Startup

NEA เปิดภาพรวมสตาร์ทอัพไทย พร้อมตั้งเป้าสู่ ‘สตาร์ทอัพเนชั่น’

startup symposium
นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์

สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) จัดงาน “New Startup Symposium” ชี้ประเทศไทยต้องตั้งเป้าสู่การเป็น “สตาร์ทอัพเนชั่น” ผ่านการออกแบบ และความคิดสร้างสรรค์ ด้านกูรูดังในแวดวงสตาร์ทอัพเผย “เสินเจิ้นโมเดล” เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ และผู้ประกอบการไทยรวมถึงภาครัฐควรยกเป็นกรณีศึกษา

เริ่มแล้วกับงานเสวนา New Startup Symposium : The Power of Creativity & Innovation ที่จัดขึ้นโดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) โดยมีการผนึกกำลังกับหลายภาคส่วน เช่น KX Consulting Enterprise, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เพื่อดึงกูรูด้านต่าง ๆ มาให้ข้อมูลในการทำธุรกิจสตาร์ทอัปทั้งในและต่างประเทศอย่างรอบด้าน

โดยตัวเลขของธุรกิจสตาร์ทอัพประเทศไทยในปัจจุบันจากข้อมูลของ NIA ระบุว่า ประเทศไทยมีสตาร์ทอัพแล้วกว่า 1,700 ราย ขณะที่กลุ่มของนักลงทุน (Venture Capitalists นั้นมี 120 ราย โดยในจำนวนนี้เป็น VC ระดับคอร์ปอเรท หรือ CVC ทั้งสิ้น 70 ราย

นอกจากนี้ภายในงานยังมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ในการร่วมกันสนับสนุนผู้ประกอบการยุคใหม่ในทุกระดับ โดยมีความร่วมมือต่าง ๆ อาทิ การแลกเปลี่ยนข้อมูล และแนวโน้มความต้องการในสินค้าและนวัตกรรมจากต่างประเทศ การสร้างระบบนิเวศเพื่อพัฒนาศักยภาพและความสามารถของสตาร์ทอัพให้ก้าวสู่สากลได้ การให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการ การร่วมทำวิจัยและการเผยแพร่ความรู้ผ่านการจัดงานสัมมนา เป็นต้น

นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เผยถึงนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจสตาร์ทอัพของไทยว่า “การดำเนินธุรกิจแบบสตาร์ทอัพ เป็นธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด สามารถสร้างรายได้ได้อย่างมหาศาล เช่น เราได้เห็นแกร็บ สร้างธุรกิจแท็กซี่โดยที่ไม่มีแท็กซี่ของตัวเองแม้แต่คันเดียว หรือ Airbnb ที่กลายเป็นแพลตฟอร์มจองที่พักขนาดใหญ่ทั้งที่ไม่มีห้องพักของตัวเองแม้แต่แห่งเดียว แต่การจะเติบโตได้ระดับดังกล่าวนั้น ธุรกิจสตาร์ทอัพจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีระบบนิเวศน์ที่ได้รับการยอมรับ และมีการร่วมมือ สร้างเครือข่ายร่วมกัน เพื่อใช้ความเก่งของแต่ละฝ่ายให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

ด้านนางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เผยว่า ธุรกิจสตาร์ทอัพที่จะมีศักยภาพได้นั้นต้องประกอบด้วยกุญแจความสำเร็จ 6 ประการ ได้แก่

  • – ต้องมีภาครัฐให้การสนับสนุน โดยมีภาคเอกชนและประชาสังคมเป็นกลไกในการขับเคลื่อนตามนโยบาย
  • – ต้องมีการปรับเปลี่ยนโมเดลการทำงานให้ตอบสนองกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพมากขึ้น
  • – ต้องปลดล็อกข้อจำกัดในอดีตเรื่องการประกอบธุรกิจแบบเก่า
  • – ต้องสร้างระบบนิเวศที่ดีและเหมาะสม เพื่อสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพ
  • – ต้องเร่งแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการแข่งขันทางการค้าให้มีความคล่องตัวมากขึ้น
  • – ต้องปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาให้สอดรับกับธุรกิจสตาร์ทอัพที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ

ต้องทำงานร่วมกัน

startup symposium
นายชาคริต จันทร์รุ่งสกุล

ด้านนายชาคริต จันทร์รุ่งสกุล ผู้ก่อตั้ง FireOneOne อีกหนึ่งวิทยากรที่เข้าร่วมในเวทีสัมมนาเผยว่า ความจำเป็นของภาคธุรกิจในการคิดเรื่องการเติบโตเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะในการเติบโตของตลาดนั้นมีโอกาสพบคู่แข่งจากทั้งในและต่างประเทศเข้ามาท้าทายได้ตลอดเวลา ดังนั้น ธุรกิจต้องปรับตัว และเตรียมพร้อมรับการแข่งขันตลอดเวลา

“เราไม่สามารถเอากลยุทธ์ในปัจจุบันไปใช้กับในอีก 3 – 5 ปีข้างหน้าได้อีกต่อไป เพราะลูกค้าเปลี่ยน ตลาดเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว”

โดยนายชาคริตยกตัวอย่างเสินเจิ้นโมเดล ที่เมื่อหลายสิบปีก่อนเป็นภาคอุตสาหกรรมที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์สูงมาก ขณะที่ในปัจจุบัน เสินเจิ้นได้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นมณฑลที่ผลิตโดรนได้มากที่สุดในโลก รวมถึงมีการประกาศเปลี่ยนรูปแบบการฉลองปีใหม่จากการจุดพลุเฉลิมฉลองเป็นการแสดงการบินโดรนไปแล้วเรียบร้อย

“เป้าหมายของเสินเจิ้นคือการแซงเยอรมนี ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกาให้ได้ภายในปี 2049 ซึ่งเป็นปีที่ครบรอบการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน 100 ปี และนั่นทำให้หลาย ๆ ประเทศทั่วโลกในวันนี้ต้องหันกลับมามองจีนใหม่ด้วยมุมมองที่ต่างไป สารคดีของ Wired ถึงกับบอกว่า It’s Time to Copy China ทุกวันนี้ นโยบายที่จีนนำมาใช้มีหลากหลาย เช่น Zero-Labor Factory ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้เกิดการนำโรโบติกส์ไปใช้กับกิจการ หรือการสร้าง Dark Factory นั่นก็คือโรงงานที่ไม่มีคนอยู่เลย ทำให้ไม่ต้องเปิดไฟ เหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ทางรอดสำหรับผู้ประกอบการไทยในตอนนี้ไม่มีมากนัก ดังนั้นเราต้องปรับตัวให้เร็ว, หาทาง Disruption ด้วยการเปิดเกมส์ใหม่ให้เร็วกว่า และมองไปถึงตลาดใหม่ ว่ามีอะไรที่จำเป็นบ้างนั่นเอง

 

Avatar photo