COVID-19

‘หมอประสิทธิ์’ วอนกลุ่มเสี่ยง ‘อย่าปกปิดประวัติ’ ให้บุคลากร มีโอกาสป้องกันตนเอง

“หมอประสิทธิ์” ศิริราช วอนกลุ่มเสี่ยง “อย่าปกปิดข้อมูล” ให้บุคลากรการแพทย์  ป้องกันตนเอง หลังต้องถูกกักตัวหลายสิบคน เหตุคนไข้ปกปิดประวัติ ซ้ำเติมปัญหาขาดบุคลากร ย้ำแนวทางที่ดีที่สุด  ต้อง “อยู่บ้าน” ลดจำนวนผู้ติดเชื้อ ด้านหมอแก้ว ประสานเสียง ขอ “เว้นระยะห่างทางสังคม” เข้มข้น เหตุไทยอยู่ในระยะแพร่  เผยเคล็ด “ถามตัวเองทุกครั้งก่อนออกจากบ้านว่า “จำเป็นหรือไม่” ?

thumbnail 49 ตัด 1

ยอดผู้ติดเชื้อในประเทศไทย ล่าสุดวันนี้ (3 เม.ย.) มีผู้ป่วยเพิ่ม 103 ราย ส่งผลให้มียอดผู้ป่วยสะสม 1,978 คน สถานการณ์ที่มีผู้ป่วยเกินหลักร้อยต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

แม้ว่าผู้เสียชีวิตของไทย จะต่ำกว่าหลายประเทศในอาเซียน หรือ 19 ราย แต่ก็สูงขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา และจะสูงขึ้นอีก ถ้าคนไทยประมาท ไม่เปลี่ยนพฤติกรรม ย้ำว่าตอนนี้รพ.ที่รับดูแล ผู้ป่วยโควิด-19 มีคนไข้เพิ่มขึ้นมาก การขยายเตียง ขยายตึกนั้น สามารถทำได้

แต่การจะผลิตหมอ พยาบาล ให้เท่าจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มเป็นหลักร้อยทุกวัน ทำไม่ได้ ประกอบกับสถานการณ์ปัจจุบัน อุปกรณ์การแพทย์ ทุกประเทศแย่งกันซื้อ จึงขาดแคลน มีเท่าไหร่ก็ไม่มีทางพอ แนวทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือ ต้อง “ลดจำนวนผู้ติดเชื้อ” ด้วยวิธี “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น ล้างมือ สวมหน้ากากผ้า และรักษาระยะห่างทางสังคม กรณีเป็น กลุ่มเสี่ยงต้องรายงานตัว ต้องแจ้งข้อมูล

ทั้งนี้ขอร้องอย่าปกปิดข้อมูล บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับโควิด -19 อยู่บนความเสี่ยง และทุกคนพร้อมที่จะเสี่ยง แต่คนเหล่านี้ก็เป็นคนธรรมดาที่มีความกลัว ไม่ได้กลัวตัวเองจะติดเชื้อ แต่กลัวจะเอาเชื้อกลับบ้านไปติดคนในครอบครัวคนที่รัก หากเรา เซฟเค้า ก็เท่ากับเซฟเรา และเซฟชาติในที่สุด

หากเราเป็นคนโชคร้ายที่ติดเชื้อ จงหยุดเชื้อ หยุดความโชคร้ายไว้ที่ตัวเรา โควิด -19 รักษาได้ ขอแค่อย่าปกปิด อย่าแพร่เชื้อ ไม่เพียงบุคลากรทางแพทย์จะเสี่ยง แต่คนที่คุณรักจะเป็นอันตรายด้วย

“ผู้มีความเสี่ยง สามารถ แสดงตัวรับการตรวจรักษาได้ ยินดีดูแลท่าน เรามีเหตุการณ์ ที่ต้องเสียบุคลากร เพื่อไปกักตัว 40-50 คน ให้กับผู้ป่วยที่ปิดบังว่ามีปัจจัยเสี่ยง ถามแล้วถามอีก ก็ปฏิเสธ แต่ผลตรวจเป็นบวก จึงค่อยสารภาพ และบุคลากรการแพทย์ คนใดคนนึงเกิดมีเชื้อเป็นบวก คนที่ทำงานกับเค้า อีกหลายสิบคน ต้องโดนกักตัวหยุดงาน ในขณะที่บุคลากรก็ขาดแคลน “

ทางด้าน กรณีการให้ผู้ติดเชื้อที่อาการดีขึ้นกลับไปอยู่ที่อยู่ในชุมชนนั้น มีกระบวนการคัดกรอง ตรวจสอบมาตรฐาน จนแน่ใจว่าสถานที่ที่ย้ายไปอยู่ มีระบบจัดเก็บ และควบคุมปัจจัยโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งเสื้อผ้า อาหาร ขยะ แน่ได้ใจว่าจะไม่แพร่กระจายเชื้อ เพียงรอกลับบ้าน ให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันกำจัดไวรัสออกไป หากให้กลับบ้านได้ ก็แสดงว่าปลอดภัยแล้ว

” อย่ารังเกียจเลย เพราะเราคือคนไทยด้วยกัน ท่านจะไม่เข้าไปในพื้นที่นั้นก็ไม่ว่า แต่อย่าถึงขนาดต้องไปขับไล่ คิดว่า นี้ไม่ใช่นิสัยคนไทย จงกลับมาเป็นคนไทยที่มีน้ำใจ เอื้ออาทรต่อกัน หากสังคมแสดงออก ต่อพวกเขาด้วยความรังเกียจ คนเหล่านี้จะไม่แจ้งข้อเท็จจริง ให้กับบุคลากรที่ตั้งใจจะดูแลเขา หากเรากลัวติดเชื้อ และผลักไส ให้ผู้ป่วยทุกคนต้องอยู่ใน รพ. จนเกินศักยภาพที่จะรับไหว จะเหมือนลูกโป่งที่กำลังป่องออกๆ และถ้าลูกโป่งนี้ แตกเมื่อไหร่ ประเทศไทยจะแพ้ “

