COVID-19

ย้ำ วิธี PCR หา ‘เชื้อโควิด-19’ ยังแม่นยำสุด ระบุต้องทำที่แล็บ เร่งขยายเป็น 97 แห่ง เม.ย.นี้

กรมวิทย์ ย้ำตรวจแบบ PCR หาเชื้อโควิด-19 โดยตรงยังแม่นยำสุด ส่วนตรวจภูมิคุ้มกัน ตรวจได้ หลังมีอาการป่วย 5 – 7 วัน หรือหลังติดเชื้อแล้ว 10 – 14 วัน  แจง “น้ำยา และชุดทดสอบ” ตรวจโควิด-19 อนุญาตใช้เฉพาะสถานพยาบาล หรือตามที่ อย.กำหนด  การตรวจ-แปลผล ต้องทำโดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น พร้อมเร่งขยายห้องแล็บรองรับเป็น 97 แห่ง ในเดือนเมษายนนี้

98713

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบายถึงการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า มีทั้งการตรวจหาเชื้อไวรัส และการตรวจภูมิคุ้มกัน สำหรับการตรวจหาเชื้อไวรัส สามารถตรวจได้หลังจากได้รับเชื้อมาแล้วประมาณ 5 -7 วัน จึงเป็นวิธีที่ตรวจหาเชื้อได้เร็วที่สุด โดยแบ่งเป็น 3 แบบ คือ

แบบที่ 1 ตรวจสารพันธุกรรมของไวรัสด้วยวิธี Real-time RT PCR

แบบที่ 2 คือ เพาะเลี้ยงเชื้อไวรัส

แบบที่ 3 ตรวจหา Antigen เชื้อไวรัส

สำหรับการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส ที่พร้อมใช้อยู่ในปัจจุบัน องค์การอนามัยโลกแนะนำ คือ วิธี Real-time RT PCR เนื่องจากมีความไว ความจำเพาะสูง ทราบผลภายใน 3 – 5 ชั่วโมง และสามารถตรวจจับ เชื้อไวรัสปริมาณน้อยๆ ในรูปแบบของสารพันธุกรรม

ดังนั้น ไม่ว่าจะเชื้อเป็น หรือเชื้อตาย ตรวจจับได้หมด จากสารคัดหลั่งทางเดินหายใจส่วนบน ส่วนล่าง ของผู้สงสัยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงเป็นวิธีที่เหมาะสม สำหรับการตรวจวินิจฉับโรค เพื่อการรักษาที่รวดเร็ว ตั้งแต่ระยะแรกของการเกิดโรค และใช้ติดตามผลการรักษาได้

ส่วนการตรวจภูมิคุ้มกัน (IgM/IgG) ด้วยชุดทดสอบแบบรวดเร็ว หรือ Rapid Test ทราบผลใน 15 นาที การตรวจวิธีนี้ จะทำได้หลังมีอาการป่วย 5 – 7 วัน หรือได้รับเชื้อมาแล้ว 10 – 14 วัน การใช้ Rapid Test ตรวจภูมิคุ้มกัน (IgM/IgG) ในช่วงแรกของการรับเชื้อ หรือช่วงแรกที่มีอาการ ผลการตรวจจะขึ้นลบ ซึ่งไม่ได้แสดงว่าผู้ป่วยไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19  เนื่องจากภูมิคุ้มกันยังไม่เกิดขึ้น

ทั้งนี้โดยปกติธรรมชาติ ของร่างกายเมื่อได้รับเชื้อ ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา ต่อสู้กับเชื้อโรค ซึ่งภูมิคุ้มกันจะเกิดหลังจากมีอาการประมาณ 5 – 7 วัน

น้ำยานี้ องค์การเภสัชกรรม (อย.) อนุญาตใช้เฉพาะสถานพยาบาลเท่านั้น ไม่อนุญาตจำหน่ายทั่วไป ประชาชนอย่าซื้อมาตรวจเอง เพราะมีความยุ่งยากในการแปลผล และสรุปผล ต้องทำโดยบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีวิธีการตรวจอื่นๆ ที่กำลังเข้ามาในประเทศ อย่างไรก็ตาม หากมีการตรวจอะไรใหม่ๆ สิ่งที่เราต้องคิดเสมอ คือ วิธีตรวจนั้นได้ผลหรือไม่ มีความแม่นยำเที่ยงตรงหรือไม่ และได้มาตรฐานหรือไม่ ซึ่งกรมฯได้ร่วมกับ อย.ดำเนินการตรวจประเมินอยู่ในขณะนี้ วิธีการตรวจแต่ละวิธี จะต้องเลือกช่วงเวลา ที่เหมาะสมกับการตรวจ ตามดุลยพินิจ ของบุคลากรทางการแพทย์

228773

สำหรับการพัฒนาห้องปฏิบัติการ เพื่อรองรับการตรวจเชื้อโควิด-19 หากมีการระบาดจำนวนมาก กรมฯได้มีแผนพัฒนาให้มีห้องปฏิบัติการตรวจทั้งในกรุงเทพ และต่างจังหวัด รวมแล้ว 97 แห่ง รองรับการตรวจในเขตกรุงเทพ และปริมณฑลที่ 10,000 ตัวอย่างต่อวัน และต่างจังหวัด 10,000 ตัวอย่างต่อวัน

โดยขณะนี้มีห้องปฏิบัติการที่ผ่านการประเมินแล้ว 57 แห่ง อยู่ระหว่างการประเมิน และกำลังจัดตั้งอีก 40 แห่ง คาดว่าภายในเดือนเมษายนนี้ จะครบตามเป้าหมาย สำหรับประชาชนที่มีประวัติสัมผัสกลุ่มเสี่ยง หากมีอาการเป็นไข้ ไอ เจ็บคอ ตามเกณฑ์ที่กรมควบคุมโรคกำหนด ให้รีบพบแพทย์ และแจ้งประวัติให้ละเอียด จะได้รับการตรวจหาเชื้อโดยวิธี RT – PCR ฟรี 

Avatar photo