CEO INSIGHT

‘พิเชฏฐ เกตุรวม’ ฟันธง 3 ปี ไทยผงาดศูนย์กลาง ‘HyperScale Data Center’

พิเชฏฐ เกตุรวม
นายพิเชฏฐ เกตุรวม

ในยุค Thailand 4.0 ยุคที่องค์กรต่าง ๆ มีการ Transformation สู่ดิจิทัล จะเห็นได้ว่าการใช้ และการลงทุนด้านข้อมูล (Data) มีอยู่ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มโทรคมนาคม, สถาบันการเงิน, ธุรกิจสุขภาพ, กลุ่มค้าปลีก – อีคอมเมิร์ซ, ภาคอุตสาหกรรม, ธุรกิจพลังงาน, เอสเอ็มอี, ไปจนถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น การสร้างรถไฟรางคู่ หรือรถไฟความเร็วสูง ฯลฯ ทั้งหมดนี้ล้วนมีการบริหารจัดการ “Data” เกิดขึ้นในเบื้องหลังทั้งสิ้น

แต่ไม่เฉพาะการลงทุนในภาคเอกชน เพราะด้วยนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลไทยเองก็เป็นตัวขับเคลื่อนการใช้งาน Data ที่สำคัญ เห็นจากกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ที่ต้องมีการปรับตัวกันมากมาย เช่น นโยบาย Smart Farming ที่มีการนำอุปกรณ์ IoT มาใช้กับภาคการเกษตร, โลกแห่งอีคอมเมิร์ซ ที่ต้องนำ Data มาใช้วิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าเป้าหมาย, EEC ที่ต้องไฮเทคไปทุกทาง หรือการสร้างสมาร์ทซิตี้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนเมือง เหล่านี้ก็นำมาซึ่ง Data ปริมาณมหาศาล หรืออาจเปรียบได้ว่า ในโลกยุคใหม่นั้น Data ได้กลายเป็นหัวใจของทุกภาคส่วนไปแล้วเรียบร้อย

แต่ใช่ว่ามีแค่ Data แล้วธุรกิจจะเติบโต เพราะเบื้องหลังยังมีอีกหลายธุรกิจที่เข้ามาบริหารจัดการ Data เหล่านั้น ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ยิ่งบริหารจัดการได้ดีเท่าไร ก็เป็นไปได้ว่ามันจะนำไปสู่การพัฒนาโปรดักซ์ใหม่ ๆ หรือการคาดการณ์ที่ทันท่วงทีได้มากยิ่งขึ้นเท่านั้น

วันนี้ ทีมงาน TheBangkokInsight มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้อยู่เบื้องหลังของโลกแห่ง Data อีกท่านหนึ่งอย่าง “พิเชฏฐ เกตุรวม” ผู้จัดการประจำภูมิภาคอินโดจีน (ไทย เมียนมา กัมพูชา และลาว) บริษัท เวอร์ทีฟ จำกัด หรือชื่อเดิมที่หลายคนคุ้นเคยคือ Emerson Network Power ในฐานะผู้ให้บริการด้านการออกแบบ ผลิต และให้บริการเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการใช้งานในศูนย์ข้อมูล (Data Center) ที่กำลังเติบโตอย่างมากในขณะนี้

โดยนายพิเชฏฐเผยว่า การเติบโตของธุรกิจ Data Center นั้นสูงขึ้นอย่างมาก เห็นได้จากการเติบโตของผลประกอบการของเวอร์ทีฟที่เพิ่มขึ้นกว่า 10% ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งในปีนี้ก็ยังมีการลงทุนใหม่ ๆ เตรียมจะผุดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

data center
Data Center หนึ่งในผลงานการออกแบบของ Vertiv

“ทุกวันนี้ การเติบโตของธุรกิจเริ่มขยายออกไปต่างเมืองมากขึ้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่ในกรุงเทพฯ ยกตัวอย่างเช่นธุรกิจเฮลท์แคร์ และธุรกิจค้าปลีก ที่พบว่าเริ่มขยายสาขาออกไปตามหัวเมืองต่าง ๆ เช่น ชลบุรี เพชรบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ ฯลฯ เหล่านี้ต้องใช้ Data ทั้งสิ้น และทำให้การลงทุนใน Data Center เติบโตมากขึ้นตามไปด้วย”

ไทยโตอันดับหนึ่งในอินโดจีน

สำหรับการลงทุนในธุรกิจ Data Center ในภูมิภาคอินโดจีนนั้น นายพิเชฏฐเผยว่า มีการเติบโตแตกต่างกันขึ้นอยู่กับขนาดเศรษฐกิจและความต้องการของแต่ละประเทศ โดยการลงทุนสเกลใหญ่ ๆ นั้นจะมุ่งมาที่ประเทศไทยเป็นอันดับแรก สำหรับประเทศที่มีการเติบโตสูงเป็นอันดับสองคือเมียนมาร์ ที่พบว่าการเติบโตของธุรกิจ Data Center เกิดขึ้นเนื่องจากธุรกิจโทรคมนาคม และสถาบันการเงินของเมียนมาร์กำลังขยายตัว

ส่วนอันดับสามคือกัมพูชา โดยนายพิเชฏฐเผยว่า แม้การลงทุน Data Center ในกัมพูชาจะเป็นสเกลที่เล็กกว่า แต่ก็เติบโตในระดับ 20% ต่อปี ซึ่งถือเป็นประเทศที่น่าสนใจเช่นกัน และอันดับสุดท้ายคือลาว ที่กล่าวได้ว่าธุรกิจ Data Center กำลังเริ่มต้นนั่นเอง

พิเชฏฐ เกตุรวม
นายพิเชฏฐ เกตุรวม

เปิดจุดเด่นประเทศไทย

“จุดเด่นของประเทศไทยคือ เรามีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมมาก สองคือเรามีฐานผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือที่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ประเทศไทยมีแนวโน้มจะได้รับความสนใจจากบริษัทต่างชาติมาลงทุน Data Center ในสเกลใหญ่ หรือที่เรียกว่า HyperScale Data Center มากเป็นพิเศษ”

ทั้งนี้ นายพิเชฏฐคาดว่า เทรนด์ของ Data Center ระดับ HyperScale นั้นจะเริ่มปรากฏเป็นรูปเป็นร่างในเวลาไม่เกิน 2 – 3 ปีนับจากนี้ โดยมาจากการลงทุนของบริษัททั้งในและต่างประเทศ

“เราได้เห็นบริษัทชั้นนำในประเทศที่มีเงินทุนพร้อมแสดงความตั้งใจที่จะลงทุนใน Data Center มากขึ้น ขณะที่พวกบิ๊กเนม ตอนนี้แม้ว่าเขาจะไปลงทุนในสิงคโปร์กันหมด แต่ภายใน 2 – 3 ปี เราพบว่ามีแนวโน้มที่เขาจะมาไทยมากขึ้น โดยมาจาก 3 ปัจจัยนั่นคือ เพราะการเมืองเราเริ่มนิ่ง โครงสร้างพื้นฐานเราพร้อม และตัวเลขผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตบ้านเราสูง การมีสามสิ่งนี้ ช่วยกำจัดอุปสรรคหลาย ๆ อย่างได้ และนั่นจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางของ HyperScale Data Center ได้ในที่สุด”

อย่างไรก็ดี นายพิเชฏฐฝากทิ้งท้ายด้วยว่า สิ่งที่ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับการเกิดขึ้นของ Data Center ระดับ HyperScale ก็คือ การเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร, การเตรียมความพร้อมด้านตัวบทกฎหมาย และการเตรียมความพร้อมของภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องนั่นเอง

 

Avatar photo