COVID-19

ต้องใช้ซ้ำ ! หน้ากาก N95 ขาดแคลนหนัก เหตุนำเข้าจากสหรัฐติดขัด ประกาศ! รับบริจาค

เผยหน้ากาก N 95 ขาดหนัก ต้องใช้ซ้ำ ประกาศ! รับบริจาค ที่รพ.ใกล้บ้าน และกระทรวงสาธารณสุข ขอความร่วมมือประชาชนใช้หน้ากากผ้า ส่วน N95 ขอให้บุคลากรการแพทย์ใช้ เพื่อดูแลผู้ป่วย  ประเมินหากผู้ป่วย 10,000 ราย ต้องใช้ 17,000 ชิ้นต่อวัน 

31มีค.63 ปลัด แถลง 4

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระบาดไปทั่วโลก สำหรับประเทศไทย มีผู้ป่วยผู้ป่วยสะสม 1,651 ราย กลับบ้านได้ 342 ราย ยังรักษาในรพ. 1,299 ราย เสียชีวิต 10 ราย

ขณะที่ทั่วโลกมีรายงานผู้ป่วยใน 198 ประเทศ 2 เขตบริหารพิเศษ 2 เรือสำราญ พบผู้ป่วย 768,466 ราย เสียชีวิต 36,914 ราย ส่งผลให้ความต้องการใช้ยา อุปกรณ์ เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ในการดูแลรักษาผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะหน้ากาก N95 และชุดป้องกันร่างกาย (PPE.) ซึ่งผู้ผลิตรายใหญ่อยู่ในต่างประเทศ ไทยต้องสั่งซื้อเข้ามา เมื่อเกิดการระบาดของโรค การสั่งซื้อทำได้ยากขึ้น ต้องใช้ระยะเวลานานขึ้นกว่าเดิม

ข้อมูล ณ วันที่ 28 มีนาคม 2563 กระทรวงสาธารณสุข ได้ส่งหน้ากาก N 95 ให้รพ.ทุกสังกัดแล้ว 183,910 ชิ้น ยังมีสำรองที่รพ.ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กว่า 200,000 ชิ้น และมีแผนการจัดหาเพิ่มอีกประมาณ 700,000 ชิ้น โดยสั่งซื้อจากบริษัท 3 M สหรัฐ 200,000 ชิ้น บริษัท สยามโคเค็น จำกัด เดือนละ 100,000 ชิ้น และจะนำเข้าจากประเทศจีน โดยอภ. อีก 400,000 ชิ้น

P04 01ปก

ทั้งนี้ จากการประมาณการณ์ หากมีผู้ป่วย 10,000 ราย ต้องใช้หน้ากาก N95 ประมาณ 17,000 ชิ้นต่อวัน สำหรับบุคลากรที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วยกับโรคโควิด-19 หรือต้องทำหัตถการ จึงขอความร่วมมือประชาชนใช้หน้ากากผ้า ประชาชน ที่มีจิตศรัทธา สามารถบริจาคได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือกระทรวงสาธารณสุข โทร 0 2590 2078-9

ส่วนอุปกรณ์ป้องกัน และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ได้รับจากรัฐบาลจีน ได้กระจายให้เขตสุขภาพแล้ว ประกอบด้วย หน้ากากอนามัย 100,000 ชิ้น หน้ากาก N95 จำนวน 10,000 ชิ้น ชุด PPE. 2,000 ชิ้น และที่ได้รับบริจาคจากมูลนิธิแจ็ค หม่า และมูลนิธิอาลีบาบา ประกอบด้วย หน้ากากอนามัย (protective mask, face shield) กว่า 550,000 ชิ้น และชุดป้องกันตนเอง (protective suit) จำนวน 50,000 ชุด

โดยขณะนี้ ศูนย์ปฏิบัติการ ได้กระจายเวชภัณฑ์ในภาวะโควิด-19 ได้จัดสรรให้สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย รพ.ศิริราช และรพ.ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้แล้ว

นพ.สุขุมกล่าวต่อว่า หน้ากาก N 95 และหน้ากากอนามัย เป็นสิ่งจำเป็น สำหรับการป้องกันการติดเชื้อที่แพร่ผ่านละอองฝอย หรืออากาศ ปกติไม่แนะนำให้ใช้ซ้ำ แต่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดการขาดแคลน จึงได้หาวิธีในการนำหน้ากาก N 95 และหน้ากากอนามัยกลับมาใช้ซ้ำ

โดยผลการวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ และ BRIA LAB ได้ศึกษาวิจัยพบว่าการฉายรังสี UV-C สามารถกำจัดเชื้อโคโรนาไวรัสได้ และเริ่มดำเนินการแล้ว

ทั้งนี้นพ.สุขุม ได้กล่าวเมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) โดยระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 7 – 28 มีนาคม ได้จัดส่งหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ให้แล้ว 19.59 ล้านชิ้น เป็นโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 10.35 ล้านชิ้น กรมอื่นๆ 560,000 แสนชิ้น รพ.นอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 770,000 แสนชิ้น โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย 2.48 ล้านชิ้น โรงพยาบาลเอกชน 4.28 ล้านชิ้น โรงพยาบาลสังกัด กทม. 1.15 ล้านชิ้น

โดยกระทรวงสาธารณสุขได้รับจัดสรรหน้ากากอนามัยเพิ่มเป็น 1.3 ล้านชิ้นต่อวัน ได้จัดส่งให้รพ.ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 650,000 ชิ้น กรมต่าง ๆ 150,000 ชิ้น รพ.นอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 100,000 ชิ้น รพ.มหาวิทยาลัย 150,000 ชิ้น รพ.เอกชน 150,000 ชิ้น และรพ.สังกัด กทม. 100,000 ชิ้น โดยได้ปรับระบบจัดส่งโดยบริษัทไปรษณีย์ไทยส่งจากโรงงานไปยัง รพ.ศูนย์ที่เป็นแม่ข่ายของเขตสุขภาพ เพื่อให้ถึงจังหวัดเร็วขึ้น

สำหรับยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) หรือยาอะวีแกน (Avigan) ได้รับรายงานจากนพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ เลขาธิการ อภ. ว่า ได้จัดซื้อจากประเทศญี่ปุ่นจำนวน 40,000 เม็ดแล้ว และจะจัดสรรจัดส่งให้กรมการแพทย์ โดยรพ.ราชวิถี จำนวน 18,000 เม็ด สำหรับกระจายให้กับรพ.ในเขตกรุงเทพ และปริมณฑล ส่งให้กับเขตสุขภาพทั้ง 12 เขต สำหรับจัดสรรกระจายให้กับรพ.ขนาดใหญ่ในภูมิภาค จำนวน 18,000 เม็ด เหลือไว้สำรองสำหรับจัดสรรในกรณีจำเป็นเร่งด่วนอีกจำนวน 4,000 เม็ด และคาดว่าภายในวันศุกร์นี้ จะมีการจัดส่งยาดังกล่าวเข้าจากประเทศจีนเพิ่มอีกจำนวน 100,000 เม็ด และภายในเดือนเมษายน จะได้รับจากญี่ปุ่นเพิ่มอีก 200,000 เม็ด และทำการสั่งซื้อเพื่อสำรองเพิ่มอย่างต่อเนื่อง

สำหรับแนวทางการดูแลผู้ป่วยนั้น นพ.สุขุม ระบุว่า ขณะนี้ ได้ปรับแนวทางการดูแลแล้ว โดยกรมการแพทย์ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากกรมวิชาการ สมาคมวิชาชีพ โรงเรียนแพทย์ต่างๆ ปรับแนวทางทางการรักษาผู้ติดเชื้อล่าสุดเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2563 ดังนี้

1.ผู้ติดเชื้อทุกราย ไม่ว่ามี หรือไม่มีอาการต้องอยู่โรงพยาบาลในช่วงแรก 2-7 วัน เพื่อสังเกตอาการ หรือรับการรักษา เมื่ออาการปกติแล้วอาจดูแลและสังเกตอาการต่อในรพ. หรือสถานที่ที่จัดไว้ให้จนครบ 14 วัน

2.เมื่อหายดีแล้ว และครบ 14 วัน สามารถกลับบ้านได้ และไปทำงานได้ แต่ต้องใส่หน้ากากอนามัย รักษาระยะห่างจากผู้อื่น แยกรับประทานอาหาร และของใช้กับผู้อื่นจนครบ 1 เดือน

 

Avatar photo