COVID-19

‘หมอแก้ว’ ประเมิน จังหวัดไม่พบ ผู้ป่วยรายใหม่รอบ 14 วัน มีโอกาส คลายล็อคดาวน์ โควิด-19

“หมอแก้ว” ประเมินจังหวัด ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่รอบ 14 วัน มีโอกาสคลายล็อคดาวน์ โควิด-19 ย้ำมาตรการสุขอนามัยส่วนบุคคลยังต้องเข้มข้นต่อเนื่อง ระบุ “111 วัน ไทมไลน์โควิด” ของไทย ประสบผลสำเร็จ จากมาตรการผสมผสาน เลียนแบบกันไม่ได้ 

9173481 1

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์  รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ประเมินถึงสถานการณ์คลายล็อตดาวน์ โควิด-19 ว่า ต้องพิจารณาหลายๆปัจจัย  ตอนนี้มีหลายฝ่าย วางแผนเรื่องนี้กันอยู่ อย่างไรก็ตาม มีคนเคยพูดเปรยๆว่า เราไมได้วางแผนให้ดีตอนปิดสถานที่ต่างๆ ดังนั้นตอนเปิดก็ไม่ควรซ้ำรอยความผิดพลาดเดิม ต้องวางแผนการเปิดกิจการที่ปิดไปอย่างรอบคอบ

ทั้งนี้การคลายล็อค ต้องดูหลายเรื่องประกอบกัน ขณะเดียวกันมาตรการสาธารณสุข และอื่นๆ ก็ต้องทำอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง และบางมาตรการต้องเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะการค้นหาผู้ปวยเพิ่มเติมในเชิงรุก การสอบสวนโรคต้องเข้มข้น การเพิ่มระยะห่างทางสังคม ระหว่างบุคคลยังต้องดำเนินการต่อไป สนับสนุนให้รัฐ เอกชน และอื่นๆ ให้บุคลากรทำงานที่บ้าน เพื่อลดคามแออัด

Map Non infection03 1

Map Non infection02 1

การเปิดสถานที่ต่างๆนั้น หลักการน่าจะเริ่มดำเนินการ ในจังหวัดที่เสี่ยงต่ำก่อน คือ จังหวัดที่ไม่มีผู้ป่วยรอบ 14 วัน เช่น เราจะเปิดเมื่อไหร่ ก็นับย้อนไป 14-16 วัน ที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยรายใหม่ จังหวัดไหนทำได้ ก็อาจเริ่มดำเนินการได้ก่อน รวมถึงเปิดกิจการ หรือสถานที่เสี่ยงต่ำก่อน

เช่น ที่ที่สามารถคงมาตรการระยะห่าง ระหว่างบุคคลได้ เมื่อเข้าไปแล้ว สามารถอยู่ห่างกันได้ 1-2 เมตร สามารถใส่อุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากได้  และใช้เวลาไม่นานเกินไป ซึ่งหลายที่สามารถปรับปรุงสภาพแวดล้อมของตัวเองได้ อาทิ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ทำให้มีแคชเชียร์เยอะขึ้น เพื่อให้การต่อคิวจ่ายเงินสั้นลง การจัดระบายอากาศ เพื่อลดความแออัดของพื้นที่

ดังนั้นที่ไหนอากาศไม่ถ่ายเท อยู่กันแบบไหล่ชนไหล่ ถือว่าเสี่ยงมาก ต้องปรับปรุงพื้นที่ จากเสี่ยงสูง ให้เป็นเสี่ยงต่ำ หากทำได้ ก็จะได้รับการพิจารณาให้เปิดได้ เป็นต้น

ทั้งนี้อยากเตือนทุกคนว่า บางมาตรการหย่อนได้ แต่มาตรการส่วนบุคคล หย่อนไม่ได้เลย ได้แก่ การเลี่ยงไปในสถานที่แออัด หรือที่ที่มีคน ไอจาม ใส่หน้ากากผ้าทุกครั้ง เมื่อต้องออกจากบ้าน ล้างมือบ่อยๆ ไม่เอามือมาโดนหน้าโดนตา เพราะโอกาสกำจัดโรคนี้ให้ออกไปจากประเทศไทย ไม่สูงมากนัก การเปิดบางพื้นที่ เพื่อให้กิจการต่างๆดำเนินการไปได้ ขณะเดียวกันก็ต้องกดการแพร่ระบาดให้ต่ำต่อไปให้ได้

ขอย้ำว่า 111 วันของการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของไทย เป็นไปตามระดับความเสี่ยง อย่างต่อเนื่อง มีการวางแผนดำเนินงานนำสถานการณ์ และไม่ได้ใช้มาตรกรเดียว การปิดเมือง หรือปิดสถานที่ เป็นมาตรการหนึ่งเท่านั้น  เราใช้มาตรการมากมาย มีการส่งเสริมความรู้ ทั้งด้านสาธารณสุข และการแพทย์ รวมถึงสุขอนามัยส่วนบุคคล ส่วนมาตรการเคอร์ฟิวของไทย ก็บังคับในเวลกลางคืน จำกัดการเดินทาง ก็ไม่ได้ปิดสนิทจริงๆ พร้อมกับมาตรการเพิ่มระยะห่างทางสังคม

“ไม่มีประเทศไหนเหมือนกันทุกประการ ตอนนี้เราทำงานได้อย่างประสบความสำเร็จ จากการผสมผสานหลากหลายวิธี ความสำเร็จของเราก็ไม่เหมือนประเทศอื่น แต่จำนวนผู้ป่วยก็ชะลอตัว และ ลดลงได้ดีระดับหนึ่ง” 

นพ.ธนรักษ์ ย้ำว่า ขณะที่เราตั้งคำถามกับประเทศของเรา ว่าตรวจน้อย ไม่ใช้แอปพลิเคชัน ไม่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ไม่ประกาศเคอร์ฟิว 24 ชม. หรือทำไม ไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ขณะที่ท่านถามคำถามมากมาย ก็มีประชากรประเทศอื่นๆ ถามคำถามประเทศของเขาเช่นกัน 7 ข้อ ดังนี้

  • ทำไม ไม่มีอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ล้านกว่าคน
  • ทำไม ไม่มีนักระบาดวิทยา ที่มีความรู้ความสามารถ
  • ทำไม ไม่มีนักปฏิบัติการ ที่ทำงานในแล็บที่มีความสามารถ และทุ่มเทการทำงาน
  • ทำไม ไม่ใส่หน้ากากผ้ามากเท่าเรา
  • ทำไม ไม่มีเจลวางอย่างทั่วถึง
  • ทำไม คนของเขา ออกนอกบ้าน ทั้งที่ประกาศห้าม ขณะที่เราอยู่ในบ้าน ทั้งที่ที่ไม่มีประกาศ
  • ทำไมคนของเขาไม่มีน้ำใจ เอาของไปแจก ทั้งไปให้หน่วยงาน หรือโรงพยาบาลโดยตรง และแจกตามสถานที่ต่างๆ คนขายของก็ช่วยกัน

จึงขอย้ำว่า ความสำเร็จของเราลอกเลียนแบบไม่ได้ มาตรการของแต่ละประเทศ ไม่เหมือนกัน เพราะต้นทุนของแต่ละประเทศแตกต่างกัน

Avatar photo