World News

ต่างชาติแห่ลงทุน หนุนเอฟดีไอเวียดนามโตไม่หยุด

ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าเศรษฐกิจเวียดนาม โดยเฉพาะตลาดอสังหาริมทรัพย์ จะมีขึ้นมีลงอยู่บ้าง แต่เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ยังไหลเข้ามาในประเทศอย่างสม่ำเสมอ และทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อปี 2560 ต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้

ต่างชาติแห่ลงทุน หนุนเอฟดีไอเวียดนามโตไม่หยุด

ข้อมูลจากสำนักงานการลงทุนต่างประเทศ (เอฟไอเอ) กระทรวงวางแผนและพัฒนาเวียดนาม แสดงให้เห็นว่า ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ นับถึงวันที่ 20 กรกฏาคมที่ผ่านมา เวียดนามมีมูลค่าเอฟดีไออยู่ที่ 9,850 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 9%

ข้อตกลงที่จะทำเอฟดีไอในช่วงเวลาเดียวกันนี้ เพิ่มขึ้น 5% ต่อปี มาอยู่ที่ 22,940 ล้านดอลลาร์ ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นการอนุมัติใหม่เพิ่มขึ้น 2% ที่ 13,200 ล้านดอลลาร์ ขณะที่นักลงทุนมีการลงทุนเพิ่มในโครงการที่มีอยู่แล้วอีก 4,950 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วน 84% ของยอดการลงทุนเพิ่มในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

เรื่องที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ นักลงทุนต่างประเทศ มีการเข้ามาซื้อหุ้นในบริษัทเวียดนามคิดเป็นมูลค่า 4,790 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นถึง 54%

ภาคการผลิต และแปรรูป ยังคงเป็นอุตสาหกรรมที่ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้มากสุด โดยในช่วงเดือนมกราคม – กรกฎาคม มีการเข้ามาลงทุนแล้ว 9,630 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 42% ของยอดเงินลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด ตามด้วยการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ 5,600 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 25% ค้าปลีกและค่าส่งที่ 1,700 ดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วนที่ 7%

ญี่ปุ่น ยังคงเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่สุดที่เข้ามาลงทุนในเวียดนาม โดยในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา นักลงทุนแดนอาทิตย์อุทัยเข้ามาลงทุนแล้ว 6,880 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 30% ของยอดเอฟดีไอโดยรวม ตามด้วยเกาหลีใต้ในอันดับ 2 ที่ 5,460 ล้านดอลลาร์ หรือ 24% และสิงคโปร์ที่ 2,730 ดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 12%

ข้อมูลจากเอฟไอเอ ยังแสดงให้เห็นว่า นักลงทุนต่างชาติเหล่านี้ กระจายการลงทุนไปตามพื้นที่ต่างๆ รวม 59 เมืองและจังหวัดในเวียดนาม ในจำนวนนี้ กรุงฮานอย ดึงดูดเม็ดเงินเอฟดีไอได้มากสุด ที่ราว 6,170 ล้านดอลลาร์ หรือ 27% ของยอดการลงทุนเอฟดีไอโดยรวม

ส่วนนครโฮจิมินห์ ซิตี้ ศูนย์กลางเศรษฐกิจทางตอนใต้ของประเทศ และบาเรียวุงเต่า จังหวัดทางตอนใต้ เป็นแหล่งลงทุนจากต่างประเทศรองลงมา ที่ 4,120 ล้านดอลลาร์ หรือ 18% และ 2,150 ล้านดอลลาร์ หรือ 9.5% ตามลำดับ

ช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ธุรกิจที่มีต่างชาติเข้ามาลงทุน ยังมีตัวเลขได้เปรียบการค้าคิดเป็นมูลค่าราว 18,700 ล้านดอลลาร์ จากยอดการส่งออกของประเทศ ที่พุ่งขึ้นไปแตะระดับ 95,130 ล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 15% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่ยอดนำเข้าอยู่ที่ 76,460 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 9% ต่อปี

ทั้งนี้ นับถึงวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา เวียดนามมีโครงการที่ต่างชาติเข้าลงทุนทั้งสิ้น 26,210 โครงการ ด้วยเงินทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 333,000 ล้านดอลลาร์ และมากกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่านี้ มีการใช้จ่ายไปแล้ว

vietnam 1

2560 เอฟดีไอสูงสุดรอบ 8 ปี

ในปี 2560 เอฟดีไอของเวียดนาม พุ่งขึ้นไปถึง 35,600 ล้านดอลลาร์ แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา แรงหนุนจากการเข้าลงทุนของนักลงทุนจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์

นอกจากนี้เม็ดเงินลงทุนที่ใช้จ่ายไปในปีที่แล้ว ยังเพิ่มขึ้นมาถึง 17,500 ล้านดอลลาร์ แตะระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี โดยเงินทุนจดทะเบียน และการใช้จ่ายด้านเอฟดีไอ ขยายตัวขึ้น 44.4% และ 10.8% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปี 2559

แหล่งที่มาเอฟดีไอ

การเข้ามาลงทุนเมื่อปีที่แล้ว ก็คล้ายคลึงกับทุกปีที่ผ่านมา ที่เวียดนามยังดึงดูดเม็ดเงินลงทุนมาจากประเทศในแถบเอเชียเป็นหลัก โดยในปี 2560 นั้น มีนักลงทุนต่างชาติในเวียดนามทั้งหมด 115 ชาติด้วยกัน โดยที่ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เพียง 2 ประเทศ คิดเป็นสัดส่วนรวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของเอฟดีไอทั้งหมด

เม็ดเงินลงทุนจากญี่ปุ่นในปี 2560 อยู่ที่ 9,110 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนราว 25.4% ของยอดรวมเอฟดีไอในเวียดนาม โดยการลงทุนเกือบทั้งหมดมุ่งไปที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน 2 แห่ง ในเมืองถั่นห์หัว และคั่นห์หัว มูลค่า 5,370 ล้านดอลลาร์

ขณะเกาหลีใต้ ในอันดับ 2 มียอดลงทุนคิดเป็นสัดส่วน 23.7% จากยอดการลงทุนที่ขยับขึ้นไปถึง 8,490 ล้านดอลลาร์ ส่วนสิงคโปร์ลงทุน 5,300 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 14.8%

ปีนี้ ยังมีเรื่องน่าประหลาดใจ จากการที่จีนผงาดขึ้นมาเป็นนักลงทุนต่างชาติ รายใหญ่สุดอันดับ 4 ของเวียดนาม ด้วยยอดการลงทุนทั้งสิ้น 2,170 ล้านดอลลาร์

อุตสาหกรรมเป้าหมาย

ภาคการผลิต และแปรรูป ยังคงเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ดึงดูดเม็ดเงินลงทุน มียอดการลงทุนเมื่อปีที่แล้วพุ่งถึง 15,870 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วยราว 44.2% ของยอดเอฟดีไอทั้งหมด ตามด้วยการผลิต และจัดจำหน่ายไฟฟ้า ที่ 8,370 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 23.3% และอสังหาริมทรัพย์ที่ 3,050 ล้านดอลลาร์ หรือ 8.5%

เมืองหลักลงทุน

ขณะที่นครโฮจิมินห์ ยังคงเป็นผู้นำของทุกเมือง และจังหวัด ที่ได้ต้อนรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ตามจังหวัดบัคนินห์ ทางตอนเหนือ และถั่นห์หัว ทางตอนกลางของประเทศ

แหล่งลงทุนเอฟดีไออื่นๆ ที่มีความสำคัญ รวมถึง นัมดิ่นห์ บินห์ดวง เคียนเกียง และกรุงฮานอย

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight