CEO INSIGHT

‘โทนี่ เฉิน’จุดเชื่อมต่อการค้าไทย-จีน สู่‘รับเบอร์ วัลเล่ย์’

rubber valley
Rubber Valley

หากเอ่ยถึงผลิตภัณฑ์ยาง ปฏิเสธไม่ได้ว่า หนึ่งในตลาดใหญ่ของไทยก็คือ “จีน” เห็นได้จากมูลค่าการส่งออกของผลิตภัณฑ์ยางไปยังประเทศจีนในปี 2560 ที่มีถึง 2,883 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2556 มาถึง 565 ล้านดอลลาร์ (อ้างอิงตัวเลขจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย) ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงเป็นประวัติการณ์ และทำให้ผลิตภัณฑ์ยางกลายเป็นสินค้าอันดับสองที่มีการส่งออกไปยังจีนมากที่สุดในขณะนี้

ในความร้อนแรงของตลาดผลิตภัณฑ์ยาง ปฏิเสธไม่ได้ว่าชื่อของ “โทนี่ เฉิน” หรือ เฉินหู้เซิง ในฐานะผู้อำนวยการของสำนักงานตัวแทนบริษัท รับเบอร์ วัลเล่ย์ กรุ๊ป จำกัด ประเทศไทย คือหนึ่งในผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จดังกล่าว โดยเขาได้เผยกับทีมงาน ” The Bangkok Insight” ว่า ปัจจุบันธุรกิจยางล้อรถยนต์ในจีน คือธุรกิจที่มีการเติบโตสูงมาก ทำให้ รับเบอร์ วัลเล่ย์ กรุ๊ป ในฐานะแพลตฟอร์มกลางที่ต้องดูแลจัดหา และดำเนินการทุกอย่างที่เกี่ยวกับยาง ต้องทำงานหนักมากขึ้น

rubber valley
โทนี่ เฉิน

โดยหนึ่งในความเคลื่อนไหวสำคัญก็คือในปีนี้ หรืออย่างช้าไม่เกินปีหน้า โทนี่ เผยว่า รับเบอร์วัลเล่ย์จะมีการสร้างนิคมอุตสาหกรรมยางพาราขึ้นในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม  คาดว่าจะอยู่ในภาคตะวันออก บริเวณพื้นที่ EEC เป็นหลัก ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมยางพารานี้ จะเข้ามาทำเกี่ยวกับยางรีไซเคิล รับซื้อขี้ยาง หรือยางเก่า แล้วนำนวัตกรรมด้านการรีไซเคิลของรับเบอร์วัลเล่ย์มารีไซเคิลยางเหล่านั้นใหม่เพื่อขายให้โรงงานต่าง ๆ หรือไม่ก็ส่งออกไปยังจีนและประเทศต่าง ๆ

“ที่ผ่านมามีคนทำเยอะ แต่ไม่ค่อยมีมาตรฐานเท่าไร เพราะติดเรื่องของสิ่งแวดล้อม หรือเรื่องใบอนุญาตที่ไม่ครบถ้วน แต่ถ้ารับเบอร์วัลเล่ย์จะทำต้องมีใบอนุญาต มีระบบ QC ที่ถูกต้อง”

นอกจากนั้น จากเดิมที่เป็นสำนักงานตัวแทนบริษัท รับเบอร์ วัลเล่ย์ กรุ๊ป จำกัด ประเทศไทย โทนี่ เฉิน กล่าวว่าถึงเวลาแล้วที่จะจดทะเบียนบริษัทขึ้นในประเทศไทย โดยใช้ชื่อว่า อาร์วีแอล ประเทศไทย จำกัด ทำหน้าที่เกี่ยวกับการให้คำปรึกษา เทรดดิ้ง อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น รวมถึงเข้ามาดูแลนิคมอุตสาหกรรมที่จะสร้างขึ้น ณ จังหวัดระยองที่มีมูลค่า 200 – 300 ล้านบาทด้วย

เส้นทางยางพารา จากจีนสู่ไทย

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยางพารากลายเป็นจุดเชื่อมสำคัญที่ทำให้รับเบอร์วัลเลย์กับไทยได้สานสัมพันธ์กัน แม้ฐานะของรับเบอร์วัลเล่ย์ในวันนี้แม้จะเป็นในรูปแบบกึ่งรัฐกึ่งเอกชน แต่ก็ประกอบขึ้นมาจาก 4 หุ้นส่วนที่แข็งแกร่งไม่น้อย ได้แก่ รัฐบาลของชิงเต่า มณฑลซานตง, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์, สมาคมอุตสาหกรรมยางพารา และบริษัท เมสเนค กรุ๊ป (Mesnec Group) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตยางล้อรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของจีน และมียอดขายอันดับหนึ่งของโลก

ที่สำคัญ โทนี่ยังเผยว่า ทุกวันนี้ เมสเนค เป็นพี่เลี้ยงของบรรดาโรงงานผลิตยางจำนวนมาก เพราะเมสเนคมีองค์ความรู้ มีห้องปฏิบัติการทั้งในจีนและในสหรัฐอเมริกา และยางล้อรถยนต์หลาย ๆ ยี่ห้อในตลาดไทยนั้น ก็ผลิตขึ้นโดยใช้องค์ความรู้ของเมสเนคด้วยเช่นกัน

รับเบอร์วัลเลย์
รับเบอร์วัลเลย์

ทั้งนี้ การเข้ามาของรับเบอร์วัลเล่ย์จากจีนแผ่นดินใหญ่อาจถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งการพลิกโฉมของอุตสาหกรรมยางพาราทั้งในไทยและหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก เฉพาะในประเทศไทยเมื่อ 20 ปีก่อนนั้น ยางพาราคือธุรกิจที่ราคาผันผวนมาก อีกทั้งมีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย รวมถึงพ่อค้าคนกลางจำนวนมาก แต่เมื่อเกิดรับเบอร์วัลเล่ย์ขึ้น โทนี่ เผยว่าเปรียบได้กับรับเบอร์วัลเล่ย์ เป็นองค์กรตัวกลาง ที่เข้ามาเชื่อมโยงให้ผู้ประกอบการไทยที่เป็นผู้ผลิตต้นน้ำ ให้สามารถไปจับมือกับผู้ประกอบการจีนที่เป็นกลางน้ำและปลายน้ำได้ เขามองว่าช่วยให้อุตสาหกรรมยางโปร่งใสมากขึ้น

พร้อมกันนั้น เขายังได้ยกกรณีตัวอย่างของผู้ประกอบการไทยที่ประสบความสำเร็จอย่าง กลุ่มผู้ประกอบการบ่อทอง  ปัจจุบันสามารถขายยางพาราตรงให้กับผู้ประกอบการจีน รวมถึงมีสำนักงานอยู่ในรับเบอร์วัลเล่ย์ในเมืองชิงเต่า มณฑลซานตงด้วย

“ตอนนี้สถานการณ์ในจีนคือ ความต้องการยางพาราเพิ่มมากขึ้นทุกปี และไทยก็เป็นผู้ผลิตยางพาราได้มากที่สุดในโลก ถือเป็นแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญมาก ประกอบกับไทยมีระบบโลจิสติกส์ที่แข็งแกร่ง เช่น ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่ดี และมีระบบการเงินการธนาคาร โดยเฉพาะธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ที่ให้ความสำคัญกับชาวจีนมาโดยตลอด นั่นจึงทำให้จีนนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางจากไทยมากที่สุด ปีละ 1 ล้านกว่าตันจากทั้งหมดในปีหนึ่ง ๆ จีนต้องใช้ยางกว่า 4 ล้านตัน”

33084914 1644675058915641 4213985511540260864 n
โทนี่ เฉิน

ภารกิจของรับเบอร์วัลเล่ย์ต้องทำให้สถาบันการศึกษาของไทยและจีนได้รู้จักกัน

โจทย์ใหม่รับเบอร์วัลเล่ย์ ผลิตคนป้อนอุตสาหกรรมยาง

นอกจากผลิตภัณฑ์ยางจากไทยที่เป็นที่ต้องการของตลาดจีนแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญและขาดแคลนไม่แพ้กันก็คือ บุคลากร ในจุดนี้ โทนี่ เฉินมองว่า เป็นอีกหนึ่งภารกิจของรับเบอร์วัลเล่ย์ที่จะต้องทำให้สถาบันการศึกษาของไทยและจีนได้รู้จักกัน เพื่อจะได้เกิดการแลกเปลี่ยนบุคลากร โดยเขาระบุว่าตอนนี้มีความร่วมมือกับสองสถาบันทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในชื่อวิทยาลัยยางพารานานาชาติ ไทย-จีน วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบุคลากรที่พูดภาษาจีนได้ และมีความรู้ด้านยางพารา ส่วนภาคเอกชนก็มีการเจรจากับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตอยู่

“อยากทำโครงการแลกเปลี่ยน พาสถาบันการศึกษาของจีน ระดับปวช. ปวส. ปริญญาตรี มาร่วมมือกับไทย แล้วก็ดึงผู้ประกอบการเข้ามาร่วมด้วย ส่วนตัวผมมองว่าคนไทยทำได้อยู่แล้ว ฝีมือเราไม่ได้แพ้ชาติอื่น ๆ แต่ทำอย่างไรจึงจะทำให้เด็กไทยเหล่านี้ได้รับโอกาสเข้ามาทำงานในโรงงานจีน”

“แล้วถ้ามองถึงโครงการต่าง ๆ ในอนาคต ปฏิเสธไม่ได้ว่า เราต้องการคนงานที่มีศักยภาพด้านภาษา วิชาการและเทคโนโลยี ไทยต้องผลิตบุคลากรในสายวิทย์ สาย Engineer ให้มากขึ้น นึกถึงตัวอย่างประเทศเยอรมนีก็ได้ คนงานของเยอรมนีจบอนุปริญญา หรือปริญญาตรี รายได้ก็ดี และได้รับการยกย่องจากสังคมไม่แพ้กัน”

“ถ้าเราอยากปฏิรูประบบมันต้องมีหลายสเต็ป เพราะคนงานก็มีรุ่นเก่ารุ่นใหม่ มีคนที่ทำงานแล้วในโรงงาน กับกลุ่มสถาบันการศึกษา เราต้องหาทางออกให้ทุกฝ่าย ทั้งเด็กที่กำลังเรียนหนังสือ แล้วก็หาทางให้โรงงานได้คนที่มีคุณภาพ โดยรูปแบบคืออาจเป็นเจรจากับฝั่งของแมนพาวเวอร์ว่า ถ้าส่งคนไปทำงานแล้วมีปัญหา เราหาคนติวให้เอาไหม  ส่วนคนรุ่นใหม่ เราอาจจับมือกับสถาบันการศึกษา พาโรงงานที่อยากหาคนทำงานมาเจอกัน สมมติโรงงานต้องจ้างคนปีละ 2,000 คน เราก็มาคุยกับมหาวิทยาลัยเพื่อหาทางดูว่า จะทำอย่างไรให้สามารถส่งคนผ่านกระบวนนี้มาทำงานที่โรงงานได้ โดยโรงงานอาจรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ก็คุยกัน เหล่านี้ต้องใช้เวลา และก็ต้องทำควบคู่กันไป ซึ่งคาดว่า 2 – 3 ปีคงได้เห็นผล” โทนี่ เฉิน กล่าวทิ้งท้าย

Avatar photo