COVID-19

‘นายกฯ’ สั่งประเมินการทำงานปราบโควิด-19 แง้มอาจผ่อนคลายมาตรการ

“นายกฯ” สั่งประเมินมาตรการปราบ “ไวรัสโควิด-19” มอบ “มหาดไทย” เป็นหน่วยงานหลักพิจารณาการผ่อนคลายมาตรการ รวมถึงวิธีรับมือหากสถานการณ์เลวร้ายลง

IMG 20200413105306000000

วันนี้ (13 เม.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) โดยนายกรัฐมนตรีและที่ประชุมได้ประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2563 ว่า จากสถานการณ์ทั่วโลก คงจะประสบปัญหาต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องกำหนดนโยบายในการแก้ไข ส่วนการดูแลช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์โควิด-19 นายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไปแล้ว โดยเฉพาะการแจกจ่ายเวชภัณฑ์

สิ่งที่สำคัญคือ ต้องดูแลช่วยเหลือประชาชน โดยในสถานการณ์นี้อาจจะพิจารณาใช้มาตรการพิเศษ แนวทางความช่วยเหลือที่ได้กำหนดแล้ว ให้นำไปใช้ให้ได้ผล ส่งความช่วยเหลือถึงประชาชนที่เดือดร้อน

S 29614124

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงการตรวจเยี่ยมการดำเนินการของภาครัฐ หน่วยงาน และประชาชนในช่วงวันหยุดที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี ขอให้ทุกฝ่ายมีการประเมินภาพรวมร่วมกันในการทำงานที่ผ่านมาด้วย หรืออาจจะมีการผ่อนสั้นผ่อนยาว อนุโลม และเข้มงวดในเรื่องใดบ้าง เช่น กรณีช่างตัดผม ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหาแนวทางร่วมกัน

โดยให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหลักในการประเมินมาตรการผ่อนคลาย และหากเกิดสถานการณ์เลวร้ายลง (worst case) จะทำอย่างไร ให้พิจารณาให้ครอบคลุม ทุกมิติ เชิงลึก เชิงกว้างและรอบคอบ เพื่อประชาชนเป็นที่ตั้ง หากมีปัญหาก็ต้องช่วยกันแก้ไข ทำงานในสถานการณ์ฉุกเฉินแบบนี้ต้องมีปัญหา แต่อย่าเกิดข้อขัดแย้งกันเอง ทุกฝ่าย ทุกคนเหนื่อย แต่ขอให้อดทนการดูแล

สำหรับประเด็นเรื่องการดูแลแรงงาน ให้สำนักงานประกันสังคมดูแลแรงงานที่ขึ้นทะเบียนให้ได้รับการช่วยเหลือ และให้พิจารณาผู้ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนแรงงาน ว่าจะสามารถหาช่องทาง แนวทาง วิธีการ ในการช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง เช่น ช่วยเหลือให้ลงทะเบียนให้ครบถ้วน ถูกต้อง การจัดสรรงบประมาณให้ถูกกลุ่ม ถูกความต้องการ ความจำเป็น ส่วนงบประมาณของแต่ละกระทรวงเพื่อนำมาช่วยผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ขอให้ร่วมกันพิจารณาด้วยความละเอียดถี่ถ้วน เพื่อช่วยเหลือเยียวยา รักษา ขอให้ทุกหน่วยงานร่วมคิดแบบมีวิสัยทัศน์ เปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นจากผู้อื่นที่เป็นประโยชน์

Avatar photo