COVID-19

พบ ‘ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่’ เพิ่มอีก 6 ชนิด ใน ‘ค้างคาวเมียนมา’

ทีมนักวิทยาศาสตร์ในโครงการ PREDICT ซึ่งทำงานภายใต้องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐ หรือยูเสด (USAID) เผยว่าได้ค้นพบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เพิ่มมาอีก 6 ชนิด จากการตรวจสอบประชากรค้างคาวหลายกลุ่มในประเทศเมียนมา

bat1

รายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ทางออนไลน์ในวารสารวิชาการ PLOS ONE เมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมาระบุว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์ในโครงการ PREDICT ได้วิเคราะห์ตัวอย่างน้ำลาย และมูลค้างคาวหลายร้อยตัวอย่าง ซึ่งเก็บจากค้างคาว 11 ชนิดพันธุ์ จำนวนทั้งสิ้น 464 ตัว ในสถานที่ 3 แห่งของเมียนมา ระหว่างปี  2559 – 2561

สถานที่ซึ่งใช้เก็บตัวอย่างเหล่านี้ ล้วนเป็นถ้ำที่มนุษย์มักเข้าไปใกล้ชิดกับฝูงค้างคาวอยู่เป็นประจำ ทั้งชาวบ้านที่เข้าไปเก็บมูลค้างคาวซึ่งเป็นปุ๋ยชั้นดีมาขาย รวมทั้งคนที่เข้าไปสักการะพระพุทธรูปในถ้ำ และบรรดานักท่องเที่ยว

ผลวิเคราะห์พบเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่ทีมผู้วิจัยตั้งชื่อว่า PREDICT-CoV-90 ในค้างคาวเพดานใหญ่ รวมทั้งค้นพบเชื้อ PREDICT-CoV-47 และ PREDICT-CoV-82 ในค้างคาวปากย่น

ส่วนเชื้อค้นพบใหม่อีกสามชนิดคือ PREDICT-CoV-92, PREDICT-CoV-93, PREDICT-CoV-96 พบอยู่ในค้างคาวหน้ายักษ์สามหลืบ

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 6 ชนิดที่ค้นพบล่าสุดนี้ จัดอยู่ในวงศ์ Coronaviridae เช่นเดียวกับไวรัส SARS-CoV-2 หรือเชื้อที่ก่อโรคทางเดินหายใจโควิด-19 แต่กลับมีพันธุกรรมไม่สู้จะใกล้เคียงกันนัก ทั้งยังมีข้อมูลพันธุกรรมแตกต่างไปจากเชื้อไวรัสโรคซาร์ส (SARS) และเชื้อไวรัสโรคเมอร์ส (MERS) พอสมควรด้วย จึงยังไม่ทราบแน่ว่าจะทำให้เกิดการติดเชื้อในมนุษย์ขึ้นได้หรือไม่

bat2

ดร. ซูซาน เมอร์เรย์ หนึ่งในทีมผู้วิจัยบอกว่า “ไวรัสโคโรนาหลายชนิดอาจไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่ถ้าเราได้รู้จักมันก่อน ขณะที่มันยังอยู่ในประชากรสัตว์ที่เป็นแหล่งกำเนิด เราจะมีโอกาสศึกษาทำความเข้าใจเชื้อโรคใหม่ ๆ ที่มีความเสี่ยงสูงล่วงหน้า เพื่อป้องกันการเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ได้”

ค้างคาวเป็นสัตว์ที่ต้องสงสัยว่าเป็นแหล่งกักเก็บเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 และไวรัสโคโรนาอีกนับพันชนิด โดยมีการสันนิษฐานว่าเชื้อดังกล่าวติดต่อมาสู่คนผ่านสัตว์ที่เป็นพาหะตัวกลางอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งล่าสุดมีความเป็นไปได้ว่า ตัวนิ่มที่ใช้ลิ้นกวาดกินแมลงตามพื้นดิน อาจติดเชื้อโรคโควิด-19 จากมูลค้างคาวได้

แม้จะมีผลงานค้นพบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ล่าสุดในค้างคาว แต่โครงการ PREDICT ต้องปิดตัวลงไปเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา หลังรัฐบาลสหรัฐฯ สั่งตัดงบประมาณสนับสนุนตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว ก่อนจะเกิดการระบาดหนักของโรคโควิด-19 ในประเทศในอีกไม่กี่เดือนต่อมา

ที่มา : BBC Thai

Avatar photo