COVID-19

‘EIC’ ประเมินโควิด-19 ซัด ‘ค้าปลีก’ วูบหนัก 14% แนะกลยุทธ์สร้างทางรอด

สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการบริโภคในประเทศทั้งจากความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภค มาตรการปิดเมือง รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงมาก ส่งผลให้ EIC คาดการณ์มูลค่าตลาดค้าปลีกปี 2020 จะหดตัวราว 14% หรือคิดเป็นเม็ดเงินที่หายไปราว 5 แสนล้านบาท

ชั้นวาง

ทั้งนี้ ผลกระทบจาก ไวรัสโควิด-19 ต่อธุรกิจค้าปลีกของไทยจะส่งผ่าน 3 ช่องทางหลัก คือ

1) การท่องเที่ยวที่หดตัวอย่างรุนแรง ส่งผลต่อร้านค้าปลีกที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยว โดยกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบรุนแรง ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า ร้านดิวตี้ฟรี รวมถึงร้านสเปเชียลตี้ สโตร์ บางประเภทที่เน้นเจาะตลาดนักท่องเที่ยว อาทิ สินค้าสุขภาพและความงาม, สินค้างานฝีมือ ร้านขายของที่ระลึก

ทั้งนี้ EIC ได้ประเมินเบื้องต้นว่าหากนักท่องเที่ยวในปี 2020 ปรับลดลงราว 67% จาก 39.8 ล้านคนในปี 2561 มาอยู่ที่ 13.1 ล้านคน คาดว่าจะส่งผลให้รายได้ของธุรกิจค้าปลีกที่มาจากภาคการท่องเที่ยวหายไปราว 2.7 แสนล้านบาท ภายใต้สมมติฐานว่าสถานการณ์การติดเชื้อคลี่คลายในไตรมาส 3 และนักท่องเที่ยวเริ่มทยอยกลับมาฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ในไตรมาส 4 แต่เศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัวลงมาก คาดว่าจะส่งผลให้การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวในส่วนของการช้อปปิ้งมีแนวโน้มลดลงจากค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจาก 12,000 บาทต่อทริปมาอยู่ที่ราว 10,000 บาทต่อทริป

นักท่องเที่ยว 1

2) ความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศที่ปรับลดลง ตามแนวโน้มรายได้และการจ้างงานในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรที่มีทิศทางชะลอตัวอยู่แล้ว ก่อนที่จะถูกซ้ำเติมด้วยผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น จนส่งผลให้ภาครัฐมีคำสั่งปิดศูนย์การค้าเป็นการชั่วคราว แต่อนุญาตให้เปิดบริการสำหรับร้านขายสินค้าจำเป็นบางประเภท อย่างเช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ทั้งนี้แม้ว่ายอดขายบางส่วนจะถูกชดเชยด้วยช่องทางออนไลน์ แต่ยังมีสัดส่วนน้อยมากเพียงราว 2-3% ของมูลค่าตลาดค้าปลีก

ดังนั้น หากรวมผลกระทบจากทั้งจากการชะลอตัวของการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศและนักท่องเที่ยวที่หายไป EIC คาดการณ์มูลค่าตลาดค้าปลีกปี 2563จะหดตัวราว 14% หรือคิดเป็นเม็ดเงินที่หายไปราว 5 แสนล้านบาทจากมูลค่าตลาดค้าปลีกปี 2019 ที่อยู่ที่ราว 3.5 ล้านล้านบาท ภายใต้สมมติฐานว่าธุรกิจค้าปลีกปิดดำเนินการประมาณ 2 เดือนและสถานการณ์การติดเชื้อเริ่มคลี่คลายจนสามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้ตามปกติในไตรมาส 3 แต่ยอดขายจะเริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 4)

