Finance

‘ก.ล.ต.’ ปรับเกณฑ์รายงานการถือหลักทรัพย์ ดีเดย์ 15 ส.ค.นี้

ก.ล.ต.2

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกประกาศหลักเกณฑ์การจัดทำรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าฉบับใหม่ ขยายขอบเขตผู้มีหน้าที่ต้องรายงานและประเภทหลักทรัพย์ให้ครอบคลุม เพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลที่ชัดเจน สามารถติดตามความเคลื่อนไหวในการถือหลักทรัพย์ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทจดทะเบียนได้ดียิ่งขึ้น และอำนวยความสะดวกการรายงานผ่านระบบออนไลน์ได้ เริ่ม 15 สิงหาคม 2561 นี้ ซึ่งจะทำให้ผู้ลงทุนสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของการถือหลักทรัพย์ของผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทจดทะเบียนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2559 ได้ขยายขอบเขตของการรายงานการถือหลักทรัพย์ให้กว้างและครอบคลุมมากขึ้น ทั้งในเรื่องขอบเขตของผู้มีหน้าที่ต้องรายงาน และประเภทหลักทรัพย์ให้ครอบคลุมมากขึ้น ก.ล.ต. จึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลการถือหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อให้สอดรับกับกฎหมายดังกล่าว ซึ่งสรุปได้ ดังนี้

ผู้มีหน้าที่รายงานได้แก่ กรรมการ ผู้บริหาร ผู้สอบบัญชี และในกรณีบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ระหว่างฟื้นฟูกิจการให้รวมถึงผู้บริหารชั่วคราว ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน และผู้บริหารแผนชั่วคราว นอกจากนี้ ในการรายงานของบุคคลกลุ่มดังกล่าว ต้องรวมถึงคู่สมรสหรือผู้ที่อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และนิติบุคคลซึ่งบุคคลดังกล่าวถือหุ้นรวมกันเกินกว่าร้อยละ 30 ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดและมีสัดส่วนการถือหุ้นมากที่สุดในนิติบุคคลนั้นด้วย

ประเภทหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ต้องรายงาน ได้แก่ หุ้น/WARRANT/NVDR/TSR/DW ที่มีหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนเป็นปัจจัยอ้างอิง (ไม่รวม DW ที่มีดัชนีหลักทรัพย์เป็นปัจจัยอ้างอิง) / หุ้นกู้แปลงสภาพ / หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนเป็นปัจจัยอ้างอิง และซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า : single stock futures

ทั้งนี้ ให้รายงานภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่มีการซื้อ ขาย โอน หรือรับโอนหลักทรัพย์ โดยเริ่มรายงานผ่านระบบ online ได้ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2561 เป็นต้นไป

นายประกิด บุณยัษฐิติ รองเลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าวว่า การปรับเกณฑ์การรายงานดังกล่าว จะช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของการถือหลักทรัพย์ของผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทจดทะเบียนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากบุคคล กลุ่มดังกล่าวเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับบริษัทจดทะเบียน และสามารถเข้าถึงข้อมูลสำคัญของบริษัทที่ตนมีอำนาจหน้าที่ก่อนบุคคลทั่วไป การเคลื่อนไหวไม่ว่าจะเป็นซื้อ ขาย โอน หรือรับโอนหลักทรัพย์ถือเป็นสัญญาณการลงทุนที่สำคัญ

เนื่องจากการปรับเกณฑ์การรายงานดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทจดทะเบียน ซึ่งครอบคลุมบุคคลจำนวนมาก ก.ล.ต. จึงได้มีการเปิดรับฟังความเห็นจากสาธารณชน 2 ครั้ง ในช่วงปลายปี 2559 และกลางปี 2561 เพื่อให้หลักเกณ์มีความยืดหยุ่นเพียงพอ ไม่ก่อให้เกิดภาระกับผู้ปฏิบัติมากจนเกินไป ในขณะที่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของกฎหมายได้

นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังได้มีการเตรียมความพร้อมโดยเชิญผู้แทนบริษัทจดทะเบียน มารับฟังสรุปแนวทางและตอบข้อซักถามเกี่ยวกับการรายงานดังกล่าว จำนวน 8 ครั้ง ในเดือนกรกฎาคม และ สิงหาคม 2560 มีบริษัทที่เข้าร่วม 532 บริษัท จำนวน 860 คน อีกด้วย

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK