COVID-19

กลุ่มผู้ติดเชื้อ กลับจากต่างประเทศยอดพุ่ง ส่งผลผู้สัมผัสกว่า 3,000 ราย สาเหตุต้อง ‘ชะลอเดินทาง’

สธ.ย้ำมาตรการชะลอการเดินทาง เหตุสถิติ กลุ่มติดเชื้อกลับจากต่างประเทศ ยอดสูงต่อเนื่อง ไม่ได้รับความร่วมมือ แถมปกปิดข้อมูลอาการป่วย ส่งผลให้มีผู้สัมผัสกว่า 3,000 รายแล้ว ย้ำตอนนี้เสี่ยงทุกประเทศ หลังไวรัส COVID-19 ระบาดกว่า 200 ประเทศทั่วโลก 

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า วันนี้มีผู้ป่วยเพิ่ม 104 ราย ยอดสะสม 1,875 ราย หายกลับบ้านเพิ่มอีก 55 ราย รวมเป็น 505 ราย ยังรักษาตัวอยู่รพ. 1,355 ราย

TH UpDate02

เสียชีวิตเพิ่มอีก 3 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 15 ราย เป็นชายไทย อายุ 57 ปี กลับจากปากีสถาน ลงที่สนามบินสุวรรภูมิ ต่อมาเดินทางไปยังสุไหงโกลกโดยรถไฟ และเสียชีวิตบนรถไฟในวันที่ 31 มีนาคม มีโรคประจำตัวคือเบาหวาน และความดันสูง ทำให้จำนวนเจ้าหน้าที่บนรถไฟ 15 ราย ต้องถูกควบคุมโรค

ส่วนราย 2 อายุ 77 ปี ประวัติ เป็นโรคถุงลมโป่งพอง และเบาหวาน มีประวัติสัมผัสผู้ป่วย วันที่ 18 มีนาคม มีอาการไข้ 38 องศาเซลเซียส ไอ เจ็บคอ รักษาตัวที่รพ.ยะลัง จังหวัดปัตตานี อาการแย่ลง และต่อมาเสียชีวิต ในวันที่ 31 มีนาคม ส่วนรายที่ 3 เป็น ชายไทยอายุ 55 ปี อาชีพเป็นพนักงานขับรถสาธารณะ ที่สนามบิน มีประวัติขับรถไปจังหวัดสุรินทร์ และพักอาศัยที่บ้าน โดยไม่ได้ออกไปไหน และกลับกทม.วันที่ 16 มีนาคม เริ่มมีอาการไข้ ไอแห้ง อ่อนเพลีย ไม่มีน้ำมูก เริ่มป่วย 18 มีนาคม รักษาตัวที่คลินิก ต่อมา วันที่ 21 มีนาคม เหนื่อยมากขึ้น รักษาตัวที่รพ.ราชวิถี เมื่อวันที่ 29 มีนาคม และเสียชีวิตวันที่ 1 เมษายน ต้องขอแสดงความเสียใจกับญาติของผู้เสียชีวิต ทุกท่าน

report02 01 0

สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 104 ราย ประกอบด้วย

  • กลุ่มสนามมวย 1 ราย
  • สถานบันเทิง 10 ราย
  • กลุ่มเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนาที่ อินโดนิเซีย 8 ราย
  • กลุ่มที่ใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า 41 รย
  • กลุ่มที่กลับจากต่างประเทศ เป็นคนไทย 11 ราย ต่างชาติ 3 ราย
  • สัมผัสผู้เดินทางจากต่างประเทศ 2 ราย
  • ไปสถานที่ชุมชน 1 ราย
  • สัมผัสชาวต่างชาติ 8 ราย
  • บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขอีก 2
  • อื่น 9 ราย
  • รอผลการสอบสวนโรค 8 ราย

