Politics

‘หมอธีระวัฒน์’ ยกเรื่องเล่าจากวอร์ดโควิด สะท้อนหลายมุมมอง!

นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์เฟซบุ๊กข้อความเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในห้องไอซียู ระบุว่า“เรื่องเล่าจากวอร์ดโควิด”

เคสหนักที่โรงพยาบาลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ห้องไอซียูก็ต้องขยายจากที่เตรียมไว้ 4 เตียง ตอนนี้ต้องเตรียมเพิ่มขึ้นเพื่อรับผู้ป่วยได้ถึงเกือบ 20 คน เรากำลังเปลี่ยนตึกทั้งตึกเป็นไอซียูสำหรับเคส COVID ที่อาการหนัก นอกเหนือไปจากจากวอร์ดปกติ 4 วาร์ด ที่มีคนไข้โควิดแน่นอยู่แล้ว

เมื่อวันก่อนมีเคสนึงใส่ท่อช่วยหายใจ เพราะปอดอักเสบรุนแรง ตอนเช้าไปราวน์กับเรสสิเดนท์ รู้ว่าคนไข้เป็นคนขับแท็กซี่ผู้หญิงอายุสี่สิบปี น่าจะติดจากการสัมผัสนักท่องเที่ยว ฉุกคิดขึ้นมาได้ว่าเราไม่ค่อยเห็นผู้หญิงมาขับรถรับจ้าง เลยให้เรสสิเดนท์รีบโทรไปถามครอบครัวว่า มีปัญหาอะไรบ้างมั้ย ได้ความว่าตั้งแต่คนไข้มาอยู่โรงพยาบาลก็หยุดงาน รายได้ทั้งหมดหายไป สามีขับรถรับจ้างได้เงินรายวัน ตอนนี้ต้องหยุดงานตั้งแต่มีการระบาด มีลูกเล็กๆสองคน ห้าขวบกับสองขวบ พอภรรยาติดโควิดก็ถูกไม่ให้อยู่ที่ห้องเช่าเพราะคนกลัวว่าติดโควิดมาจากภรรยา ต้องระเห็ดออกมาอยู่บ้านที่เถ้าแก่ที่กำลังสร้างไม่เสร็จ ใช้เงินเก็บที่มีอยู่สามพันบาท ยังไม่รู้ว่าจะทำยังไงต่อ

หวอดโควิด

พอรู้เรื่องเสร็จทุกคนช่วยกันทันที ตามแก็งค์พ่อลูกมา swab และให้นอนที่โรงพยาบาลรวมกันไปก่อน โชคดีที่ผลตรวจไม่เจอเชื้อโรคโควิดทั้งสามคน สิ่งที่ต้องรีบทำก็เพื่อออกใบยืนยันแล้วทางครอบครัวจะได้ไม่ถูกตีตราจากคนอื่น (จริงๆถ้าสังคมเข้าใจเราไม่จำเป็นต้องทำ ถึงขนาดตามครอบครัวของคนไข้มา swab เพราะถ้าเขากักตัว 14 วัน ไม่ออกไปไหนก็จะไม่ไปแพร่กระจายเชื้อให้ใคร) ช่วยลงทะเบียนช่วยเหลือ ระดมทุนมาช่วยในช่วงสามเดือนถัดจากนี้ ส่วนภรรยาตอนนี้นอนอยู่ไอซียูทางทีมช่วยกันดูแลอย่างเต็มที่

เคสนี้เคสเดียวสะท้อนหลายๆมุม ที่เราก็ยังต้องแก้ไขหรือมองข้าม สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือ ความเข้าใจเรื่องการติดต่อโรค การตีตราคนไข้และญาติของคนไข้ ยังมีเรื่องปัญหาสุขภาพที่มันผูกติดกับเศรษฐกิจและสังคม สิ่งที่ต้องการในตอนนี้คือทำให้การระบาดอยู่สั้นที่สุด เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อเนื่องและวงกว้าง ช่วยกันทำ social distancing ให้มากที่สุด เมื่อโรคหยุดระบาดทุกสิ่งทุกอย่างจะค่อยๆฟื้นกลับมาใหม่ สร้างความเห็นอกเห็นใจกันในสังคมทั้งให้กับคนไข้และบุคคลากรที่กำลังช่วยดูแลคนไข้

ผมว่ากำลังใจมาที่บุคคลากรทางการแพทย์มีมากมายพอแล้ว ตอนนี้สิ่งที่ต้องการคือช่วยกันเข้าใจโรคและเห็นใจคนไข้ด้วยครับ

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight