COVID-19

7 วัน ติดเชื้อไวรัส COVID-19 เพิ่ม 13 จังหวัด ขอมาตรการคุมเข้ม กลุ่มกลับจากต่างประเทศ

ผู้ป่วยเพิ่ม 120 ราย ยอดผู้ป่วยสะสม 1,771 ราย เสียชีวิตอีก 2 ราย เผย 7 วัน ผู้ป่วยเพิ่มใน 13 จังหวัด กลุ่มกลับจากต่างประเทศยังเพิ่ม ย้ำจังหวัด ต้องเพิ่มการคุมเข้ม พร้อมประกาศ ขอความร่วมมือแรง “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” เหตุผู้ติดเชื้อกระจายไปเกือบทั่วประเทศแล้ว  ระบุ “อยู่บ้าน” ต้องเว้นระยะห่างคนในบ้านด้วย 2 เมตร เหตุติดกันเองในบ้านยอดสูง 

report02 0

วันนี้ ( 1 เม.ย.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ประกาศสถานการณ์ไวรัส COVID-19 ประจำวันที่ 1 เมษายน 2563 โดยระบุว่า มีผู้ป่วยเพิ่ม 120 ราย ยอดสะสม 1,771 ราย รักษาหายแล้ว 342 ราย อยู่รพ.1,343 ราย กลับบ้านเพิ่ม 74 ราย รวมกลับบ้านสะสม 416 ราย

วันนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 2 คน รวมเสียชีวิตสะสม 12 ราย 1 ราย เป็นชายไทยอายุ 79 ปี อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีประวัติเดินทางกลับจากไปร่วมงานแต่งงานที่มาเลเซีย มีโรคประจำตัว คือ เบาหวาน ต่อมาเกิดภาวะไตวาย อีก 1 ราย เป็นชายไทยเช่นกันอายุ 58 ปี เป็นนักธุรกิจ มีประวัติเดินทางกลับมาจากอังกฤษ

ในจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นวันนี้ 120 ราย ประกอบด้วย

  • กลุ่มสนามมวย 1 ราย
  • สถานบันเทิง 11 ราย
  • สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยก่อนหน้า 38 ราย
  • ร่วมงานบุญที่มาเลเซีย 1 ราย
  • คนไทยกลับจากต่างประเทศ 6 ราย
  • คนไทยกลับจากพิธีกรรมทางศาสนาที่อินโดนิเซีย 16 ราย
  • เป็นกลุ่มอาชีพเสี่ยง ทำงานสถานที่แออัด หรือทำงานใกล้ชิดสัมผัสชาวต่าวชาติ 14 ราย บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 1 ราย
  • รอสอบสวนโรค 30 ราย

reportt 0

จำนวนดังกล่าว ถือว่ากราฟผู้ติดเชื้อของไทยยังพุ่ง โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพ ยอดผู้ป่วยสะสม 1,771 ราย อันดับ 1 อยู่ในกรุงเทพ 850 ราย รองลงมาอยู่ที่นนทบุรี 104 ราย และสมุทรปราการ 72  ราย ภูเก็ต 71 ราย หากแยกเป็นรายภาค เหนือ 66 ราย  ภาคกลาง 237 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 89 ราย  และภาคใต้ 213 ราย แบ่งตามสัญชาติเป็นคนไทย 1,500 ราย  ต่างชาติ 271 ราย

ทั้งนี้ต้องย้ำว่าจากสถิติในเขตกรุงเทพ หากมีผู้ป่วย 1 คนจะแพร่เชื้อได้ 3 ราย ดังนั้นตัวเลขผู้ป่วยในกทม.จะถูกคูณ 3 จากตัวเลขผู้ป่วยในปัจจุบัน หากรวมนนทบุรี และสมุทรปราการ ไปด้วยคูณด้วยก็จะเท่ากับ เรามีโอกาสพบผู้ป่วยในพื้นที่ได้ถึง 3,000 กว่าราย จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวล

1Apr Newcase

ส่วนยอดผู้ป่วยเพิ่มวันนี้ 120 ราย อยู่ในกรุงเทพ 43 ราย รวมสมุทรปราการอีก 23 ราย เท่ากับ 66 ราย เกิน 50% รวมไปถึงภูเก็ต ที่มีผู้ป่วย 11 ราย เป็นอันดับ 3 เทียบแล้วก่อนหน้านี้ เราไม่พบผู้ป่วยมากนักในบางจังหวัด แต่ช่วงเวลา 1 สัปดาห์ ระหว่างวันที่ 25-31 มีนาคม เกิดผู้ป่วยรายใหม่ถึง 13 จังหวัด ทางนายกรัฐมนตรี ต้องการให้ทำงานบูรณาการ ส่งข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขไปยังฝ่ายปกครอง ให้รับทราบ และดูแลจุดเสี่ยงต่างๆ

