Business

BEM เชียร์รัฐบาลแก้ปัญหา covid-19 ถูกทาง มั่นใจผู้ใช้ทางด่วน-รถไฟฟ้ากลับมาเร็ว!

จากเหตุการณ์ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 จนรัฐบาลได้ออกมาตราการควบคุบระดับสูงสุด และได้ประกาศใช้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้ประชาชนหยุดการเดินทางและอยู่บ้าน เพื่อควบคุมการระบาดและแก้ปัญหาให้ทันท่วงที ส่งผลให้การเดินทางและการบริการขนส่งสาธารณะต่างๆ แทบจะหยุดไปโดยปริยาย ทั้งรถเมล์ รถไฟ รถไฟฟ้า รถขนส่ง สายการบิน ทางด่วน  ทุกฝ่ายก็ให้ความร่วมมือกันเต็มที่ แม้ว่าจะส่งผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบการขนส่งอย่างมาก

นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล กรรมการบริหาร บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าการระบาดของโรค covid-19 ครั้งนี้ ส่งผลกระทบร้ายแรงและเร็วมาก กระทบกันทุกคน ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น ต้องถือว่าประเทศไทยตั้งหลักได้ดี รัฐบาลควบคุมเหตุการณ์และแก้ปัญหาได้ดีมากแล้ว แม้ว่าในช่วงแรกอาจช้าไปบ้าง หรือบางอย่างอาจไม่ได้ดังใจ จุดดีของคนไทยคือ ความสามัคคี มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน พอรัฐบาลประกาศเดินหน้าควบคุม แก้ปัญหา เยียวยาให้ทุกภาคส่วน ประชาชนและภาคธุรกิจก็ออกมาช่วยกัน คนรวยกว่าก็ช่วยคนจนกว่า คนที่ไหวก็บริจาคช่วยสนับสนุนทางการแพทย์ และช่วยผู้ได้รับผลกระทบอยู่ตลอด ซึ่งเรื่องแบบนี้ชาติอื่นสู้คนไทยไม่ได้เลย

พงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล

 

ในส่วนของ BEM เราให้ความร่วมมือกับภาครัฐ บริจาคสนับสนุนในด้านต่างๆ และดูแลประชาชนผู้ใช้บริการเต็มที่ เรานำมาตราการสุขอนามัยต่าง การควบคุมตรวจสอบมาใช้อย่างเข้มข้น เช่นที่รถไฟฟ้า ต้องเพิ่มการทำความสะอาด มีการตรวจวัดไข้ผู้ใช้บริการ ขอให้สวมหน้ากากอนามัย พยายามลดการใช้เงินสดให้ใช้บัตรเติมเงินแทน

ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นกับปริมาณผู้ใช้รถไฟฟ้า-ทางด่วน ต้องยอมรับว่า ลดลงมาก ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ต่อเนื่องมาช่วงเดือนมีนาคม -ปัจจุบัน จะหนักสุด คนใช้รถไฟฟ้าลดไปกว่า 75% ส่วนทางด่วนประมาณ 55%  ต้องยอมรับว่ากระทบหนักรายได้หายไปทันที แต่ค่าใช้จ่ายไม่ได้ลด

ทางด่วน 2

เราไม่มีการเลิกจ้าง หรือลดคน มีแต่ดูแลให้พนักงานของเราแข็งแรงมีกำลังใจช่วยกัน พนักงานการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ที่เราจ้างก็จ่ายเงินเดือนตามปกติไม่ได้เลิกจ้าง ดูแลเต็มที่ ผู้รับเหมา-supplier ของเราใครได้รับผลกระทบเราก็ช่วย ทั้งหมด เพื่อให้มั่นใจว่าคุณภาพการให้บริการของเราต้องดี