สำหรับแนวโน้มภาพรวม แม้ผู้ป่วยรายใหม่ จะน้อยกว่าเมื่อวาน แต่ยังเกิน 100 ราย ทางนายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วง ต้องการให้ลดลงมากกว่านี้

report05 011

ส่วนพื้นที่ที่พบผู้ป่วยรายใหม่ ในกรุงเทพมีแนวโน้มลดลง แต่จังหวัดอื่นๆ ช่วง 3-4 วันนี้ ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้น ต้องหาสาเหตุต่อไป โดยยอดผู้ป่วยวันนี้ 104 ราย อยู่ในกรุงเทพ  30 ราย ภูเก็ต 11 ราย สมุทรปราการ 9 ราย เชียงใหม่ 4 ราย การที่ตัวเลขแต่ละจังหวัดเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชน ในจังหวัดนั้นๆเป็นสำคัญ

ในพื้นที่เชียงใหม่นั้น เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ เกิดจากกลุ่มสัมผัส เป็น ดีเจ ทำงานในหลายผับ แม้เราจะปิดสถานที่เสี่ยงไปเมื่อวันที่ 22 มีนาคม แต่มีระยะฟักตัวของโรค 5-7 วัน จึงยังพบผู้ป่วย ขณะที่จังหวัดอุตรดิตถ์ สระแก้ว ชลบุรี เชื่อมโยงกับชาวต่างชาติ และเป็นผู้เดินทางกลับมาจากกรุงเทพ

2Apr

ส่วนจังหวัดยะลา ปัตตานี ยังมียอดผู้ป่วยสูง เพราะกลับจากพิธีกรรมทางศาสนา ที่อินโดนิเซีย ดังนั้นจึงต้องเน้นว่า พิธีรกรรมมีส่วนสำคัญ เพราะ เป็นแหล่งชุมนุม ส่วนยอดผู้ป่วยที่ภูเก็ตสูง มาจากกลุ่มทำงานทั้งในสถานบันเทิง ร้านอาหาร ขับรถรับจ้าง เพราะยังมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา 800-900 ราย แม้จะลดลงจากที่เคยเข้ามาหลายพันคน แต่นายกรัฐมนตรี เห็นว่ายังมีจำนวนมาก ต้องควบคุม จึงเป็นที่มาของมาตรการชะลอการเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ในช่วงนี้จนถึง 15 เมษายน

ทั้งนี้หลักการเดินทางได้มีมาตรการมาก่อนหน้านี้แล้ว ตามมาตรการ Fit to Fly ต้องขออนุญาตตั้งแต่ต้นทาง สังเกตอาการ 14 วัน มีใบรับรองแพทย์ก่อนขึ้นเครื่อง และต้องมีการตรวจอุณหภูมิร่างกาย ต้องไม่มีไข้ และตรวจอีกเมื่อถึงสนามบิน แต่ตอนกักตัวที่ประเทศต้นทาง ประเทศต้นทางก็บอกว่า ยากจะมีคนไปกำกับดูแล ระหว่างทาง ก็อาจมีการกินยาลดไข้ เมื่อตรวจไข้ก็ไม่เจอ ผ่านการสแกนเข้ามา ก็ต้องขอร้องให้ declare ตัวเองจะดีกว่า หากมีไข้ เราจะได้ช่วยกันได้ แต่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร จึงต้องออกมาตรการชะลอการเข้ามาในไทย ต้องยอมรับว่าต้องลำบากกัน เพื่อลดการสูญเสียจากการเจ็บป่วย

สำหรับนักเรียนแลกเปลี่ยน AFS  นายกรัฐมนตรี ก็เป็นห่วง อย่างไรก็ตามทางมูลนิธิฯ ตามเด็กได้ทุกคน ขอให้ผู้ปกครองติดต่อไปที่กระทรวงการต่างประเทศ อาจต้องเลื่อนการเดินทางไปสักหน่อย หากกลับมาก็ต้อง State Quarantine เพราะการเดินทางมา ก็อาจติดเชื้อบนเครื่องได้ การอยู่ที่ตั้งในเวลานี้ จึงปลอดภัยที่สุด เพราะทุกเมืองที่อยู่ เขาก็พยายามดูแล ก็ต้องขอให้นิ่งๆไว้ก่อน รอให้สถานการณ์ดีขึ้น

report03 011

” เราเห็นภาพผู้เสียชีวิตบนรถไฟ ซึ่งกลับมาจากต่างประเทศ เป็นบทเรียนที่เราต้องปรับการทำงาน เห็นข้อมูลการกลับมาต่างประเทศของคนไทยหลายกรณี และติดเชื้อกลับมาจำนวนมาก และต้องกักกัน ไปถึงคนอื่นๆ ที่เป็นผู้สัมผัสรวมๆแล้ว กว่า 3,000 ราย ยกตัวอย่างกลับมาจากอิตาลี อังกฤษ รวมไปถึงการกลับมาจากพิธีกรรมทางศาสนาที่อินโดนิเซีย ซึ่งคนถูกกักกัน ชีวิตเขาย่อมเปลี่ยน ไม่รู้ตัวเองป่วยหรือไม่ ทุกคนไม่ควรทำให้เกิดขึ้นกับคนอื่นๆ “

ทางด้านศูนย์แถลงข่าว สถานการณ์โรคไวรัสโควิด-19 ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้ป่วย 104 ราย กลุ่มที่กลับมาจากต่างประเทศ ทั้งไปร่วมพิธีกรรมทางศาสนา ท่องเที่ยว และทำธุรกิจ รวม 22 คน ขณะที่หลายประเทศมีการระบาดรุนแรง

หากรายใด กลับมาจากต่างประเทศ ต้องปฏิติตามคำแนะนำ ของกระทรวงสาธารณสุข และการบินพลเรือน คือ ต้องสังเกตอาการตัวเองก่อนเดินทาง 14 วันก่อน จนแน่ใจว่าไม่ป่วย ค่อยออกเดินทาง และต้องวัดไข้ก่อนขึ้นเครื่อง ใส่หน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ ไม่สัมผัสใกล้ชิดกัน

reportt 1

นพ.โสภณ บอกข้อมูลว่า ใน 22 ราย ที่กลับมานั้น มีบางส่วนขึ้นเครื่อง ทั้งที่รู้ว่าป่วย ถือเป็นอันตรายต่อผู้เดินทางด้วยกัน ทั้งผู้โดยสาร และลูกเรือต่างมีโอกาสติดเชื้อ ขณะเดียวกัน ก็ทำให้ผู้เดินทางท่านนั้น ไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแล ทำให้อาการแย่ลงได้ จึงขอย้ำให้ประชาชนตระหนักในเรื่องนี้ ไม่เดินทางระหว่างเจ็บป่วย

ทั้งนี้การพบกลุ่มผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศป่วยมากขึ้น เพราะมีการติดเชื้อไปกว่า 200 ประเทศแล้ว ทำให้กระทรวงสาธาณสุขเสนอให้เฝ้าระวังกลุ่มนี้ ตั้งแต่ก่อนเดินทางกลับมา โดยให้กักตัว 14 วันก่อน ถ้าไม่ป่วย ไม่มีไข้ จึงขึ้นเครื่องได้ หากป่วยต้องรักษาให้หายก่อน และต้องมีมาตรการเฝ้าระวังผู้เดินทางกลับมาจากต่างประเทศทุกประเทศเหมือนกัน เพราะตอนนี้เราดูยอดติดเชื้อของแต่ละประเทศไม่ได้ เพราะยอดมากน้อย อยู่ที่นโยบายของแต่ละประเทศ

