Telecommunications

‘ดีแทค-เอไอเอส’ร่วมประมูล 1800 ชี้คลื่น 900 เสี่ยงปัญหาทำระบบป้องกันคลื่น

หลังจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อนุมัติการจัดประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz  โดยได้มีการปรับเกณฑ์ใบอนุญาตคลื่นความถี่ 1800 MHz  ด้วยการจัดประมูลใบอนุญาตแบบใบเล็ก ใบอนุญาตละ 5 MHz จำนวน 9 ใบอนุญาต  โดยผู้เข้าร่วมประมูลสามารถประมูลได้สูงสุด 4 ใบอนุญาต โดยราคาเริ่มต้นใบอนุญาตละ 12,486 ล้านบาท เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 25 ล้านบาท ผู้เข้าร่วมการประมูลจะต้องวางหลักประกันการประมูล 2,500 ล้านบาท

โดยกำหนดให้วันที่ 8 สิงหาคม 2561 เปิดให้ยื่นคำขอเพื่อเข้าร่วมการประมูล,  วันที่ 9-13 ส.ค. 2561 พิจารณาคุณสมบัติผู้มีสิทธิเข้าร่วมการประมูล, วันที่ 15 ส.ค. 2561 ประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติ, วันที่ 16-17 ส.ค. 2561 ชี้แจงกระบวนการประมูลและ Mock Auction, วันเสาร์ที่ 18 ส.ค. 2561 กำหนดให้เป็นวันประมูลคลื่น 900 MHz และวันอาทิตย์ที่ 19 ส.ค. 2561 กำหนดให้เป็นวันประมูลคลื่น 1800 MHz

คลื่น 1800 ดีแทค เอไอเอส

‘ดีแทค-เอไอเอส’ร่วมประมูล 1800

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า วันนี้ (8 ส.ค.) สำนักงาน กสทช.กำหนดให้ผู้สนใจร่วมประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz  และคลื่นความถี่ 900 MHz  มายื่นซองเอกสารร่วมประมูล โดยมีผู้มายื่นซองประมูล 2 ราย ประกอบด้วย  ดีแทค และ เอไอเอส

โดยบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) เข้ายื่นคำขอรับใบอนุญาตคลื่นฯ 1800  รายแรกเวลา 10.18 น. โดยวางหลักประกันจำนวน 2,500 ล้านบาท ตามเงื่อนไขการประมูล  ที่กำหนดให้เคาะประมูลสูงสุด 4 ใบอนุญาต

คลื่น 1800 ดีแทค

บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ในเครือเอไอเอส ยื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ ในเวลา 13.09 น. โดยวางหลักทรัพย์ค้ำประกันจำนวน 2,500 ล้านบาท เช่นกัน

หลังจากนี้สำนักงาน กสทช. จะตรวจสอบคุณสมบัติและนำเสนอคณะกรรมการ กสทช.พิจารณาในวันพุธที่ 15 สิงหาคม 2561 และจะประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติในวันที่ 15 สิงหาคม  จากนั้นจะมีการเคาะประมูลคลื่นฯ 1800 MHz ในวันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม 2561

c12cbf19dae0915c8ea9f6f288c653c8f 34521765 180808 0002

ไม่ยื่นประมูล 900 หวั่นปัญหาทำระบบป้องกันคลื่นฯ

นายฐากร กล่าวอีกว่าสำหรับคลื่นฯ 900 MHz  “ไม่มี”บริษัทใดยื่นคำขอรับใบอนุญาต ซึ่งทางดีแทค ได้ส่งหนังสือชี้แจงให้สำนักงาน กสทช. วันนี้ (8 ส.ค.) ว่าการไม่เข้าร่วมประมูลคลื่นฯ 900 MHz เนื่องจากมีข้อกำหนดเรื่องการทำระบบป้องกันคลื่นรบกวนที่มองว่ายังไม่มีความชัดเจน จากประกาศฯ ของ กสทช.

อีกทั้งย่านความถี่ 900 MHz  จำนวน 5 MHz  กสทช. ได้จัดสรรให้กับโครงการรถไฟความเร็วสูง กระทรวงคมนาคม  ซึ่งแนวทางการทำระบบป้องกันการรบกวนคลื่นฯ ยังไม่มีความชัดเจน ดีแทคจึงเห็นว่ายังมีความเสี่ยงในการประมูลคลื่น 900 MHz  จึงเห็นว่ายังไม่เหมาะที่จะเข้าร่วมประมูลคลื่นในช่วงนี้  แต่ในอนาคตหากมีความชัดเจนการใช้คลื่น 900 MHz  ดีแทคจะพิจารณาการเข้าร่วมประมูลคลื่น ดังกล่าวอีกครั้ง  เพราะมีความต้องการใช้งานในคลื่นย่านดังกล่าว

“กสทช. เองก็ต้องมีการพิจารณาการใช้คลื่น 900 MHz เพิ่มเติมด้วยเช่นกันว่า รถไฟความเร็วสูงจะใช้คลื่นในย่านดังกล่าวต่อไปหรือไม่ เพราะคลื่น 900 MHz  ที่ กสทช. จัดสรรให้ไป ถือเป็นคลื่นย่านเศรษฐกิจที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน แต่เมื่อเป็นโครงการของรัฐบาล กสทช.จึงต้องจัดสรรคลื่นให้จำนวน  5  MHz  เพื่อให้รถไฟความเร็วสูงนำไปใช้งานก่อน”

กสทช.
ฐากร ตัณฑสิทธิ์

กรณีดังกล่าวถือเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการเข้าร่วมประมูลคลื่น 900 MHz ที่ดีแทค ได้มีข้อเสนอมายัง กสทช. แม้ยังมีความจำเป็นต้องใช้คลื่นในย่าน 900 MHz  แต่ดีแทคก็เห็นว่ายังมีความเสี่ยงอยู่

ดังนั้นแนวทางการเยียวยาคลื่น 900 MHz ของดีแทค  กสทช. ได้แจ้งแล้วว่าต้องเป็นผู้เข้าร่วมประมูลก่อน จึงจะพิจารณา แต่เมื่อดีแทค ไม่ได้ยื่นประมูล 900 MHz  ก็จะไม่ได้สิทธิในการเยียวยา  แต่ได้สิทธิในการเยียวยาคลื่น 1800 MHz

นายฐากร กล่าว่าเมื่อเปิดใช้  5จีในอนาคต จะมีการใช้ดาต้าจำนวนมาก  ซึ่งความเร็วของ 5จี จะสูงกว่า  4จี  15 เท่า  ดังนั้น 5 จี จะประสบความสำเร็จได้ต้องมีคลื่นความถี่รองรับเพียงพอ  ซึ่งแต่ละค่ายต้องมีคลื่นความถี่ใช้งานไม่น้อยกว่า 100 เมกะเฮิร์ตซ์  ปัจจุบันค่ายมือถือทุกรายยังถือครองคลื่นความถี่ไม่ถึง 100 เมกะเฮิร์ตซ์ ปัจจุบันโอเปอเรเตอร์ที่ถือครองคลื่นฯ มากที่สุดประมาณ 50 เมกะเฮิร์ตซ์

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight