COVID-19

โควิด-19 ทำคนไทย ‘เครียด’ เพิ่ม ดึงเศรษฐีช่วย พ่นพิษคะแนนนิยมรัฐบาลลดลง

ซูเปอร์โพล เผยคนไทยเครียดเพิ่มจากไวรัสโควิด-19 เหตุรายได้ลดลงแต่รายจ่ายเพิ่มขึ้น หวังรัฐบาลเยียวยาลดภาระค่าใช้จ่าย ช่วยคนตกงาน แต่ยังมั่นใจระบบสาธารณสุขไทยเยี่ยม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการ สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยถึงผลสำรวจ เรื่อง “คนเครียด โควิด-19” จาก 1,012 ตัวอย่าง พบว่า ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือ 67.5% ระบุมีความเครียดเพิ่มขึ้น ในขณะที่ 30.5% ระบุว่าเหมือนเดิม และมีเพียง 2% เท่านั้นระบุมีความเครียดลดลง

anxiety 2902575 1280

เมื่อถามถึง สิ่งที่เป็นอยู่ ช่วงโควิด-19 ผลสำรวจพบว่า 66.2% ระบุว่า รายได้ลดลง ส่วน 28.3% เหมือนเดิม และมีเพียง 5.5% ที่บอกว่ามีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจถึง 47.9% ระบุว่า มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น, 45.7% ระบุว่า เหมือนเดิม และเพียง  6.4% ที่บอกว่า รายจ่ายลดลง

นอกจากนี้ยังพบว่า 91.7% ต้องการให้ฝ่ายการเมืองช่วยลดภาระ ลดรายจ่ายลงอีก ในขณะที่ 8.3% มองว่าเพียงพอแล้ว ขณะที่ส่วนใหญ่หรือ 90.3% ต้องการให้ช่วยจ้างงาน ช่วยคนตกงานเพิ่มขึ้น ในขณะที่ 9.7% ระบุว่า พอแล้ว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กล่าวว่า จากผลสำรวจดังกล่าว สะท้อนได้ว่า ความเครียดในช่วงไวรัสโควิด-19 มาจาก 2 ปัจจัย คือ 1. รายได้หด ตกงาน รายจ่ายเพิ่ม และ 2. การอยู่บ้านกักตัว ข่าวลือ ข้อมูลลวง ความขัดแย้งแตกแยกทางการเมือง กำลังทำให้คนไทยเครียดหนัก

สำหรับการแก้ไขส่วนที่ 1 ควรใช้ “แนวเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข” อัดฉีดเงินเข้าสู่ 3 ช่องทางได้แก่ ช่องทางแรกคือ อัดฉีดเงินตรงให้ประชาชนแต่ละคนทุกคนที่ขึ้นทะเบียนแล้วกว่า 20 ล้านคนทุกคนได้มากหรือน้อยได้ทุกคนไม่มีใครผิดหวัง ช่องทางที่สองคือ อัดฉีดไปที่ วิสาหกิจชุมชนทั้ง 8 หมื่นชุมชนทั่วประเทศ เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน และช่องทางที่สามคือ อัดฉีดเงินไปที่ ผู้ประกอบการธุรกิจที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงการคลัง

0โพล

ขณะที่การแก้ไขส่วนที่ 2 คือ เสนอให้จัดตั้ง “กลุ่มเพื่อนทางไกล” ช่วยบรรเทาความเครียดของประชาชน นำโดยกลุ่มจิตแพทย์และจิตอาสาจากทุกภาคส่วนเข้าถึงประชาชนระดับปัจเจกบุคคลและครัวเรือน เพื่อชวยเหลือเยียวยาด้านจิตใจ

อย่างไรก็ตาม ยังมีแง่มุมที่ดีจากการสำรวจครั้งนี้ โดยคนส่วนใหญ่หรือ 74.8% รับรู้ว่า คนไทยเสียชีวิตจากโควิด-19 น้อยกว่าชาติอื่น ๆ ในขณะที่ 25.2% ระบุไม่น้อยกว่า และเมื่อถามถึง สิ่งที่เห็น ช่วงวิกฤตโควิด-19 พบว่า 73.2% ได้เห็นระบบสาธารณสุขของประเทศไทยดี มีแพทย์ พยาบาล อสม. เข้มแข็ง ทุกภาคส่วนตื่นตัว ดูแลสุขภาพมากขึ้น ขณะที่ 23.8% ระบุปานกลาง และเพียง 3% ที่ระบุว่าเห็นน้อย

ขณะเดียวกัน ส่วนใหญ่หรือ 62.3% ระบุว่า เห็นคนไทยช่วยเหลือดูแลกันเอง โดยเฉพาะคนรายได้ปานกลางถึงระดับล่าง เห็นอกเห็นใจกัน ในขณะที่ 33.6% ระบุปานกลาง และ 4.1% ระบุว่าน้อย

ประเด็นที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึงการโจมตีกัน ขัดแย้งกันทางการเมือง พบว่า มีถึง 92.6% ที่ระบุพอแล้ว ในขณะที่ 7.4% ระบุต้องการอีก และเมื่อศึกษาแนวโน้มจุดยืนทางการเมืองตั้งแต่ เมษายน 2562 ถึง หลังวันที่นายกรัฐมนตรี ขอมหาเศรษฐี ช่วยแก้โควิด-19 คือ 17 เมษายน ปีนี้ พบว่าล่าสุดกลุ่มคนที่สนับสนุนรัฐบาลลดลงจาก 41.2% ที่วัดได้สัปดาห์ก่อน ลงมาอยู่ที่ 36.2% หลังวันขอมหาเศรษฐีช่วยแก้โควิด และกลุ่มคนไม่สนับสนุนรัฐบาลลดลงเช่นกันจาก 31.1% มาอยู่ที่ 26.6% แต่กลุ่มพลังเงียบเพิ่มสูงขึ้นจาก 27.7% มาอยู่ที่ 37.2%

Avatar photo