Business

วิกฤติหนัก!! ‘กกร.’ คาด ‘โควิด’ ฉุดเศรษฐกิจไทยพังล้านล้านบาท

“กกร.” คาด “โควิด-19” ทำเศรษฐกิจไทยเสียหายหลักล้านล้านบาท เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย พร้อมหั่นส่งออกปีนี้ติดลบ 5-10%

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า กกร.ประเมิน “โควิด-19” ทำเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบมูลค่าสูงถึงหลักล้านล้านบาทและกระทบการจ้างงานหลายล้านคน โดยมองว่าการแพร่ระบาดหากสามารถยุติลงได้ภายในช่วงครึ่งปีแรก การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ สู่ภาวะปกติยังต้องใช้เวลา โดยมองว่า “โควิด-19” ไม่เพียงส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยองค์การระหว่างประเทศหลายสถาบันต่างทยอยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจหลักในโลกลง สำหรับเศรษฐกิจไทยเองก็หนีไม่พ้นที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยเช่นกันโดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 นี้ และเป็นไปได้ที่ภาครัฐอาจจำเป็นต้องออกมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มข้นมากขึ้นตามลำดับ

06

สำหรับตัวเลขประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปีนี้นั้น นายสุพันธ์ คาดว่า GDP ติดลบแน่นอน แต่ยังไม่มีการพิจารณาปรับในเดือนนี้ เพื่อรอประเมินผลกระทบจากมาตรการต่างๆ ที่มีมติครม.ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยจะพิจารณาปรับในเดือนหน้า ทั้งนี้คาดการณ์ว่า ในช่วงต้นมีนาคมที่ผ่านมาประเมิน จีดีพีโต 1.5-2% ด้านตัวเลขส่งออกปีนี้คาดว่าติดลบ 5-10% จากเดิมคาดหดตัว 2-0% ส่วนตัวเลขเงินเฟ้อปีนี้คาดติดลบ 1.5% จากเดิมคาด 0.8-1.5% หลังจากราคาน้ำมันปรับตัวลดลงและการบริโภคลดลง

อย่างไรก็ตาม กกร.ได้เสนอมาตรการช่วยเหลือในหลายกลุ่ม ทั้ง มาตรการด้านผู้ประกอบการโดยขอให้ภาครัฐพิจารณาออกคำสั่งปิดกิจการของรัฐ ให้กับผู้ประกอบการโรงแรมหรืองานบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เพื่อให้พนักงานสามารถเข้าข่ายกิจการที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิดกิจการของรัฐ และพนักงานจะได้เงินชดเชยตามมาตรการที่รัฐบาลกำหนด โดยยกเว้นให้โรงแรมหรือบริการอื่นๆ ที่มีความจำเป็น สามารถเปิดกิจการโดยความสมัครใจ อาทิ เป็นที่พักบุคคลากรทางการแพทย์ หรือ ที่พักของผู้กักตัว เป็นต้น

07

รวมถึงขอให้ปรับลดค่าไฟฟ้าเป็น 5% ทั่วประเทศ จากเดิมที่รัฐบาลได้ประกาศลดค่าไฟฟ้าแล้ว 3% เนื่องจากปัจจุบันต้นทุนค่าน้ำมันลดลงอย่างมาก ซึ่งค่า FT น่าจะสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง รวมถึงเสนอเพิ่มสภาพคล่องโดยการอัดฉีดวงเงินใหม่ให้กับภาคธุรกิจ ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% โดยให้ บสย.ค้ำประกันวงเงินกู้เพิ่มจาก 40% เป็น 80% รวมถึงให้ภาคเอกชนหักค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า สำหรับค่าใช้จ่ายในการป้องกันการระบาดของโควิด-19 และอยากให้รัฐจัดสรรงบประมาณการจ้างงาน ซื้อสินค้า จากผู้ผลิตในประเทศ (Made-in-Thailand) ในราคาที่เหมาะสม โดยเฉพาะสินค้าที่ต้องใช้ในโควิด-19

ด้านมาตรการแรงงานขอให้ภาครัฐพิจารณามาตรการเพิ่มเติมให้แรงงาน ลูกจ้าง ที่อยู่ในระบบประกันสังคม ได้รับการชดเชยรายได้ โดยพนักงานที่เข้าระบบ Leave without pay จะไม่สามารถได้รับเงินชดเชยการหยุดกิจการของสถานประกอบการชั่วคราวจากคำสั่งของรัฐ และไม่เข้าหลักเกณฑ์เยียวยา 5,000 บาท ดังนั้นควรมีมาตรการชดเชยช่วยเหลือจากสำนักงานประกันสังคม โดยจ่ายเงิน 50% ของค่าจ้าง ตามที่ส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม

พร้อมเสนอให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือแรงงานที่เงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาทโดยยังได้รับเงินเดือน 75% และไม่ตกงาน รวมทั้งสามารถช่วยเหลือ โดยบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีโอกาสปลดแรงงานออก สามารถจ่ายเงินเดือนในจำนวนเงิน 75% ของเงินเดือนที่ได้รับปกติ โดยภาครัฐสนับสนุนค่าจ้างเงินเดือน 50% (จากประกันสังคม) และบริษัทเอกชนจ่ายอีก 25% ให้พนักงานและแรงงานที่มีเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาทและเสนอให้บริษัทสามารถนำค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือนค่าจ้างแรงงานมาใช้หักภาษีได้ 3 เท่าในช่วงไวรัสระบาด

Avatar photo