913637

ทางด้าน “หมอแก้ว นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ย้ำว่า สถานการณ์ของประเทศจะขึ้น หากเราทำ 2 เรื่องสำคัญไปพร้อมกัน จึงจะมีประสิทธิภาพ ก็คือ มาตรการด้านสาธาณสุข ขอความมือ ผู้ที่มีไข้ ไอเจ็บคอ มาพบแพทย์ เราจะสอบสวนโรค ตรวจหาผู้สัมผัสให้ได้มากที่สุด และจะตามพวกเขาไปให้ครบ 14 วัน เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาด

และ มาตรการทางสังคม คือ การเพิ่มระยะห่าง ระหว่างบุคคล และสังคม โดยหลายจังหวัด ก็ได้ประกาศมาตรการของตนเอง แต่ต้องเพิ่มความเข้มข้น ให้เต็มที่ที่สุด

ส่วนพายุฤดูร้อน ทำให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น ไม่มีผลสักเท่าไหร่ เพราะสถิติคนป่วยของเรากำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น โรคได้แพร่ไปเร็วแล้ว สิ่งที่จะต้องระวัง และให้ทำเหมือนกันไม่ว่าจะเป็นฤดูไหน คือ ไม่จำเป็นอย่าออกจากบ้าน ให้ถามตัวเองเสมอ ว่า “จำเป็นต้องออกไปหรือไม่” ไม่จำเป็น “อยู่บ้าน” จำเป็นถึง “ไป”

และต้องหลีกเลี่ยงสถานที่แออัด ที่ที่มีคนไอจาม อยู่ห่างคนอื่นอย่างน้อย 2 เมตร ใส่หน้ากากผ้าออกไป ล้างมือบ่อยๆ อย่าเอามือมาโดนบนหน้า กินอาหารร้อน ใช้ช้อนกลางส่วนตัว เป็นคาถาป้องกันโควิด-19 ที่ดีที่สุด และให้ตรวจสอบข่าวสถานการณ์ จากแหล่งที่เชื่อถือได้เท่านั้น รับฟังข่าวอย่างเหมาะสม อย่าให้กังวลมากเกินไป

สำหรับกรณีมีผู้เสียชีวิตในบ้านพัก ในหมู่บ้านที่ปทุมธานีนั้น กระบวนการของทีมสอบสวนจะลงไปดู ว่าเริ่มมีอาการวันไหน จากนั้นสัมภาษณ์ผู้สัมผัส ใครสัมผันผู้ป่วยเมื่อไหร่

ทั้งนี้การเป็นผู้สัมผัส พิจารณาความใกล้ชิด ผู้ป่วย โดยทีมสอบสวนใช้ระยะการสัมผัสผู้ป่วย 1 เมตร เกิน 5 นาที และพูดคุยโดยไม่ป้องกัน ส่วนการใกล้ชิดในห้องปิดกับผู้ป่วยที่มีอาการ  การสัมผัสใกล้ชิด คือ อยู่ในรัศมี 1 เมตร เกิน 15 นาที ส่วนสัมผัสเสี่ยงสูงในชุมชนมีน้อยมาก

นับจากต้นปี ได้มีการสอบสวนโรค กรณีผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย ที่นั่งรถทัวร์ หรือ เครื่องบินลำเดียวกัน มาเป็นเวลานาน ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 100 คน ติดเชื้อ 2-4% ทีมสอบสวนทำงานเร็ว เพื่อดูว่าใครสัมผัสเสี่ยงสูง ประชาชนที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกับผู้ป่วย ทำใจให้สบาย ไม่ต้องเครียด และกังวล โอกาสติดเชื้อไม่สูงมาก

” บ้ำว่าเวลามีผู้เสียชีวิต 1 คน ไม่ได้แปลว่า พื้นที่นั้นจะมีโรครุนแรง ทุกพื้่นที่มีโอกาสเท่าๆกัน และผู้เสียชีวิต อาจเสียชีวิตจากปัจจัยอื่นๆได้ เช่น โรคประจำตัว ต้องดูเป็นรายคน ยืนยันว่าผู้สัมผัสเสี่ยงสูงนอกบ้านน้อย “

ส่วนกรณีที่รพ.เอกชน ไม่ตรวจโควิด-19 ให้ชายคนนั้นตั้งแต่ครั้งแรก เป็นการพิจารณาของแพทย์ ที่เป็นไปตามมาตรฐานการรักษา คือ ต้องมีไข้ มีอาการของทางเดินหายใจส่วนบน และต้องมีประวัติเสี่ยงด้วย ถึงจะตวรจโควิด-19 เพราะแต่ละวันมีคนไข้ที่มีอาการของทางเดินหายใจส่วนบน หรือ ไข้หวัดต่างๆ มากกว่าแสนคน หากตรวจหาโควิด-19 ทั้งหมด ทำได้ยาก เพราะโอกาสเจอไม่สูง แต่หากต่อมา 4-5 วันอาการไม่ดีขึ้น โดยมีอาการไข้ หายใจเร็ว นี่คืออาการปอดอักเสบ ต้องรีบมาพบแพทย์ทันที ปอดอักเสบแบบสาเหตุไม่ได้ แพทย์จะตรวจหาโควิด-19 แน่นอน

Avatar photo