COVID-19

ไทย สูญเสีย ‘บุคลากรการแพทย์’ 3 ราย สู้โควิด-19 และติดเชื้อเพิ่มอีก 13 ราย

สูญเสีย “บุคลากรการแพทย์” 3 ราย รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์-รพ.ลำพูน-อสม.พิษณุโลก สธ.ประกาศแสดงความเสียใจ ยกย่องทำหน้าที่อย่าง “กล้าหาญ”  ศบค.รายงานวันนี้ บุคลากรติดเชื้ออีก 13 ราย จากผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งหมด 51 ราย หมอย้ำตัวเลขติดเชื้อลดลง แต่ยังวางใจไม่ได้ ย้ำสถิตติดเชื้อกันเองในบ้านสูงสุด ทั้งกรุงเทพ และต่างจังหวัด ชี้ในบ้านก็ต้องสร้างเว้นระยะห่างกัน 

report01 0

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า วันนี้ ( 6 เม.ย.) พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 51 ราย ยอดผู้ป่วยสะสม 2,220 ราย หายกลับบ้านแล้ว 793 ราย ตัวเลขวันนี้แม้ ผู้ติดเชื้อ จะเหลือ 51 ราย แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังมีขึ้น และลง ยังไม่เห็นภาพชัดเจน ขอให้ทุกคนถือว่าสถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง เพราะจากการสอบถามไปที่กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ยังมีกลุ่มเสี่ยงรอสอบสวนโรคอยู่จำนวนหนึ่ง

สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ ประกอบด้วย

  • กลุ่มพิธีกรรมทางศาสนา 3 ราย
  • กลุ่มสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ 22 ราย
  • เป็นคนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศ 1 ราย
  • เป็นคนต่างชาติเดินทางมาประเทศไทย 1 ราย
  • กลุ่มสัมผัสผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 2 ราย
  • มีอาชีพเสี่ยง เช่นทำงานในสถานที่แออัด หรือทำงานใกล้ชิดชาวชาติต่างชาติ 5 ราย
  • บุคลากรด้านการแพทย์ และสาธารณสุข 13 ราย
  • อยู่ระหวางการสอบสวนโรค 7 ราย

สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อสูงถึง 13 ราย เป็นตัวเลขสะสม และมายืนยันพร้อมกัน มาจากรพ.เอกชน 11 ราย โดยกลุ่มบุคลากรการแพทย์ถือเป็นกลุ่มเสี่ยง มีทั้งติดจากการดูแลผู้ป่วย และมีกิจกรรมรับประทานอาหารร่วมกัน ยืนยันว่าทุกคนเสี่ยง ต้องดูแลอย่างดี

report03 3

สำหรับผู้เสียชีวิต 3 ราย รวมยอดสะสม 26 ราย ประกอบด้วย

รายแรก เป็นชายไทยอายุ 28 ปี เป็นพนักงาน ทำงานที่กรุงเทพ พบเพื่อนร่วมงานของภรรยาติดโควิด-19 เริ่มป่วย 27 มีนาคม มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ รักษาที่รพ.เอกชน อาการไม่ดีขึ้น จึงไปรักษาที่รพ.สมุทรปราการ ต่อมา 4 เมษายน ไข้สูง 39.2 องศา ออกซิเจนในเลือดลดลงเหลือ 55 ส่งต้วไปรักษาที่รพ.เอกชนในกรุงเทพ เก็บตัวอย่างตรวจผลออกมาวันที่ 4 เมษายน ติดเชื้อโควิด-19 และเสียชีวิตในวันเดียวกัน

รายที่สอง เป็นชายไทยอายุ 51 ปี ทำธุรกิจส่วนตัว มีประวัติคนในครอบครัวติดเชื้อโควิด-19 โรคประจำตัว คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะอ้วน ป่วยเมื่อวันที่ 28 มีนาคม รักษาตัวที่รพ.เอกชน แรกรับ มีอาการไอ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศรีษะ หนาวสั่น รักษาตัววันที 29 มีนาคม ต่อมาวันที่ 31 มีนาคม เข้ารับการรักษาตัวอีกครั้ง ที่รพ.เอกชน ด้วยอาการปวดกล้ามเนื้อ หายใจลำบาก ออกซิเจนน้อยลง เมื่อเอ็กซ์เรย์ปอด พบว่าเป็นปอดอักเสบรุนแรง และผลออกมาเป็นโควิด-19 เมื่อวันที่ 2 เมษายน และเสียชีวิตวันที่ 4 เมษายน

รายที่ 3 เป็นหญิง อายุ 29 ปี อาชีพค้าขาย มีโรคประจำตัว คือ โรคเบาหวาน และมีภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูง ร่วมกับภาวะเลือดเป็นกรดประวัติเป็นเบาหวาน ไปเล่นการพนันหลายแห่งในกรุงเทพ เจอคนจำนวนมาก วันที่ 29 มีนาคม รักษาตัวที่รพ.เอกชน ด้วยอาการหายใจหอบเหนื่อย น้ำตาลในเลือดสูง เป็นปอดอักเสบรุนแรง ส่งตรวจเสมหะ และสารคัดหลั่งโพรงจมูก ผลเป็นไวรัสโควิด-19 ต่อมา เสียชีวิตวันที่ 5 เมษายน

ทั้งนี้จะพบว่าทั้ง 3 รายที่เสียชีวิต อายุต่ำกว่า 60 ปี พิสูจน์ได้ว่าทุกอย่างเสี่ยง โดยเฉพาะผู้มีโรคประจำตัว ขอแสดงความเสียใจกับญาติของผูป่วยทุกท่าน

สำหรับอายุที่ต้องเฝ้าระวัง ยังเป็นช่วงอายุ 20-29 ปี ที่มีการติดเชื้อสูงสุด ถือเป็นกลุ่มแพร่เชื้อ

6Apr Map Newcases

ส่วนแผนที่แสดงจังหวัดผู้ป่วยใหม่วันนี้ 51 ราย เกินครึ่ง หรือ 27 รายอยู่ในพื้นที่ กรุงเทพ ส่วนนนทบุรี และภูเก็ต จังหวัดละ 4 ราย ส่วนยอดผู้ป่วยสะสม กระจายทั่วประเทศ กรุงเทพ ยังสูงสุด แตะ 1,051 ราย นนทุบรี 143 ราย ภูเก็ต 135 ราย มี 11 จังหวัด ยังไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อ ประกอบด้วย กำแพงเพชร ชัยนาท ตราด น่าน บึงกาฬ พังงา พิจิตร ระนอง สตูล สิงห์บุรี อ่างทอง

report04 1

ข้อมูลแนวโน้มผู้ป่วยกรุงเทพ และต่างจังหวัด ทรงตัว แต่วางใจไม่ได้ เพราะยังมียอดผู้ติดเชื้อขึ้นๆลงๆ ต้องติดตามหลังประกาศเคอร์ฟิวว่า จากมาตรการนี้ผลจะเป็นอย่างไร หากไม่ดีขึ้น ก็จะมีมาตรการของศูนย์ฯ ที่จะประกาศต่อไป อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีเคอร์ฟิว 24 ชม. เพราะเราเพิ่งประกาศเคอร์ฟิวเวลา 22.00-04.00 น. หรือ 6 ชม.ไป ซึ่งทุกคนกำลังปรับตัว ให้เวลาดูแลตัวเอง หากทุกคนทำได้ ตัวเลขติดเชื้อใหม่ลดง มาตรการอื่นๆก็ไม่จำเป็นต้องมี หากยังเพิ่ม แสดงว่ามาตรการที่มีไม่พอ อาจต้องปรับเพิ่มมาตรการ แต่วันนี้ยังไม่มีเคอร์ฟิว 24 ชม.แน่นอน

ทางด้านสถิติข้อมูลผู้ปวยมกราคม – 4 เมษายน ในกรุงเทพ พบว่า ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ คือ สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยัน 37% หรือ 288 ราย เป็นคนในบ้านเดียวกันถึง 35% หรือ 102 ราย ต่างจังหวัดก็เช่นเดียวกัน ติดเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิดกันถึง 42% หรือ 340 ราย โดยติดจากการร่วมบ้านเดียวกัน 157 ราย คิดเป็น 49%

ดังนั้นต้องขอย้ำว่า การแสดงความรักในบ้านต้องเว้นระยะห่าง คนกลับมาจากข้างนอก ต้องทำความสะอาดร่างกายก่อน ทั้งอาบน้ำ สระผม

report05 ผู้ป่วยจำแนกตามที่มา

ส่วนการป้องกันจากการนำเชื้อมาจากต่างประเทศ เราต้องช่วยกันต่อไป เป็นเหตุผลของการ State Quarantine ที่ทุกคนต้องทำความเข้าใจ และร่วมมือ จากสถิติ 7 วันล่าสุด พบว่า กลุ่มเสี่ยงกลุ่มนี้ เป็นชาวต่างชาติไม่เกิน 10 รายต่อวัน ส่วนใหญ่เป็นยุโรป ส่วนคนไทยพบ 10-25 รายต่อวัน จากยุโรป ปากีสถาน อินโดนิเซีย

ทางด้านผลของมาตรการเคอร์ฟิว 22.00 ถึง 04.00 น. พบว่า มีผู้ฝ่าฝืนออกนอกเคหะสถาน ทั่วประเทศ 919 ราย มารวมกลุ่มชุมนุม มั่วสุม เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคอีก 79 ราย แม้ประกาศเคอร์ฟิว แต่บางคนไม่ร่วมมือ ต้องขอให้ความร่วมมือ ถ้าไม่ทำ ก็จะมีการตักเตือนดำเนินการไปแล้ว 215 คน และมีการดำเนินคดี 708 คน ปัจจุบันมีจุดตรวจ 836 จุด กำลังเพิ่มเป็น 922 จุด

