Business

อ่านเต็มๆ ‘มาตรการเยียวยาโควิด-19’ เฟส 3 อัดเงิน 1.9 ล้านล้าน

วันนี้ (7 เม.ย.) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาเห็นชอบวาระสำคัญที่ทุกคนจับตามอง คือ มาตรการดูแลและ เยียวยาโควิด-19 ระยะที่ 3 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อช่วยพยุงสภาพเศรษฐกิจไทยที่ย่ำแย่จากโรคระบาด

“อุตตม สาวนายน” รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลัง เปิดแถลงข่าวชี้แจงรายละเอียดว่า การดำเนินมาตรการเฟส 3 ในครั้งนี้ ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบหลักการของร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 3 ฉบับ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท, 5 แสนล้านบาท และ 4 แสนล้านบาท หรือรวมแล้ว 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อให้กระทรวงการคลังและ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท. หรือแบงก์ชาติ) สามารถนำเงินมาดูแลเศรษฐกิจใน 3 ภาคส่วน ได้แก่

มาตรการ เยียวยาโควิด-19

กู้เงิน 1 ล้านล้านสู้ไวรัส

ฉบับที่ 1 พ.ร.ก.ให้กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งหลังจาก ครม. เห็นชอบแล้ว ก็จะเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาและจัดทำร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ เข้าใจวัตถุประสงค์และขั้นตอนการใช้วงเงินกู้ตรงกัน จากนั้นจะทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและคาดว่าจะบังคับใช้ได้ภายในเดือนนี้

กระทรวงการคลังคาดว่า จะสามารถเริ่มจัดหาแหล่งเงินกู้ก้อนแรกได้ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม 2563 เป็นต้นไปและสามารถกู้ได้ถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 หรือภายใน 1 ปี 6 เดือน โดยสาเหตุที่เปิดให้กู้เงินได้ถึงเดือนกันยายน 2564 เพราะการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณปีงบประมาณ 2564 ต้องใช้เวลา ขณะเดียวกันก็ยังไม่ทราบว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะจบลงเมื่อใด

สำหรับแหล่งเงินกู้จะใช้สกุลเงินบาทเป็นหลัก แต่ก็เปิดช่องให้กู้ยืมเงินตราต่างประเทศได้ด้วย ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังไม่จำเป็นต้องกู้เต็มกรอบวงเงิน 1 ล้านล้านบาท และจะไม่กู้เงินทีเดียวเพื่อมากองไว้ แต่จะทยอยกู้ให้สอดคล้องกับความต้องการ

“เราได้มีการดำเนินการและกำลังขับเคลื่อนการจัดสรรงบประมาณอย่างเป็นขั้นตอน พยายามใช้งบประมาณที่มีจากแหล่งต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด อย่างไรก็ดี สถานการณ์ในปัจจุบันรุนแรง เราต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก นำสู่การออก พ.ร.ก. กู้เงินฯ ในครั้ง”

มาตรการ เยียวยาโควิด-19 อุตตม

ขยายเยียวยา “เราไม่ทิ้งกัน”

สำหรับร่าง พ.ร.ก.กู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท จะถูกนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ 2 ข้อ คือ

  • แผนงานด้านสาธารณสุขและแผนงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ วงเงิน 6 แสนล้านบาท ได้แก่ เพิ่มการ เยียวยาโควิด-19 สำหรับประชาชนกลุ่มลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน และผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งลงทะเบียนในเว็บไซต์เราไม่ทิ้งกัน จากเดิมประชาชนจะได้รับ เงินเยียวยา 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน ก็จะขยายเป็น 6 เดือน ถึงเดือนกันยายน 2563 หรือเยียวยาเพิ่มขึ้นจาก 1.5 หมื่นบาทต่อคน เป็น 3 หมื่นบาทต่อคน แต่ผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยายังคงมีจำนวน 9 ล้านคนเท่าเดิม นอกจากนี้ จะนำไปใช้เยียวยาเกษตรกรผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ซึ่งประกาศรายละเอียดและหลักเกณฑ์ต่อไป และดูแลสาธารณสุข ซึ่งจะมีการจัดงบประมาณเพิ่มเติมตามความจำเป็น
  • แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 4 แสนล้านบาท ครอบคลุมโครงการดูแลสนับสนุนเศรษฐกิจในพื้นที่ ได้แก่ สนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจชุมชน รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระดับพื้นที่ เนื่องจากมีประชาชนกลับภูมิลำเนาจำนวนมาก จึงต้องสร้างงานในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนดูแลตัวเองได้

 

ตั้งคณะกรรมการติดตามเงินกู้

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. มีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการ เพื่อคัดกรองโครงการและแผนงานต่างๆ ที่กระทรวงและหน่วยงานเสนอเข้ามา ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ จากนั้นคณะกรรมการกลั่นกรองฯ จะเสนอเรื่องให้ ครม. เห็นชอบเพื่อดำเนินการใช้วงเงินกู้ต่อไป

คณะกรรมการกลั่นกรองฯ ยังมีหน้าที่ติดตามและกำกับการใช้เงินกู้ โดยต้องรายงานความคืบหน้าให้ ครม. รับทราบเป็นระยะ และต้องรายงานความคืบหน้าให้รัฐสภาทราบภายใน 60 วันหลังปิดปีงบประมาณ

