COVID-19

เปิด ‘1 จังหวัด-1 แล็บ-100 ห้องปฏิบัติการ’ เร่งตรวจหาโควิด-19

สาธารณสุข เปิดปฏิบัติการเชิงรุก “1 จังหวัด-1 แล็บ-100 ห้องปฏิบัติการ”  เร่งตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19  ครอบคลุมทั้งประเทศ ตั้งเป้าตรวจหาเชื้อให้ได้วันละ 20,000 ราย  เมษายนนี้เตรียมขยายแล็บมาตรฐาน เพิ่มเป็น 110 แห่ง ยืนยัน RT-PCR เป็นมาตรฐานการตรวจ ที่ทั่วโลกยอมรับ และทุกโรงเรียนแพทย์ในไทยใช้เกณฑ์นี้

918904

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า รัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายเชิงรุกในการแก้ไขปัญหา การระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์  “1 จังหวัด-1 แล็บ-100 ห้องปฏิบัติการ”  เพื่อเร่งตรวจคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ ตามแนวทางการปรับเกณฑ์เฝ้าระวังสอบสวนโรค เพื่อค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ให้เร็ว และมากที่สุด

โดยกรมฯ ได้เร่งทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการ การตรวจหาเชื้อ SARS-CoV-2 เพิ่มขึ้นอีก 30 แห่งทั่วประเทศ เมื่อรวมกับห้องปฏิบัติการเดิมที่ผ่านการรับรองแล้วจำนวน 80 แห่ง ทำให้ในเดือนเมษายนนี้ จะมีห้องปฏิบัติการที่สามารถตรวจหาเชื้อ SARS-CoV-2 รวม 110 แห่งใกล้เคียงเกาหลีที่มี 100 แห่ง ทำให้การตรวจของเราสามารถครอบคลุมในพื้นที่กรุงเทพ และ 12 เขตสุขภาพทั่วประเทศ รองรับความสามารถในการตรวจ สูงสุดถึง 20,000 ตัวอย่างต่อวัน ในกรุงเทพ 10,000 ตัวอย่าง และในภูมิภาค 10,000 ตัวอย่างต่อวัน

ขณะเดียวกัน ได้มีการประชุมร่วมกันในคณะทำงานด้านภารกิจการจัดการห้องปฏิบัติการ มีกรมควบคุมโรค สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และเครือข่าย เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อวางมาตรฐานสนับสนุนกระบวนการการตรวจหาเชื้อ และเชื่อมข้อมูลระบบรายงานผลให้รวดเร็วภายใน 24 ชั่วโมง ยกระดับการทำงานให้เกิดความรวดเร็ว

download 9 e1586266802873

สำหรับวิธีการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น วันนี้ยังคงยืนยันวิธีการตรวจที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ คือ การตรวจสารพันธุกรรมของไวรัสด้วยวิธี Real-time RT PCR เนื่องจากมีความไว ความจำเพาะสูง ทราบผลภายใน 3 – 5 ชั่วโมง และสามารถตรวจจับเชื้อไวรัสปริมาณน้อย ๆ ทั้งเชื้อเป็น และเชื้อตายในรูปแบบของสารพันธุกรรม

และขณะนี้มีนวัตกรรมเครื่องมือตรวจใหม่ๆที่นำมาใช้ เช่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันบำราศนราดูรของกรมควบคุมโรค ได้มีเครื่องดังกล่าวไว้ใช้งานแล้ว ประกอบกับมีห้องปฏิบัติการ 1 แห่ง 1 จังหวัด จะยิ่งเสริมการตรวจหาเชื้อได้ดีและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมาได้ตรวจไปแล้ว 71,860 ตัวอย่าง ส่วนการตรวจต่อวันประมาณ 3,000-4,000 ตัวอย่าง ทั้งของรัฐ และเอกชน

นพ.โอภาส ให้ข้อมูลว่า 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเสียงเรียกร้องจากเอกชน ให้นำเข้าชุดตรวจแบบเร็ว หรือ Rapid Test มาใช้ ซึ่งกรมฯเองไม่เคยมีแนวคิดที่จะนำมาใช้ทดแทน RT PCR  แต่จากการเรียกร้อง เราได้รับภารกิจให้มาประเมิน ว่าชุดทดสอบแบบนี้ ควรมีมาตรฐาน หรือคุณภาพอย่างไร และได้ตั้งคณะกรรมการขึ้น โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมพิจารณา

29Mar CovidLab ปก 1

” ที่ผ่านมา เราได้รับการกดดัน ให้นำชุดตรวจแบบ Rapid Test มาใช้ แต่ต้องขอยืนยันว่า ข้อมูลทางวิชาการ และคณบดีจากคณะแพทย์ศาสตร์ หลายสถาบัน ก็ออกมาบอกตรงกัน ว่าการตรวจแบบ RT PCR ได้มาตรฐานที่สุด และผอ.รพ.จุฬาลงกรณ์ ก็ระบุชัดเจน ว่า ที่รพ.ใช้การตรวจหาเชื้อแบบวิธี RT PCR ”

ส่วนการตั้งคณะกรรมการสอบ กรณีมีการประเมินชุด Rapid Test ของบริษัทแห่งหนึ่งผ่าน แต่มีปัญหาการใช้งานจริงที่สเปน ทำให้บริษัทดังกล่าวยกเลิกการนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย นั้น  นพ.โอภาส ย้ำว่า หากเรามีเจตนาทุจริตจริง  คงรีบปล่อยให้มีการตรวจแบบ Rapid Test อย่างกว้างขวาง

แต่ที่ผ่านมา เราทำตรงกันข้าม เพราะยึดหลักการ และวิชาการ เป็นหลัก โดยทราบดีว่า Rapid Test มีข้อจำกัด แม้จะตรวจง่าย โดยเลือด แต่เป็นการตรวจหาภูมิคุ้มกัน ซี่งจะตรวจหาเชื้อเจอ เมื่อคนนั้น ได้รับเชื้อมาแล้ว 14 วัน ไม่เหมือนกับการตรวจหาเชื้อโดย RT PCR ที่ตรวจหาเชื้อโดยตรงแม้เชื้อมีปริมาณน้อย เราทุกคน ทั้งผู้บริหาร และผู้ทรงคุณวุฒิ ขอยืนยัน ถึงความมุ่งมั่น ในการทำสงคราม กับโควิด-19  เพื่อปกป้องประชาชน และประเทศ ด้วยความเป็นมืออาชีพ โปร่งใส ตรวจสอบได้  เราไม่เคยทุจริต และไม่เคยถูกครอบงำ ให้ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

 

 

Avatar photo