CEO INSIGHT

‘ธุรกิจคือการเชื่อมโยง’ แง่คิดสตาร์ทอัพจาก ‘บอย โกสิยพงศ์’

บอย โกสิยพงศ์
บอย โกสิยพงศ์

หากเอ่ยชื่อศิลปิน และนักแต่งเพลงคนดัง หนึ่งในชื่อที่คนไทยคิดถึงคงไม่พ้นชื่อของบอย โกสิยพงศ์ จากค่ายเลิฟอีส แต่ถ้าหากถามถึงมุมของธุรกิจ หรือการเป็นสตาร์ทอัพ ภาพของเขาคนนี้อาจกำลังสะท้อนคำว่าธุรกิจในมุมที่ต่างออกไป นั่นคือการบอกกับใคร ๆ ว่าเขาเป็นนักธุรกิจที่ทำธุรกิจไม่เป็นเลย เขาแค่ลงมาทำสิ่งที่เขาชอบ และฝึกฝนเป็นประจำอย่างการเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ เข้าด้วยกันเสียมากกว่า

โดยสิ่งที่ซีอีโอท่านนี้เผยกับผู้เข้าร่วมงานบนเวที New Startup Symposium ของ NEA มีแง่คิดดี ๆ ที่เราขอนำมาฝากกันดังนี้

ธุรกิจคือการเชื่อมโยง

“เคยได้ยินคำว่าเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาวไหมฮะ ทุกอย่างมันเชื่อมถึงกันหมด อยู่ที่ว่าเราจะจับตรงนี้ กับตรงนี้มาเชื่อมอย่างไรให้คนเห็นเป็นรูปธรรม” บอย โกสิยพงศ์ เผยบนเวที พร้อมกันนั้นเขายังเผยด้วยว่า ที่ผ่านมาพยายามฝึกฝนการเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ในทุกวัน ไม่ว่าจะทำผ่านการแต่งเพลง การพบเจอผู้คน หรือการมองเห็นซึ่ง Pain Point ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว

ทราบจุดเด่นจุดด้อยของตนเอง

แต่นั่นยังไม่เพียงพอสำหรับการสร้างให้ธุรกิจเป็นรูปเป็นร่าง เพราะยังมีสิ่งที่เขายอมรับว่าไม่ถนัดเอาเสียเลย นั่นก็คือการทำธุรกิจ จนในที่สุด เขาต้องมีพาร์ทเนอร์คนใหม่เข้ามาช่วยดูแล

“เมื่อก่อนมีคุณสุกี้ช่วย แต่ตอนหลังคุณสุกี้ไปทำโรงแรม ผมก็ได้ลองทำด้วยตัวเองประมาณปีหนึ่ง ก็รู้เลยว่าไม่ชอบ ทำไม่เป็นเลย ยิ่งทำยิ่งเละ ก็เล่าให้ นภ พรชำนิ ฟังว่าไม่ไหว นภก็ไปเล่าให้รุ่นน้องชื่อคุณจิ๊บฟัง คุณจิ๊บก็บอกว่ายินดีเข้ามา เราก็เลยมีหุ้นส่วนเข้ามาดูแลตรงนี้ให้ในที่สุด”

“หลังจากนั้น ผมก็เลยออกไปเชื่อมโยงกับใครเขาทั่วไปหมด และทำให้มองเห็นธุรกิจมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเราไม่ต้องดูแลธุรกิจของตัวเอง”

ต้องชอบในสิ่งที่ทำ

“เมื่อก่อนคุณพ่อผมสอนเอาไว้เวลาปรุงก๋วยเตี๋ยว ไม่ต้องปรุงเผื่อคนอื่น ปรุงให้เรากินเองได้ แล้วถ้าคนอื่นเขาชอบ ก็เป็นผลกำไร แต่ถ้าไม่ชอบ อย่างไรเสียเราก็กินได้ ดังนั้นต้องเริ่มจากความชอบของเราก่อน”

การทำเพลงก็เช่นกัน เป็นที่ทราบกันดีว่า ก่อนจะกลายมาเป็นเบเกอรี่มิวสิค – เลิฟอีสที่ผลิตเพลงรักในดวงใจให้ใครหลายคนได้ฟังนั้น เขาและหุ้นส่วนอีกสามคนเคยถูกปฏิเสธจากค่ายเพลงยักษ์ใหญ่มาแล้ว