โดยเราพบว่าใน 13 จังหวัดนั้น มีหลายจังหวัด พบผู้ป่วยส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มสถานบันเทิงที่มาจากกรุงเทพ ได้แก่ ชุมพร นครพนม พิษณุโลก พะเยา หนองคาย อำนาจเจริญ มุกดาหาร ลำพูน ซึ่งต้องควบคุมให้ดี ส่วนผู้ป่วยใน จังหวัดเพชรบุรี และอุทัยธานี สัมผัสมาจากนอกพื้นที่

ส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ เป็นกลุ่มที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ขณะที่มุกดาหาร ผู้ป่วยยังมาจากกลุ่มอื่น เป็นกลุ่มไปสัมผัสผู้มาจากกทม. เป็นบุคลากรทางการแพทย์ และสนามมวย ขณะที่สุพรรณบุรี ติดจากร้านเสริมสวย ที่สัมผัสมาจากพื้นที่ภูเก็ต

1April graph01 01

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า มีสถานการณ์ที่ตามดูหลายกรณี

กรณีแรก เรารณรงค์ให้อยู่บ้าน แต่การติดในบ้านไม่ลดลง และกลับสูงขึ้นในปลายเดือนมีนาคมเทียบต้นเดือน จึงยังเป็นเรื่องน่ากังวล แสดงว่ามาตรการให้อยูู่บ้าน แต่ไม่เพิ่มระยะห่างระหว่างบุคคลในบ้าน  จึงต้องย้ำกว่า “อยู่บ้านเพื่อชาติ แต่ก็ต้องมีระยะห่างของบุคคลในบ้าน ไม่ต่ำกว่า 2 เมตรด้วย “

กรณีที่สอง กลุ่มที่ติดจากสนามมวยตั้งแต่ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ที่มีข่าวคราวจัดการชกมวย และเริ่มมีการรายงานผู้ติดเชื้อจากนั้น 5-7 วัน และมาสูงตอนวันที่ 20-22 มีนาคม แต่พอมีการควบคุมได้ดี การระบาดก็ลดลง

report04

กรณีที่สาม ผู้ที่เดินทางกลับมาจากประเทศเสี่ยง สำหรับคนไทยมาจากยุโรปเป็นหลักในช่วงแรก และระยะหลังมาจากสหรัฐ และปากีสถาน เราต้องมีการกักกัน แต่เมื่อเขากลับไปบ้านต่างจังหวัด ยังทำได้ไม่ดี ส่วนชาวต่างชาติที่ยังเข้ามา ยังเป็นชาวยุโรปเป็นหลัก ก็ต้องมีมาตรการเพิ่มเติม เพราะต้องถือว่า ขณะนี้ ทุกประเทศเสี่ยงหมด

สำหรับมาตรการปิดสถานที่ชุมชนต่าง เช่นสถานบันเทิง หลังจากทำแล้วพบว่า ตัวเลขผู้ป่วยยังสูง แสดงว่ามาตรการนี้ต้องทำให้เข้มข้น โดยต้องร่วมมือระหว่างฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ตำรวจ

report031

นพ.ทวีศิลป์ ย้ำว่า ครบเดือนมีนาคมแล้ว การแพร่ระบาดเกือบทั่วประเทศ ถือว่าเราอยู่ในภาวะวิกฤติ หากยังไม่ร่วมมือกัน จุดสีแดง หรือ พื้นที่พบผู้ป่วย จะเต็มไปหมด ไม่มีที่ไหนว่างเลย

ทั้งนี้หลังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 26 มีนาคม เราจะติดตามตัวเลขปลายสัปดาห์นี้ ถึงปลายสัปดาห์หน้า ว่าการทำงานที่เข้มข้นของเราได้ผลหรือไม่ แต่ต้องย้ำว่าทุกคน ต้องร่วมมือกันอย่างเข้มข้นกว่านี้ สร้างระยะห่างให้ได้ มากกว่า 90% ย้ำว่า ร้านขายอาหาร หลายร้านยังให้มีการนั่งกินในร้าน และนั่งใกล้กัน ทั้งที่เราบอกมาตลอดว่า เชื้อโรคติดมาจากช้อนได้ ผ่านทางน้ำลาย จึงต้องขอให้ปิดร้านอาหาร

1 April graph03 01

พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า หล้งจากประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 4-5 วันที่ผ่านมา ยังมีประชาชนบางส่วน ฝ่าฝืน ไม่ทำตามประกาศ และข้อกฎหมายต่างๆ ทั้งที่บุคลากรทุกภาคส่วนทำงานอย่างหนัก เช่น มั่วสุม หรือตั้งวง เอาสนุกสนาน

ลักษณะเช่นนี้ ถือเป็นความผิดกรรมเดียว แต่ผิดกฎหมายหลายบท ทั้งพ.ร.บ. และพ.ร.ก. ยกตัวอย่างเมื่อวานมีการจับกุมผู้กักตุนแอลกอฮอล์ในเขตกรุงเทพ โดยร่วมมือต่างชาติ 1,200 แกลลอน ถือเป็นความผิดรุนแรง ซึ่งผู้บัญชาการให้ดำเนินคดีอย่างเฉียบขาด จำคุก 7 ปีปรับ 1.4 แสน หรือทั้งจำทั้งปรับ และริบของกลางด้วย

หรือกรณีไปกระทำการเล็กน้อย แต่สร้างความตื่นตระหนัก เช่น เอาน้ำลายไปป้ายรถไฟฟ้า ก็ถูกจำคุก 15 วัน นอกจากนี้ยังมีการแอบเล่นพนัน เจอในส่วน หรือ ในป่า ผิดพรบ.การพนัน และพรก.ด้วย โทษจำคุก 1 ปี ปรับเป็นแสน

1 April graph02 01

ขอให้อย่าฝ่าฝืนกฎหมาย เพราะเราจะบังคบใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด รวมไปถึงกรณีที่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน เช่น เด็กแว๊น เมาแล้วไปขับรถ ปาตี้ยาอี เราถือเป็นคดีที่ต้องเร่งดำเนินการเร่งด่วน และรวบรวมพยานไปให้ถึงต้นตอ สั่งฟ้องไปยังทุกข้อหา และลงโทษสถานหนัก ไม่ต้องรอลงอาญา หากมีของกลางจะริบด้วย

ส่วนกรณีที่มีหลายจังหวัดออกมาตรการเคอร์ฟิว ขอความร่วมมืองดออกจากบ้าน 4 ทุ่ม ถึง ตี 5 แต่บางท่านต้องขับรถมาทำงานในเขตกรุงเทพ พล.ต.ท.ปิยะ ย้ำว่า คนเดินทางจำเป็นไม่มีปัญหา แต่ขอให้ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็นจริงๆ ไม่จำเป็นขอให้อยู่บ้าน

สำหรับด่านคัดกรอง 409 แห่ง เน้นเข้าออกระหว่างจังหวัด แต่ตามพรบ.โรคติดต่อ ก็มีการจัดด่านเคลื่อนที่ หรือจุดเคลื่อนที่เร็วด้วย มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหมุนเวียนไปประจำการ เน้นแนะนำประชาชน ขอให้ปฏิบ้ติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ แต่หากเตือนแล้ว ไม่เชื่อฟัง ก็ต้องดำเนินคดี

สำหรับนักเรียนไทยในโครงการแลกเปลี่ยน AFS ที่จะกลับจากสหรัฐนั้น นพ.ทวีศิลป์ บอกว่า ต้องใช้โมเดลเดียวกับนักเรียนไทยที่กลับจากอิตาลี โดยทางกระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศ และไปใช้พื้นที่สัตหีบกักตัว 14 วัน แต่ก็ต้องการให้ทางมูลนิธิ AFS ประสานงานมายังกระทรวงสาธารณสุขก่อน

ทั้งนี้เพราะ การดูแลลักษณะผู้เดินทางเข้าประเทศเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ ต้องใช้สรรพกำลัง ต้องมีกระบวนการทั้งก่อน ระหว่างเดินทาง และเมื่อมาถึง รวมถึงการขนย้าย ไปยังสัตหีบ และตอนนี้มีพื้่นที่เปิดเพิ่ม โดยได้รับความร่วมมือจากกองทัพอากาศ กำแพงแสน

TH UpDate02

ด้านนายเชิดเกียรติ อัตถากร อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงต่างประเทศ เสริมว่า ภาพรวมนักเรียนไทย ร่วมโครงการ AFS ในประเทศต่างๆนั้น ส่วนใหญ่เดินทางกลับมาแล้ว เพราะโครงการนี้ได้ยกเลิกก่อนไวรัส COVID-19 แพร่ระบาดรุนแรง เหลือกลุ่มใหญ่ในสหรัฐเท่านั้น โดยได้ประสานงานกับ AFS มาตลอด ในการทยอยเอาน้องๆกับมา ทางผู้ปกครองก็กังวลใจ ว่าจะดูแลอย่างไร

อย่างไรก็ตามขณะนี้ เครื่องบินมาจากสหรัฐยังดำเนินการได้อยู่ ดังนั้นการนำเข้าจะทยอยเข้ามา โดย AFS จะเป็นผู้ดำเนินการ ขณะที่ทางเราได้ประสานงานกับสถานทูต และมูลนิธิฯ ระหว่างรอกลับ ก็ได้รับการดูแลโดยครอบครัวที่สหรัฐ จากการรายงานของสถานเอกอัครราชทูต ต้องมีการคัดกรอง และทุกคนต้องมีเอกสาร 2 ฉบับ ทั้งหนังสือรับรองของสถานทูต และใบรับรองแพทย์ จึงจะขึ้นเครื่องได้ มาถึงต้องผ่านการคัดกรองอีกรอบ น่าจะกลับมาได้หมดภายในเมษายน

Avatar photo