COLUMNISTS

ถนนทุกสายมุ่งสู่ ‘EEC’ ทำเลทองภาคตะวันออก

Avatar photo
198

นับวันยิ่งทวีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC : Eastern Economic Corridor ที่หลายหน่วยงานลุกขึ้นมาจัดเสวนาระดมความเห็นและความพร้อมในการพัฒนาโครงการ EEC สะท้อนสัญญาณตื่นตัวเรื่องนี้อย่างชัดเจน

มาติดตามความคืบหน้าล่าสุด โครงการ EEC จากคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ซึ่งได้จัดประชุมครั้งที่ 1/2561 ไปเมื่อวันศุกร์ที่ 3 สิงหาคม 2561 มีการเตรียมความพร้อมและความคืบหน้าหลายโครงการ ประกอบด้วย

1. ความก้าวหน้าการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 1 (ช่วงท่าอากาศยานดอนเมือง ถึง ท่าอากาศยานอู่ตะเภา) ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ประกาศเชิญชวนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน และขายเอกสารการคัดเลือกฯ มีบริษัทเอกชนสนใจเข้าซื้อเอกสารการคัดเลือกฯ ทั้งสิ้น 31 ราย จาก 7 ประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดให้ผู้แทนบริษัทเอกชนที่ซื้อเอกสาร คัดเลือกฯ ตรวจสอบเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ (Due Diligence) จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2561

โดยในขั้นตอนต่อไป จะมีการจัดประชุมชี้แจงเอกสารคัดเลือกครั้ง 2 ในวันที่ 24 กันยายน 2561 และ เปิดรับซองข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอ 12 พฤศจิกายน 2561

จากนั้นจะมีการประกาศผลผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมินและผ่านการเจรจา และลงนามสัญญาร่วมลงทุนของโครงการฯภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2562 และเปิดให้บริการโครงการฯประมาณปลายปี 2566

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 2 (ช่วงต่อขยายจาก ท่าอากาศยานอู่ตะเภาผ่านจังหวัดระยอง จันทบุรีและตราด) ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการเตรียมการพัฒนาโครงการภายใต้กรอบเวลาดังนี้ จัดจ้างที่ปรึกษาศึกษาและออกแบบโครงการฯส่วนต่อขยาย และลงนามสัญญาจ้างที่ปรึกษาภายในเดือนตุลาคม 2561 และเริ่มศึกษาและออกแบบโครงการฯ ส่วนต่อขยาย ในเดือนพฤศจิกายน 2561

2. ความก้าวหน้าการดำเนินโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา ระยะที่ 1 ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการพัฒนาโครงการฯ โดยการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกครั้งที่ 2/2561 จะมีการพิจารณาให้ความเห็นชอบ กรอบหลักการของโครงการฯ ในวันที่ 10 สิงหาคม 2561 เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการฯ และวงเงิน

โครงการนี้คาดว่าจะประกาศเชิญชวนให้เอกชนร่วมลงทุน(ขายซอง) ภายในเดือนกันยายน 2561 พร้อมทำการคัดเลือกและเจรจาต่อรองกับเอกชนแล้วเสร็จ รวมถึงจะมีการเสนอคณะกรรมการนโยบายเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชน / ลงนามสัญญา ภายในเดือน ธันวาคม 2561 โดยกำหนดระยะเวลาดำเนินโครงการฯในปี 2564

3. ความก้าวหน้าและแผนการดำเนินการโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เป็นการเพิ่มขีดความสามารถ และเพิ่มประสิทธิภาพให้พร้อมรองรับการขยายตัวของปริมาณสินค้าทางน้ำ และทางบก การขนส่งตู้สินค้าผ่านท่าทางรถไฟ โดยใช้ระบบการจัดการ ตู้สินค้าแบบอัตโนมัติ (Automation)โดยมีเป้าหมายการพัฒนาโครงการดังนี้

  • ท่าเรือสินค้าประเภทตู้ จากปัจจุบัน 11.1 ล้าน TEU ต่อปีในปี 2561 เป็น 18.1 ล้าน TEU ต่อปีในปี 2576
  • ท่าเรือสินค้าประเภทรถยนต์ จากปัจจุบัน 2 ล้านคัน ต่อปีในปี 2561 เป็น 3 ล้านคัน ต่อปีในปี 2576
  • ท่าเรือชายฝั่งระหว่างประเทศ จากปัจจุบัน 0.3 ล้าน TEU ต่อปีในปี 2561 เป็น 0.3 ล้าน TEU ต่อปีในปี 2576
  • ท่าเรือชายฝั่งภายในประเทศ จากปัจจุบันไม่มี เป็น 1 ล้าน TEU ต่อปีในปี 2576
  • สินค้าตู้ผ่านทางรถไฟ จากปัจจุบัน 2 ล้าน TEU ต่อปีในปี 2561 เป็น 6 ล้าน TEU ต่อปีในปี 2576

4. ความก้าวหน้าและแผนดำเนินงานการโครงการ พัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) และที่ปรึกษาโครงการ ได้ดำเนินการศึกษา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและเพิ่มความจุในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลว ให้บริการรูปแบบท่าเทียบเรือสาธารณะซึ่งมีแนวทางการพัฒนาโครงการเพื่อเพิ่มศักยภาพของท่าเรือเพื่อรองรับการขนถ่ายสินค้า ดังนี้

  • ความสามารถในการรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติ 10 (ล้านตันต่อปี)ในปี 2560 เพิ่มเป็น 20 ล้านตันต่อปี ในปี 2597
  • ความสามารถในการรองรับการขนถ่ายสินค้าเหลวผ่านท่าเทียบเรือสาธารณะ 6 ล้านตันต่อปีในปี 2560 เพิ่มเป็น 10 ล้านตันต่อปี ในปี 2597

5. การขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC ครึ่งปีแรก (มกราคม-มิถุนายน) ของปี 2561 มีผู้ประกอบการเข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนในจังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ทั้งสิ้น 142 โครงการ เป็นเงินลงทุนรวม 1.83 แสนล้านบาท หรือ 67% ของเงินลงทุนทั้งหมดที่ขอรับการส่งเสริม เพิ่มขึ้นเป็น 122 % (เทียบกับมูลค่า 7.7 หมื่นล้านบาท ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน) โดยแบ่งเป็นจังหวัดฉะเชิงเทรา 19 โครงการ จังหวัดชลบุรี 74 โครงการ และจังหวัดระยอง 49 โครงการ

ทั้งนี้ มูลค่าคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย คิดเป็นเงินลงทุนรวม 1.75 แสนล้านบาท โดยส่่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (New S-curve) มูลค่า 1.61 แสนล้านบาท จำแนกเป็นอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีมูลค่าการลงทุน 1.61 แสนล้านบาท และอุตสาหกรรมการแพทย์ อุตสาหกรรมอากาศยาน อุตสาหกรรมดิจิทัล ตามลำดับ

ในขณะที่ภาครัฐวางแผนพัฒนาโครงการ ภาคเอกชนก็เกาะติดสถานการณ์ และภาคประชาชนก็ติดตามความเคลื่อนไหว เรียกได้ว่าถนนทุกสายกำลังมุ่งสู่ EEC ทำเลทองการพัฒนาของภาคตะวันออก เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตอันใกล้