สามารถพลิกฟื้นธุรกิจของช่อง 3 ได้ตามที่หวังเพียงอย่างเดียว เพราะในอีกแง่มุมหนึ่ง ด้วยสภาพแวดล้อมขององค์กรช่อง 3 เอง ก็อาจไม่ตอบโจทย์ของ อริยะ ด้วยเช่นกัน

Avatar photo