สำหรับกลุ่มสถานบันเทิง ยังคงพบผู้ป่วย เพราะยังมีนักท่องเที่ยวตกค้าง ซึ่งนักท่องเที่ยวเหล่านี้ หลายคนมาพร้อมกับโรคโควิด-19 แล้ว และจะแสดงอาการหลังจากเดินทางมาถึง 1 สัปดาห์ ดังนั้นคนทำงานใกล้ชิดนักท่องเที่ยว ถือว่ามีความเสี่ยงมาก ต้องใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ ทางด้านกลุ่มสนามมวย น้อยลงเหลือ 1 ราย ที่มีประวัติไปชมมวย เริ่มมีอาการป่วยสัปดาห์ที่ผ่านมา นับว่าเป็นกลุ่มที่ควบคุมได้แล้ว หลังจากผ่านมา 3 สัปดาห์

report01 01 1

ทางด้านพื้นที่ต่างๆ พบว่า ในต่างจังหวัด จัดการได้ดี และให้ความมือกันอย่างดีมาก แม้จะมีผู้ป่วยเพิ่ม แต่ก็เป็นส่วนน้อย ยังคงพบผู้ป่วยในกรุงเทพ 50% อีก 50% อยู่ในต่างจังหวัด สำหรับผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น ก็เป็นผลจากการติดเชื้อเมื่อ 2-3 สัปดาห์ก่อน

รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค เสริมว่า สำหรับผู้ป่วยที่เสียชีวิตบนรถไฟ เราพบว่า เมื่อลงจากสนามผ่านด่านมาหมด แสดงว่าไม่ได้มีไข้ เมื่อขึ้นรถไฟ ก็ไม่ได้ไอมากตลอดเวลา แต่ระหว่างทางมีอาเจียน เริ่มเหนื่อย และเสียชีวิตแบบเฉียบพลัน

ลักษณะแบบนี้ เรามักจะบอกว่าไม่ได้มาจากปอด ปอดอาจมีส่วน แต่ไม่ใช้ปอดเป็นหลัก หากมาจากปอด ต้องหอบเหนื่อยมากจนเดินไปไหนมาไหนไม่ได้ ทั้งนี้จากการตรวจคนไข้ พบเชื้อในปริมาณสูง และอาการค่อนข้างเฉียบพลันมาก เหมือนกับเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจ ประกอบกับท่านนี้ มีประวัติเป็นเบาหวาน ชนิดที่ต้องใช้ฉีดยาคุมระดบน้ำตาล แสดงว่าอาการค่อนข้างเยอะ หรือคุมน้ำตาลไม่ดี เป็นเหตุให้เสียชีวิตได้

ทั้งนี้ในช่วง 2-3 เดือนผ่านมา ผู้ติดเชื้อทั่วโลก ทะลุไปไกลมาก เช้านี้คนติดเชื้อทั่วโลกเกือบ 1 ล้านคนแล้ว เสียชีวิตไป 47,000 คน สหรัฐ นำหน้า โดยมีผู้ป่วย 21,000 คน ส่วนกลุ่มในเอเชีย ติดเชื้อหลักพัน สำหรับประเทศไทย แม้เราจะมีผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่เทียบแล้ว ยังไม่หนักหนาสาเหตุ สาเหตุเป็นเพราะ คนไทยใส่หน้ากากในสัดส่วนถึง 92-93% ขณะที่ฝรั่งบางกลุ่มไม่เชื่อเรื่องใส่หน้ากาก นอกจากนี้เรายังจัดให้มีเจลล้างมือทุกจุด

อย่างไรก็ตามขอให้ เราทำมาตรการป้องกันเรื่อง “ระยะห่าง” อย่างเข้มข้น ใส่หน้ากาก และล้างมือ ก่อนเข้าบ้าน เราต้องป้องกันตัวเอง ให้ปลอดภัยที่สุดสำหรับทุกคนในบ้าน ดีกว่าเกิดปัญหา และต้องกักตัวเองกัน 14 วัน ซึ่งถือเป็นเรื่องหนักหนาสาหัส

สำหรับการประมวลภาพผู้ป่วยสะสมจนถึง 2 เมษายน จำนวน 1,875 ราย มีอายุน้อยที่สุด 6 เดือน อายุมากที่สุด 84 ปี อายุเฉลี่ยผู้ติดเชื้อ 40 ปี 

report03 1

Avatar photo