สำหรับตัวเลขคนไทยตกค้าง ทางกระทรวงการต่างประเทศดูแลอย่างดี รวม 48 ราย ได้รับการดูแลที่สนามบินต่างๆ จากสถานทูต แต่อย่างไรก็ตามในภาวะเช่นนี้ ความไม่สะดวกเกิดได้แน่นอน เพราะเราจำเป็นต้องจัดระบบ โดยตัวเลขการเดินทางจากต่างประเทศยังมีอยู่ ขณะนี้มีเที่ยวบินมาจากอินโดนิเซีย ที่ได้ประสานงานมาก่อนแล้ว 111 ราย ที่จะมาลงที่สนามบินหาดใหญ่ เวลา 16.00 น. ทางศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน หรือ  EOC ได้เตรียมพร้อมแล้ว ที่จะรับคนไทยเข้าไปสู่ State Quarantine

อย่างไรก็ตามย้ำว่า คนไทยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ต้องมีใบรับรองแพทย์ หนังสือรับรองการเดินทาง ส่วนคนต่างชาติ ยังห้ามอยู่ ยกเว้นบางกรณี เช่น คณะทูต หรือคนที่มีใบอนุญาตทำงาน หรือ  Work Permit แต่ก็น้อยมาก แต่ก็ต้องมาขออนุญาตก่อน ต้องมี Fit To fly ที่ออกภายใน 72 ชม.ก่อนเดินทาง เมื่อมาลงสนามบิน ต้องกรอกแบบฟอร์มต. 8 และติดตั้งแอปพลิเคชั่นของ AOT เพื่อติดตามทุกคน

สำหรับพื้นที่รองรับ State Quarantine ในต่างจังหวัด ทางปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้สังการให้ผู้ว่าราชการจังหวัด จัดพื้นที่รองรับ ก็ขอให้ทุกคนเข้าใจ และร่วมมือ และหลังจากนี้ ก็จะมีนักเรียน AFS จากสหรัฐ จำนวนหนึ่งเข้ามาอีก บางคนก็เปลี่ยนเที่ยวบิน สายการบิน อย่างไรก็ตามก็จะต้องดำเนินการตามมาตรการที่วางไว้ โดยขอให้คนไทยติดต่อสถานทูตทุกแแห่งทั่วโลก ย้ำว่าการติดขัดต้องมีบ้างในช่วงนี้

ทั้งนี้ในวันเดียวกันนี้่ที่ศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศขอแสดงความเสียใจบุคลากรทางการแพทย์ที่เสียชีวิต 3 ท่าน จากรพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ รพ.ลำพูน และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) จังหวัดพิษณุโลก

917349

นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ ทำหน้าที่ตัวแทนกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัว และเพื่อนร่วมงาน การสูญเสียของประชาชน และบุคลากรทางการแพทย์ถือเป็นความสูญเสียของประเทศชาติ ท่ามกลางภาวะระบาดอย่างรุนแรง การขาดแคลนเวชภัณฑ์ ความเหน็ดเหนื่อย หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย

แม้สถานการณ์ของไทยจะไม่รุนแรงเท่าอิตาลี ที่มีบุคลากรการแพทย์ เสียชีวิตถึง 80 ราย  แต่บุคลากรของเราทุกคนก็ทำอย่างเต็มที่ ด้วยความกล้าหาญ โดยทุกคนทำสุดความสามารถ เขาไม่ได้มาทำงานเฉยๆ แต่มารบ เพราะมีข้าศึกมากมาย เป็นหน้าที่ของคนไทย ต้องช่วยบุคลากรรบ ทั้งนี้ความเจ็บปวด ความสูญเสียไม่ได้จางหายไป เราต้องเดินหน้าต่อไป และเราจะดูแลผู้สูญเสียอย่างสุดความสามารถ

กระทรวงสาธารณสุข ขอบคุบุคลากรทุกคน ที่ปฏิติงานด้วยความกล้าหาญ และเสียสละ ไม่ย่อท้อ และยังคงมุ่งมั่น ทำเพื่อประชาชน และประเทศ ให้ผ่านพ้นสถานการณ์วิกฤติไปได้ ขอบคุณครอบครัว และคนใกล้ชิด ที่เป็นเหมือนลมใต้ปก ที่คอยให้กำลังใจ และสนับสนุนบุคลากรให้มีแรงใจที่ดีในการปฏิบัติหน้าที่ต่อสู้โรคระบาด และกระทรวงสาธารณสุข ขอบคุคนไทย ที่ยังร่วมแรง ร่วมใจสามัคคี ให้กำลังใจบุคลากร ขอให้ท่านหมั่นดูแลสุขภาพตัวเอง ทำตามคำแนะนำ เราต้องเปลี่ยนความสูญเสียเป็นพลัง โดยทุกคนต้องร่วมมือ ลดความสูญเสียให้เกิดน้อยที่สุด และเราจะผ่านเหตุการนี้ไปด้วยกัน

TH UpDate021

 

Avatar photo