Politics

‘หมอแก้ว’ แจงดราม่าโควิด! ชี้ไม่มีอะไรซับซ้อน แค่ใจปราศจากอคติก็พอ

“นพ.ธนรักษ์” แจงดราม่ากราฟสถานการณ์การแพร่ระบาด “โควิด” ชี้ไม่ต้องมีอะไรซับซ้อน แค่มีใจที่ปราศจากอคติก็พอ

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้โพสต์ในเฟซบุ๊ก “หมอแก้ว ผลิพัฒน์” ว่า เมื่อวานมีเพื่อนมาบอกว่าประเทศไทยควบคุมสถานการณ์โรคได้ย่ำแย่กว่าบางประเทศในเอเซีย ทั้งญี่ปุ่นและสิงคโปร์ ก็ถามไปว่า เอามาจากไหน เขาก็ส่งรูปบนให้ดู ก็เลยโชว์รูปล่างไปให้เขาดูบ้าง และบอกเขาว่าข้อมูลชุดเดียวกัน แค่นำเสนอต่างกันแค่นั้นเอง จะเห็นว่าการเลือกวิธีนำเสนอที่แตกต่างกันทำให้เราแปลผลสถานการณ์แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง รูปบนญี่ปุ่นกับสิงคโปร์ดูดีกว่าไทยมาก แต่รูปล่าง ญี่ปุ่นดูไม่ดีเอาเลย และสิงคโปร์ก็ไม่ต่างจากเรามากนัก

92951154 2687512244691793 3242616900215111680 o

รูปบนเริ่มต้นพล็อตกราฟ ณ วันที่แต่ละประเทศมีผู้ป่วยเกิน 100 ราย แล้วเอาจำนวนผู้ป่วยหลังจากนั้นมาเทียบกัน…เออ…แล้วเขาไปเอาตัวเลข 100 คนมาจากไหน มีหลักวิชาการอะไรรองรับหรือเปล่า ตำราระบาดวิทยาหรือชีวสถิติเล่มไหนเขียนไว้หรือเปล่า

ตอบ…ไม่รู้สิ ไม่เคยอ่านเจอ แค่เป็นตัวเลขง่ายๆ สะดวกๆ แต่ก็เคยได้ยินมีผู้มีชื่อเสียงท่านหนึ่งเคยพูดไว้ตอนนำเสนอกราฟรูปบนว่าถ้าประเทศไหนมีผู้ป่วยเกินร้อยเมื่อไหร่ สถานการณ์หลังจากนั้น ประเทศนั้นจะมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มเป็น 2 เท่าทุกๆ 3 วัน ซึ่งถ้าถามว่าจริงมั้ย ก็ต้องตอบว่า “ไม่จริง” ตัวเลข “100” ไม่ได้มีความหมายเช่นนั้น ทั้งยังก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้ง่าย เนื่องจากการเริ่มต้นนับสถานการณ์ที่จุดที่แต่ละประเทศมีสถานการณ์ไม่เหมือนกัน ก็อาจเปรียบได้กับการที่คนนำเสนอจงใจปล่อยตัวนักวิ่งออกวิ่ง ณ จุดเริ่มต้นที่แตกต่างกันนั่นเอง ทั้งยังเป็นการปฏิเสธความสำเร็จของการดำเนินงานต่างๆ ที่แต่ละประเทศได้ทำมาก่อนหน้านั้นอีกด้วย สำหรับประเทศไทย ณ วันที่มีผู้ป่วย 100 คน ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงของการเกิดการระบาดเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ช่วงแรกอาจจะดูเหมือนมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็ว

นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างนึงครับ ตัวเลขเดียวกันขึ้นอยู่กับคนนำเสนอว่าจะเลือกชี้นำให้คนอ่านให้เข้าใจหรือตีความไปในทิศทางใด การจงใจเลือก “วัน” ที่จะเริ่มนับที่แตกต่างกันออกไปก็อาจทำให้คนอื่นมองว่าคนนำเสนอมี “อคติ” ได้ กองเชียร์ทีมไทยก็อาจจะถามว่าทำไมไม่เลือกนับจากวันที่แต่ละประเทศพบผู้ป่วยในประเทศเป็นรายแรก หรือวันที่แต่ละประเทศพบผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศเป็นรายแรก ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้กราฟของประเทศไทยดูดี เพราะเป็นประเทศแรกๆ ที่เกิดเหตุการณ์เหล่านั้นขึ้น

การนำเสนอข้อมูล ไม่ต้องมีอะไรซับซ้อน แค่มีใจที่ปราศจากอคติก็พอ ถ้าต้องการเสนอสถานการณ์ปัจจุบันเปรียบเทียบกันก็ plot ตัวเลขจำนวนผู้ป่วยสะสมตามวันเวลาปฏิทินก็พอแล้วครับ

เขียนมาถึงตรงนี้ทำให้คิดถึงคำพูดคำหนึ่งที่ว่า “There are three kinds of lies: lies, damned lies, and statistics.”

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK