COVID-19

‘ศุภชัย’ ชง 4 แนวทาง เสนอทีมที่ปรึกษาภาคเอกชน แก้วิกฤติโควิด-19

สภาดิจิทัลฯ เสนอทีมที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชน ศูนย์บริการสถารการณ์โควิด-19 ใช้ 4 เทคโนโลยี ร่วมแก้ปัญหา มั่นใจไทยมีสถานะการเงินแข็งแรง เงินสำรองคงคลังสูง  หนี้สาธารณะต่ำ ปัจจัยบวกฝ่าวิกฤติ

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย หนึ่งในคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เปิดเผยว่า สภาดิจิทัลได้เสนอแนวทางการวางแผนเพื่อรองรับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลอดจนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยการนำดิจิทัลและเทคโนโลยีมาช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถผ่านวิกฤตโควิด-19 ดังนี้

ศุภชัย เจียรวนนท์1

• Digital Solutions – มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาการว่างงานโดยการช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพและสร้างธุรกิจใหม่ๆ พร้อมกับการให้ความรู้ ทักษะต่างๆผ่าน การเรียนการสอน บนระบบดิจิทัล

• Digital Infrastructure – มุ่งเน้นให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานได้อย่างทั่วถึงในราคาย่อมเยา พร้อมสนับสนุนให้คนไทยมีคอมพิวเตอร์เป็นของตนเอง เพราะเป็นสิ่งสำคัญต่อการเรียนหนังสือ ทำธุรกิจ หรือประกอบอาชีพในปัจจุบัน

• Digital Information – การเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล และแบ่งปันข้อมูล ในการช่วยควบคุมโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากทำให้สามารถรับรู้การการกระจายตัวของโรคและป้องกันดูแลตนเองได้

• Digital Regulation – ผลักดันเรื่องการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกกฏหมาย โดยคำนึงถึงความปลอดภัยในการประชุมผ่านระบบ Video Conference

สำหรับคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สภาเกษตรกรแห่งชาติ และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจ

blur 1853262 1280

นายศุภชัย  กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยมีสถานะการเงินที่แข็งแรง โดยมีเงินสำรองคงคลังสูง และหนี้สาธารณะต่ำเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศ จึงนับว่าเป็นปัจจัยที่ดีและสำคัญในการสนับสนุนให้ประเทศสามารถฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบในช่วงแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ในการวางแผนเพื่อรองรับและกำหนดมาตรการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ทั้งด้านการท่องเที่ยว ด้านการเกษตร ซึ่งต่างเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากการควบคุมการนำเข้า ส่งออกสินค้าหลายประเภท

นอกจากนี้ยังอาจพบกับสภาวะภัยแล้ง น้ำท่วม ที่จะทำให้เกิดปัญหาทับซ้อน จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนรองรับไปถึงปีหน้าด้วย อีกทั้งกลุ่มธนาคารที่เป็นหน่วยสำคัญที่จะช่วยวิเคราะห์มาตรการกำหนดข้อเสนอช่วยเหลือภาคธุรกิจและประชาชน อันนำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

ขณะที่ เรื่อง จีดีพี นั้น หลายประเทศทั่วโลกได้วิเคราะห์ว่า หากสามารถควบคุมสถานการณ์นี้ได้ภายใน 2 เดือน จะยังไม่สร้างผลกระทบมากนัก แต่หากไม่สามารถควบคุมได้ภายใน 4 เดือน จะติดลบถึง 7.4% ซึ่งจะกระทบต่อการฟื้นตัวของสภาวะเศรษฐกิจอย่างมาก โดยทั้งสถาบันที่ปรึกษา Mckenzie และมหาวิทยาลัย Oxford สหรัฐอเมริกา มีการวิเคราะห์เรื่องการว่างงาน (Unemployment) ว่าจะสูงถึง 2-3%

ขณะที่ประเทศไทยนั้น จำเป็นต้องดูแลเรื่อง Productivity ด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อให้ผลผลิตมีปริมาณและมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ดูแลระบบเอสเอ็มอี ตลอดจนกลุ่มของเกษตรกร ควบคู่ไปกับการดูแลสถานการณ์โควิด-19

ทั้งนี้หากนำ 10% ของ GDP ของประเทศ คือประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท มาเป็นฐานกำหนดแนวทางการวางแผนร่วมกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ เน้นที่การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การปรับระบบภาษี ดึงดูดการลงทุน พร้อมกำหนดแผนการฟื้นฟู (Recovery Plan) โดยวางแผนล่วงหน้า 2-3 ปี ควบคู่กับแผนการป้องกันการกลับมาของไวรัสโควิด-19 ด้วย จะสามารถพยุงและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ รวมถึงสร้างความมั่นใจให้กับภาคธุรกิจ ภาคประชาชน และเศรษฐกิจจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน

Avatar photo