COVID-19

อย่า! ยืนยัน ดื่มเอทิลแอลกอฮอล์-เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ช่วยฆ่าไวรัส ‘โควิด-19’

กรมควบคุมโรค ยืนยัน ดื่มเอทิลแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ช่วยฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 แถมผลข้างเคียง รุนแรงถึงเสียชีวิต

DSC 89771 ปก

นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีการส่งต่อข้อมูลในสื่อออนไลน์ มีคนไทยสาธิตการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้ช่วยฆ่าเชื้อในลำคอ และรายงานข่าวในต่างประเทศ ที่มีประชาชนดื่มแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ หรือเอทิลแอลกอฮอล์ จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต และมีอาการสาหัสจำนวนหลายราย

โดยทั้งสองเหตุการณ์ มีความเชื่อว่าจะช่วยฆ่าเชื้อโควิด–19 ได้ นั้น กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่า ในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างๆ เช่น เหล้า เบียร์ ซึ่งมีขั้นตอนผลิต มาจากพืชประเภทน้ำตาล และพืชจำพวกแป้ง สามารถรับประทานได้ แต่แอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มอาจเป็นสาเหตุ เพิ่มความเสี่ยง ในการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้

โดยเฉพาะผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ มีโอกาสรับเชื้อง่ายกว่าคนปกติ เพราะเมื่อดื่มเข้าสู่ร่างกาย แอลกอฮอล์ จะเข้าไปทำลายระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เม็ดเลือดขาวทำงานฆ่าเชื้อโรคในร่างกายได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้ติดเชื้อต่างๆ ได้ง่ายขึ้น รวมถึงการสังสรรค์ในกลุ่มเพื่อนหรือเที่ยวในสถานบันเทิง ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นไปอีก เพราะหากมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แค่หยิบจับภาชนะร่วมกันก็อาจติดเชื้อได้

ส่วนกรณีรายงานข่าวในต่างประเทศ เป็นการดื่มเอทิลแอลกอฮอล์ หรือเอทานอล (Ethyl Alcohol หรือ Ethanol) ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 95% ใช้สำหรับทำความสะอาดฆ่าเชื้อ สามารถนำมา เช็ด ถู หรือฉีดบนร่างกายได้ มีขั้นตอนผลิตมาจากพืชประเภทน้ำตาล และพืชจำพวกแป้ง เช่นเดียวกันกับแอลกอฮอล์ที่ผสมในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ไม่สามารถรับประทานเอทานอลล้างแผลได้

เพราะมีขั้นตอนการผลิต และสารเคมีต่างๆ ที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แม้ว่าเอทานอล จะเป็นชนิดของแอลกอฮอล์ ที่สามารถบริโภคได้ แต่ด้วยปริมาณความเข้มข้นแบบบริสุทธิ์ ซึ่งสูงกว่าที่พบในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วไป ทำให้ผู้ดื่มมีภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ และในบางรายอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

ทั้งนี้ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีค่าความเข้มข้นมากที่สุดเพียง 40% เท่านั้น หากดื่มเข้าไปปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายจะเจือจางลง และหากพยายามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จนมีปริมาณแอลกอฮอล์เข้มข้นมากถึง 70% เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ 5% จำนวน 14 ขวด หรือมากกว่า นอกจากจะไม่ช่วยฆ่าเชื้อแล้ว การที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าร่างกาย จะกลายเป็นการทำลายร่างกายแทน เพราะเซลล์ปกติในร่างกาย จะถูกทำลายไปด้วย อาจทำให้กระเพาะอาหารเป็นแผล อาเจียนเป็นเลือด จนถึงขั้นเกิดอาการช็อกจากการดื่มแอลกอฮอล์ ในปริมาณมาก และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

นพ.ขจรศักดิ์ กล่าวยืนยันว่า การดื่มเอทิลแอลกอฮอล์ หรือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สามารถช่วยฆ่าเชื้อไวรัสโควิด–19 ได้ ควรลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อด้วยการล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำกับสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ หลังจากกลับจากข้างนอกถึงบ้าน ก่อนและหลังรับประทานอาหาร หลังจากไอหรือจาม หลังจากเข้าห้องน้ำ หลังจากสัมผัสกับสัตว์ ปิดปากเวลาไอจามด้วยข้อพับแขนด้านใน หรือกระดาษทิชชู่ ทิ้งทิชชู่ที่ใช้แล้วลงถังขยะ และล้างมือทันที

หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ ผู้ที่เป็นไข้และมีอาการไอ จาม กินร้อน ช้อนกลาง(ส่วนตัว) และสวมใส่หน้ากากอนามัย เมื่อไปที่ชุมชน สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

Avatar photo