ผลกระทบ

3) ซัพพลาย ดิสรัปชั่น จากการที่สต็อกสินค้าที่อาจขาดแคลนหากพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากกลุ่มประเทศที่มีการปิดเมืองซึ่งหากไม่สามารถนำเข้าสินค้าจากแหล่งผลิตในประเทศอื่น ๆ ทดแทนได้ ก็อาจจะส่งผลให้สต็อกสินค้าไม่เพียงพอได้ในระยะสั้น ขณะที่สต็อกสินค้าที่ผลิตในประเทศ แม้ว่ายังมีเพียงพอ แต่ยังมีความเสี่ยงที่ต้องติดตามหากสถานการณ์การระบาดแพร่กระจายในพื้นที่ต่างจังหวัดเป็นวงกว้างมากขึ้นอาจส่งผลให้การกระจายสินค้ามีความล่าช้าได้

ขณะที่ EIC เสนอ 4 กลยุทธ์สำคัญในการรับมือของผู้ประกอบการค้าปลีก คือ

สต็อกสินค้า

  • เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการสินค้าและโลจิสติกส์ เพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยเฉพาะในด้านการจัดหาสินค้าให้เพียงพอ ผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มของชำ ควรเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์แพนิค โดยเน้นปรับ โปรดักส์ มิกซ์ ภายในร้านค้าตามพฤติกรรมของผู้บริโภคและเพิ่มสต็อกสินค้าในคลังโดยเฉพาะสินค้าเกี่ยวสุขภาพ อุปกรณ์ป้องกันและทำความสะอาด อาหารแห้ง เน้นการบริหารห่วงโซ่อุปทานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • เน้นขายออนไลน์และเพิ่มเอนเกจเมนท์กับลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ผู้ประกอบการต้องเตรียมความพร้อมเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ให้สามารถรองรับปริมาณทราฟฟิกของผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นมาก รวมไปถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดส่งสินค้า นอกจากนี้ พฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาซื้อสินค้าออนไลน์จะเป็นโอกาสในการเข้าถึงผู้บริโภคได้ตลอดเวลา ผู้ประกอบการจึงควรอาศัยโอกาสนี้นำข้อมูลผู้บริโภคมาวิเคราะห์ให้ตอบโจทย์และหันมาทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น รวมถึงการนำเอาเทคโนโลยี อาทิ AR หรือ VR มาใช้เพื่อสร้างประสบการณ์ในการช้อปปิ้ง

ผู้ประกอบการจีน

 

  • ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผู้บริโภคและพนักงานเป็นอันดับแรก โดยเน้นปรับปรุงการบริการต่าง ๆ เพื่อแสดงออกถึงความเอาใจใส่และห่วงใยต่อทั้งผู้บริโภคและพนักงาน เสริมสร้างภาพลักษณ์ของร้านค้าเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นและความประทับใจจากผู้บริโภค โดยอาจนำเอาบริการต่าง ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงอย่างเช่น ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ อย่างเช่น การจัดให้มีเวลาที่เปิดให้บริการสำหรับผู้บริโภคกลุ่มนี้โดยเฉพาะเพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อและป้องกันการขาดแคลนสินค้าจำเป็น รวมถึงการพัฒนารูปแบบการส่งสินค้าใหม่ ๆ อาทิ การส่งสินค้าแบบไร้การสัมผัส (contactless delivery) 0

เตรียมความพร้อมสำหรับการให้บริการภายหลังจากที่สถานการณ์คลี่คลาย โดยผู้ประกอบการควรเตรียมความพร้อมทั้งในส่วนของการบริหารจัดการสต็อกสินค้าและ supply chain เพื่อตอบสนองความต้องการที่จะกลับมาฟื้นตัวภายหลังวิกฤติ นอกจากนี้ ในกลุ่มของศูนย์การค้าหรือร้านค้าปลีกรายใหญ่ ๆ อาจใช้โอกาสที่มีผู้เข้าใช้บริการน้อยหรือในช่วงที่ต้องปิดการให้บริการในการปรับปรุงพื้นที่เพื่อรองรับการกลับมาเข้าใช้บริการของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้นภายหลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลาย

Avatar photo