“ตอนนั้นไม่คิดอะไร ทำเพลงเสนอไปแล้วเขาไม่เอา ก็ไม่ได้แปลว่าเราผิด งั้นก็ทำเองละกัน คือเราก็ชอบในสิ่งที่เราทำ ถึงแม้ว่ามันอาจจะเจ๊งก็ได้ แต่เราก็ได้ทำในสิ่งที่เราชอบแล้ว”

หา Pain Point ให้เจอ

ในจุดนี้ เขายอมรับว่า ถ้าเห็น Pain Point แล้วลงไปแก้ได้ จะมีคนที่ยอมจ่ายเงินให้อย่างแน่นอน เช่นเดียวกับสิ่งที่บริษัทไลฟ์อีสทำ นั่นคือการเป็นโซเชียลบิสซิเนส

“ผมเชื่อมโยงกับสิ่งที่เป็น Pain Point เรื่องหนึ่งก็คือการเรียน ตอน ม. 1 – 3 ผมเรียนแย่มาก ผมจบ ม.3 ด้วยคะแนน 1.04 คือตอนนั้นมันเรียนไม่ได้จริง ๆ และผมค่อนข้างรู้สึกเจ็บปวดพอสมควรกับการมีตราประทับว่าผมโง่ผมก็เห็นว่าปัญหานี้มันก็ยังมีอยู่จนถึงทุกวันนี้ ผมก็เลยเริ่มที่จะสร้างไลฟ์อีสขึ้นมา เพื่อจะเข้าไปบอกเด็ก ๆ บอกพ่อแม่ บอกคุณครูว่า ถ้าคุณช่วยลูกคุณหาสิ่งที่เขาเป็น ถ้าคุณช่วยลูกศิษย์คุณ มันน่าจะดีกับเขาในการเลือกอนาคตให้เป็นไปอย่างที่เขาถูกสร้างมาให้เป็นมากกว่า”

เล่าเรื่องให้เก่ง

การสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าที่ดีอีกวิธีหนึ่งคือการเล่าเรื่อง เช่นเดียวกับธุรกิจใหม่ของเขาอย่างการขายข้าว ที่บอย โกสิยพงศ์ เผยว่า เป็นการปลูกข้าวแบบสบายใจ โดยข้าวไม่มีการใส่ยา ฉีดสารเคมี แต่เน้นเปิดเพลงให้ฟังแทน

“ผมเชื่อว่าการซื้อของมากกว่า 90% เราซื้อจากเนื้อเรื่อง ดังนั้นพยายามหาสตอรี่ให้มัน และต้องเป็นเรื่องจริง อย่างการปลูกข้าว ตอนแรกเราทำแค่แปลงเดียว ปรากฏว่าน้ำหนักข้าวมันเพิ่มขึ้น 20% กับการสร้างพลังเชิงบวกด้วยการเปิดเพลงให้ฟัง แล้วชาวนาแถวนั้นเขาเห็นว่ามีประโยชน์ เขาก็มาขอวิธีการทำบ้าง พอมันมีสตอรี่ เราก็ให้ชาวนาได้กำหนดราคาได้เอง ชาวนาเขาก็สบายใจ คนสีข้าวให้ผมก็ให้เขาคิดราคาที่เขารู้สึกสบายใจ คนบรรจุหีบห่อก็คิดราคาแบบสบายใจ เราก็บวกค่าจัดการเพิ่มไปอีกหน่อย ส่วนคนซื้อก็ยินดีที่จะซื้อสุขภาพที่ดี”

สุดท้ายคือการเริ่มต้นจากสิ่งรอบตัว โดยในจุดนี้ บอย โกสิยพงศ์ชี้ว่า “ที่ผ่านมา คนไทยเราก็มองระดับโลกเยอะไปหน่อย ตูมเดียวระดับโลกเลย เราอาจจะคิดจากของง่าย ๆ ก่อน เพลน ๆ แล้วถ้าเราจัดการกับมันได้ ก็เชื่อว่าตรงนั้นจะกลายเป็นธุรกิจได้ครับ”

Avatar photo