มาตรการ เยียวยาโควิด-19

เติมสภาพคล่อง SMEs

ฉบับที่ 2 พ.ร.ก.ให้อำนาจแบงก์ชาติออกเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) เพื่อดูแลภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) วงเงิน 5 แสนล้านบาท เป้าหมายคือ การออกสินเชื่อ 5 แสนล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ย 2% สำหรับ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท

นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินของรัฐ จะพักชำระหนี้เดิมทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยนาน 6 เดือนให้ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและรักษาการจ้างงาน

“พ.ร.ก. แบงก์ชาติฉบับนี้ สามารถให้ธนาคารพาณิชย์กู้เงินจากแบงก์ชาติเพื่อไปปล่อยให้ SMEs ตั้งแต่รายเล็กถึงกลาง เป็นการเติมสภาพคล่องโดยตรง เชื่อว่า SMEs จะไปช่วยดูแลลูกจ้างพนักงานได้ด้วย เพราะตัวเองมีสภาพคล่องเพียงพอแล้ว”

 

พยุงตลาดตราสารหนี้

ฉบับที่ 3 พ.ร.ก.ดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน วงเงิน 4 แสนล้านบาท ซึ่งจะนำไปตั้งกองทุนรวม Corporate Bond Liquidity Stabilization (BSF) และให้แบงก์ชาติซื้อขายหน่วยลงทุนในกองทุนดังกล่าว เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน เพราะปัจจุบันสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ไม่ปกติ บางช่วงก็มี บางช่วงก็ค่อนข้างบาง

ถ้าหากดูแลให้ระบบตราสารหนี้มีสภาพคล่องที่เพียงพอ ก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ โดยแบงก์ชาติจะเข้าไปดูแลตราสารหนี้ที่ถึงกำหนดชำระและต้องการกู้ยืมต่อ (Roll Over) โดยจะเน้นตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีคุณภาพ แต่ประสบปัญหาสภาพคล่องเป็นการชั่วคราว โดยผู้ออกหุ้นกู้ก็ต้องหาสภาพคล่องด้วยตัวเองอย่างน้อย 50% และกองทุนฯ จะเข้าไปเติมให้อีก 50%

ส่วนเงินที่อยู่ในกองทุนฯ ไม่ใช่เงินทุนสำรองของประเทศ แต่เป็นเงินในระบบเศรษฐกิจไทยที่แบงก์ชาติมีหน้าที่ดูแลอยู่และสามารถนำมาใช้ได้หากปลดล็อกด้วย พ.ร.ก.

กระทรวงคลัง

โอนงบกระทรวงเข้างบกลาง

นายอุตตมกล่าวว่า นอกจากนี้ พ.ร.ก. 3 ฉบับดังกล่าวแล้ว ที่ประชุม ครม. ยังมีมติเห็นชอบหลักการให้สำนักงบประมาณจัดทำ พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายปีงบบประมาณ 2563 จากกระทรวงต่างๆ มารวมกันไว้ที่งบกลาง เนื่องจากประเทศไทยมีความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้เงินงบประมาณดูแลสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 และที่ผ่านมาก็ใช้งบกลางปีงบประมาณ 2563 เพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปแล้ว 9 หมื่นล้านบาท

หลังจากที่ ครม. เห็นชอบในหลักการแล้ว ขั้นตอนต่อไป สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลังก็จะเร่งจัดทำรายละเอียดของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อเสนอให้ที่ประชุม ครม. เห็นชอบและเสนอให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาในวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 โดยคาดว่าจะเริ่มโอนงบประมาณได้จริงในเดือนมิถุนาย ซึ่งก็ขอให้ทุกกระทรวงช่วยกันเงินที่ไม่จำเป็นต้องใช้จ่ายในเวลานี้ และไม่ได้ผูกพัน มารวมไว้ในงบกลางเพื่อต่อสู้กับไวรัสโควิด-19

ด้านงบประมาณปีงบประมาณ 2564 ยังไม่ได้เริ่มต้นกระบวนการจัดสรรอย่างเป็นทางการ แต่รัฐบาล โดยสำนักงบประมาณ ก็จะจัดงบประมาณให้สอดคล้องกับการรับมือสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ด้วย

 

จ่อขยายเพดานหนี้สาธารณะ

สำหรับตัวเลขหนี้สาธารณะ หลังจากมีการออก พ.ร.ก.กู้เงินฯ 1 ล้านล้านนั้น นายอุตตมกล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2564 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของประเทศไทยจะเพิ่มเป็น 57% แต่ก็ยังไม่เกินเพดานหนี้สาธารณะที่กำหนดว่าควรอยู่ที่ 60% ของจีดีพี

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าปัจจุบันไม่ใช่ภาวะปกติ เป็นภาวะวิกฤติ ทางกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงจะร่วมพิจารณาขยายเพดานหนี้สาธารณะและเสนอให้คณะกรรมการวินัยการเงินการคลัง ที่มี พล.อ.ประยุทธิ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณา ในกรณีที่มีความจำเป็น

อย่างไรก็ตาม แนวคิดเรื่องการขยายเพดานหนี้สาธารณะยังอยู่ระหว่างการพิจารณา เพราะหนี้สาธารณะในปีงบประมาณ 2564 ก็ยังไม่ถึงเพดาน จึงยังมีเวลาพิจารณาอยู่ ส่วนในอนาคตสัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศจะเป็นเท่าไหร่ก็ต้องขึ้นอยู่กับการใช้จ่ายและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจด้วย

Avatar photo