COLUMNISTS

การเมืองสามก๊ก กับจุดยืนพรรคประชาธิปัตย์

Avatar photo
139

การเคลื่อนตัวของการเมืองไทยในขณะนี้ จะได้เห็นกิจกรรมของพรรคเกิดใหม่มากกว่าพรรคเก่า เนื่องจากตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 53/2560 เปิดโอกาสให้พรรคใหม่จัดประชุม หาสมาชิกพรรคได้ แต่ห้ามพรรคการเมืองเดิมดำเนินการหาสมาชิก เราจึงได้เห็นการขับเคลื่อนของพรรคใหม่กันอยู่เป็นระยะ

pim
ภาพ: แนวหน้า

โดยอาจจะแบ่งพรรคเกิดใหม่ได้เป็นสามลักษณะ คือ

  1. พรรคที่ประกาศชัดเจนว่าจัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เช่น พรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกมองว่ามีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นกุนซืออยู่เบื้องหลัง พรรคประชาชนปฏิรูป ของนายไพบูลย์ นิติตะวัน และพรรคพลังชาติไทย ของพล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ เป็นต้น
  2. พรรคที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคเพื่อไทย เช่น พรรคอนาคตใหม่ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และพรรคประชาธรรมไทย ของนายพิเชษฐ์ สถิรชวาล เป็นต้น
  3. พรรคการเมืองที่ไม่ได้ประกาศชัดเจนว่าจะสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ แต่มีไมตรีให้ เช่น พรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่เพิ่งได้ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เป็นหัวหน้าพรรค และ พรรคพลังพลเมือง ของนายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ เป็นต้น

ในขณะที่ภาพการเมืองปัจจุบันเปลี่ยนจากสองขั้ว เป็นลักษณะ “สามก๊ก” ตามที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้วิเคราะห์ไว้คือ

  1. พรรคการเมืองที่อิงอยู่กับตัวนายทักษิณ ชินวัตร หรือมีแนวทางคล้ายคลึงกับนายทักษิณ
  2. พรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาหรือแสดงท่าทีว่าพร้อมจะสนับสนุนผู้มีอำนาจในปัจจุบัน
  3. พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ต่อสู้กับระบอบทักษิณมาโดยตลอด แต่ไม่ได้มีแนวคิดที่สอดคล้องกับแนวทางของ คสช.ในหลายเรื่อง โดยเฉพาะแนวคิดเบื้องหลังการบริหารของรัฐบาลปัจจุบันที่เน้นการรวมศูนย์ และแนวคิดแบบราชการเป็นตัวกำหนดนโยบาย แต่พรรคประชาธิปัตย์มีแนวทางที่เป็นของตัวเอง ต่างจากทั้งพรรคเพื่อไทยและคสช.

ทางเลือกของประชาชนผ่านการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น จึงต้องมองให้ทะลุว่า อยากเห็นบ้านเมืองไปในทิศทางไหน ก่อนที่จะลงคะแนนให้กับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นพรรคเกิดใหม่หรือพรรคเก่า โดยสามารถตัดสินใจได้ไม่ยาก เพราะมีภูมิหลังทั้งการบริหารประเทศ และพฤติกรรมของการเมืองทั้งสามก๊กให้เห็นเป็นฐานข้อมูลอยู่แล้ว

72 ปีของพรรคประชาธิปัตย์ ทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านมากกว่ารัฐบาล พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นนักการเมืองมืออาชีพ ที่พร้อมทำหน้าที่รับใช้ประชาชนไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ใช่พรรคการเมืองที่เกิดขึ้นเพื่อช่วงชิงอำนาจรัฐหรือใฝ่ฝันจะเป็นแต่เพียงรัฐบาลเท่านั้น

ทิศทางของพรรคหลังปลดล็อคการเมืองคือการแสดงให้ประชาชนเห็นถึง “ประชาธิปัตย์ยุคใหม่” ที่พร้อมสร้างใหม่สังคมไทย ซึ่งไม่ใช่การรื้อทิ้ง แต่เป็นการต่อยอดสิ่งที่พรรคได้เคยทำไว้บนหลักคิด “ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน” อันจะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง

การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นจึงเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญที่จะชี้ชะตาประเทศไทยว่า จะขับเคลื่อนไปทิศทางใด โดยต้องเริ่มต้นจากการทำหน้าที่อย่างเที่ยงธรรมของ กกต.เพื่อจัดการเลือกตั้งให้เสรี และเป็นธรรม ที่ทุกฝ่ายยอมรับได้

จากนั้นประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินในคูหา เลือกกันชัด ๆ ว่าจะเอาแนวทางแบบ คสช. ทักษิณ หรือประชาธิปัตย์

  • ถ้าเลือกแนวทางแบบทักษิณ ก็ขอให้ย้อนดูบทเรียนตลอดกว่าสิบปีที่ผ่านมาว่า อยากให้ประเทศซ้ำรอยเดิม ได้รัฐบาลที่ขาดธรรมาภิบาล จนนำไปสู่การรัฐประหารถึงสองครั้งหรือไม่
  • ถ้าเลือกแนวทางแบบ คสช. ก็จะได้ทิศทางการบริหารประเทศที่ใช้ระบบราชการเป็นศูนย์ เพิ่มอำนาจรัฐลดอำนาจประชาชน เป็นสิ่งที่จะปฏิรูปประเทศไทยได้จริงหรือไม่
  • ถ้าเลือกแนวทางพรรคประชาธิปัตย์ ก็จะชูการปฏิรูปประเทศ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมบนหลักคิด “ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน” ดังที่กล่าวในข้างต้น

ในเรื่องของอำนาจนั้น หากหลักการประชาธิปไตยเป็นการให้ความสำคัญในอำนาจของประชาชน และการถ่วงดุลของอำนาจ ขอวิเคราะห์แนวทางชี้นำไว้ว่า หากประชาชนเลือกพรรคที่รวบอำนาจ หรือรวมอำนาจเพื่อหวังความเด็ดขาดในการตัดสินใจ อำนาจย่อมอยู่รวมที่รัฐคือทพรรคที่จัดตั้งรัฐบาลนั้น

แต่หากประชาชนเลือกพรรคที่เลือกการกระจายอำนาจ ดุลอำนาจ อาจมีความขัดแย้งและอาจใช้เวลา แต่อำนาจนั้นจักย่อมอยู่ใกล้ในมือประชาชน

วันนี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ชูธงรบประกาศชัดว่า ศึกเลือกตั้งครั้งหน้าจะสู้เพื่อให้ได้เป็นรัฐบาล แต่ถ้าประชาชนไม่สนับสนุนก็พร้อมยอมรับการเป็นฝ่ายค้านทำหน้าที่ตรวจสอบเพื่อรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดินด้วยเคารพในอำนาจของประชาชนนั่นเอง