“ส่วนตัวผมเชื่อว่าการที่รัฐจำกัดควบคุมการเดินทางเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แม้จะนานกว่านี้อีกสักนิดก็ต้องยอม รัฐบาลเดินมาถูกทางแล้ว ในส่วนของ BEM รายได้ กำไรปีนี้ลดลงแน่นอน ต้องประเมินสถานการณ์อีกทีช่วง 1-2 เดือนนี้ แต่มั่นใจพอปัญหาจบ ผู้ใช้รถไฟฟ้า-ทางด่วน ก็จะกลับมาเป็นปกติแทบจะทันที เพราะประชาชนต้องกลับมาเดินทาง”

bem1
เฟซบุ๊ก :mrt bangkok metro

นายพงษ์สฤษดิ์ กล่าวเสริมว่าส่วนที่ BEM ขอให้รัฐเยียวยาผลกระทบที่เกิดจากการระบาดของโรคไวรัส covid-19 ทำให้ผู้ใช้รถไฟฟ้า-ทางด่วนลดลง สถานการณ์แบบนี้ไม่มีใครอยากให้เกิด เป็นเหตุสุดวิสัยที่กระทบกับทุกคน ทั้งประชาชน ภาครัฐ ภาคธุรกิจ เดือดร้อนหมด รัฐบาลเดินมาถูกแล้ว ต้องประกาศให้ชัดว่าพร้อมเยียวยา ช่วยเหลือให้เต็มที่และเร็วให้ทั่วถึง อย่าเลือกปฎิบัติ ตรงนี้ขอเป็นกำลังใจให้รัฐบาล ถ้ารัฐไม่ช่วยใครจะช่วย ถ้ารัฐไม่ช่วยก็เท่ากับเอาเปรียบประชาชน และภาคธุรกิจที่เขาเสียภาษีให้ประเทศ ต่อไปภาคเอกชนก็ไม่มั่นใจไม่กล้าลงทุนกับรัฐ ต่างชาติก็หนีหมด

ส่วน BEM ต้องยอมรับว่ากระทบหนักจริง เราก็จำเป็นต้องแจ้งให้หน่วยงานรัฐคู่สัญญาทราบตามหน้าที่ตามสัญญา ไม่ใช่จ้องจะไปขอชดเชยทันทีโดยไม่มีเหตุผล อะไรที่เรารับได้ ช่วยได้ เราก็พร้อมช่วยเต็มที่ แต่ที่เหลือถ้ามันเกินกำลัง รัฐก็ต้องช่วยในฐานะผู้ดูแล มานั่งหารือช่วยกัน มีวิธีเยอะแยะมากมาย

ส่วนกรณีที่มีข่าวว่า กทพ. ได้มีหนังสือปฎิเสธการเยียวยาให้ BEM จากผลกระทบที่ผู้ใช้ทางด่วนลดลง แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่าเรื่องนี้ ได้มีการตำหนิกทพ. ไปแล้วไม่ควรทำแบบนี้ รัฐบาลรวมทั้งกระทรวงคมนาคม ทั้งระดับ รมว. ปลัด ต่างให้ข่าวว่ารัฐพร้อมดูแล เยียวยาทุกภาคส่วนเพียงแต่วิธีการก็ต้องมาดูให้เหมาะสมเพราะเรื่องนี้เป็นเหตุสุดวิสัย แต่กทพ.กลับตอบแบบนี้ สวนทางนโยบายรัฐ ดิสเครดิตรัฐบาล เรื่องนี้ผู้ใหญ่รู้อยู่แล้วว่า เอกชนเขาก็ต้องขอใช้สิทธิตามสัญญา เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่มีปัญหาอะไร สุดท้ายก็มาหารือกัน

ข่าวที่ออกไปเกิดจากปัญหาในกทพ. ที่มีมานาน กลัวว่าถ้ามีการเยียวยาเอกชน รายได้ของกทพ.จะลดลง สวัสดิการ Bonus จะลดลง ไม่ได้คิดถึงความถูกต้องเหมาะสมเลย คิดถึงแต่ประโยชน์ตัวเอง ที่จริงไม่พูดอะไรจะดีกว่า ปัจจุบันกทพ. มีรายได้เยอะมาก ให้เงินเดือนสวัสดิการพนักงานเยอะมาก รัฐกำลังหาวิธีปรับลดลง และนำเงินส่งรัฐให้มากขึ้น ไม่ให้ใช้ฟุ่มเฟือยเป็นปัญหาระยะยาวของประเทศ

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight