COVID-19

นวัตกรรมเน้นๆ ! เร่งรับรองคุณภาพ ‘เวชภัณฑ์’ รพ.ธรรมศาสตร์ ช่วยป้องกันโควิด-19

รพ.ธรรมศาสตร์ นวัตกรรมเพียบ “อนุทิน” มอบกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และอย. เร่งรับรองคุณภาพการใช้งานของเวชภัณฑ์ ที่คิดค้นขึ้น ป้องกันโควิด-19

DSC 4255

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เยี่ยมระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และโรงพยาบาลสนาม ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จังหวัดปทุมธานี โดยกล่าวว่า วันนี้ ได้นำทีมกระทรวงสาธารณสุข มาหารือกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อหาแนวทางสนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกันในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19

โดยพบว่าทางคณาจารย์ได้คิดค้นรูปแบบ เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น เทเลเมดดิซีน หุ่นยนต์ แอปพลิเคชัน clicknic วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อสนับสนุนนวัตกรรมดังกล่าว จึงมีนโยบายให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  เร่งรับรองคุณภาพให้เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย ผู้ใช้มั่นใจ และเมื่อมีรายงานผลการศึกษาถึงประสิทธิผลในทางการแพทย์ จะนำไปขยายผลให้มีการใช้ในโรงพยาบาลทั่วประเทศต่อไป

DSC 4150

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า สำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วย โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ได้จัดระบบเป็น SMART COVID HOSPITAL มีระบบนัดหมายทางโทรศัพท์ 02-9269022 คิวอาร์โค้ด และผ่านแอปพลิเคชัน clicknic ซึ่งมีระบบล็อคด้วย GPS และระบบการติดตามอาการ (follow up) กับสหวิชาชีพ จะมีการคัดกรองด้วยแบบสอบถามเบื้องต้น แบ่งเป็นระดับเสี่ยงต่ำ เสี่ยงกลาง และเสี่ยงสูง

หากประเมินว่าอยู่ในระดับที่มีความเสี่ยงสูง จะส่งต่อไปปรึกษา กับอาจารย์แพทย์ด้วยระบบวีดีโอคอล ซึ่งมีทีมอาจารย์แพทย์ให้คำปรึกษา 107 ท่าน และหากต้องได้รับการตรวจหรือต้องเก็บสิ่งส่งตรวจจะมีระบบการนัด ช่วยลดแออัดผู้ป่วยที่ต้องมารับบริการที่โรงพยาบาล โดยโรงพยาบาลธรรมศาสตร์สำรองเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 57 เตียง และโรงพยาบาลสนาม 308 เตียง

DSC 4098

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ในช่วงสัปดาห์นี้ พบว่าผู้ป่วยโรคโควิด-19 มีแนวโน้มลดลง จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากคือ กทม. ภูเก็ต และ 3 จังหวัดชายแดนใต้ กระทรวงสาธารณสุข จะลงไปดูแลสถานการณ์ใกล้ชิดเข้มข้นมากขึ้น เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า จำกัดวงการระบาดไม่ให้กระจายออกจากพื้นที่

สำหรับในกทม. มีการบูรณาการ ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราช รามาธิบดี จุฬาลงกรณ์ ธรรมศาสตร์ กทม. โรงพยาบาลเอกชน โดยกรมการแพทย์ เป็นผู้ประสานงาน หลังจากที่รัฐบาล ได้ใช้มาตรการเข้มข้น เช่น เคอร์ฟิว ไม่ให้เปิดผับบาร์ ห้ามการรวมกลุ่ม จำกัดการเดินทาง ประชาชนอาจไม่สะดวกบ้าง

รัฐบาลทราบปัญหาทุกอย่างดีว่า ประชาชนมีความเดือดร้อน แต่เราต้องทำทุกอย่าง เพื่อหยุดการระบาดของโรค ขอให้ประชาชนเข้าใจ ให้ความร่วมมือระมัดระวังตัว ทำงานจากบ้าน เว้นระยะห่างทางสังคมเพิ่มขึ้น ก็จะกลับมาเป็นปกติในที่สุด

” ส่วนมาตรการงดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่หลายจังหวัดได้ดำเนินการ ทำให้งดการสังสรรค์ มีส่วนช่วยในการเว้นระยะห่างทางสังคม ถือว่าการเว้นระยะห่างทางสังคม เป็นวัคซีนที่ดีที่สุดในการสู้กับโรค เพราะโรคโควิด-19 ติดไปกับคน  โดยมีผลการศึกษาชัดเจน ว่าเมื่อประชาชนร่วมมือรักษาระยะห่าง ลดการสัมผัส กอด ทักทาย อัตราการติดเชื้อก็จะลดลง” 

ที่สำคัญขอให้ผู้ป่วย บอกประวัติกับแพทย์ให้ชัดเจน อย่าปิดบัง เพราะอาจทำให้บุคลกรทางการแพทย์ ที่ดูแลติดเชื้อไปด้วย ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากประชาชนเป็นอย่างดี ต้องขอขอบคุณ

Avatar photo