Politics

น้ำเขื่อนแก่งกระจานจ่อล้นสปิลเวย์เที่ยงพรุ่งนี้

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่าวันนี้ (4 ส.ค.)ได้ประชุมติดตามสถานการณ์ลุ่มน้ำเพชรบุรี ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ณ ศาลากลางจังหวัดเพชรบุรี  โดยคณะได้ขึ้น ฮ.บินสำรวจสถานการณ์น้ำแม่น้ำเพชรบุรี เขื่อนเพชรบุรี เขื่อนแก่งกระจาน และเส้นทางการระบายน้ำออกจากเขื่อนแก่งกระจาน ทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำเพชรบุรี ตั้งแต่บริเวณท้ายเขื่อน จนถึงปลายแม่น้ำเพชรบุรี และลงพื้นที่ติดตามผลกระทบพื้นที่ท้ายน้ำ

t1
สมเกียรติ ประจำวงษ์

การประเมินแผนปฏิบัติการรับมือสภาพอากาศและสถานการณ์ฝนช่วงวันที่ 4 – 8 สิงหาคม 2561 ที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลทำให้มีฝนตกเพิ่มขึ้นบริเวณชายขอบประเทศภาคตะวันตก และ ภาคอีสาน เนื่องจากเป็นแนวปะทะของฝน โดยจะตกมากในภาคตะวันตก และมีน้ำไหลเข้าเขื่อน 4 เขื่อนมากขึ้น คือ ศรีนครินทร์ วชิราลงกรณ แก่งกระจาน และ ปราณบุรี

ลุ่มน้ำเพชรบุรี

จากอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเขื่อนแก่งกระจานสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยพบว่า 1 วันปริมาณน้ำขึ้นมามากถึง 150 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 690 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 97% ปริมาณน้ำไหลเข้า 24.8 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลออก 9.3 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเหลือพื้นที่เพียง 40 เซนติเมตรจะล้นทางระบายน้ำล้น หรือสปิลเวย์ มั่นใจว่าน่าจะล้นภายในเที่ยงวันพรุ่งนี้ ( 5 ส.ค.61) คิดเป็นปริมาณน้ำไหลผ่านทางระบายน้ำล้นประมาณ 300 ลบ.ม./วินาที

ทั้งนี้  2 เส้นทางที่น้ำจะไหลผ่าน คือ ลงแม่น้ำเพชรบุรีที่รับได้ประมาณ 150 ลบ.ม./วินาที และเขื่อนเพชรบุรีรับได้ 50 ลบ.ม/วินาที ดังนั้น ปริมาณน้ำที่เอ่อท่วมก็จะส่งผลตอนล่างของเขื่อนมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น 1 – 2 เมตร

ลุ่มน้ำเพชรบุรี

สำหรับพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมจากปริมาณน้ำล้นสปิลเวย์ของเขื่อนแก่งกระจาน ตั้งแต่บริเวณด้านท้ายอาคารระบายน้ำล้นเขื่อนแก่งกระจานจนถึงเขื่อนเพชร มี 5 อำเภอ ได้แก่ อ.แก่งกระจาน อ.ท่าลาด อ.ท่ายาง อ.บ้านแหลม และอ.เมือง จากการรายงานของผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ได้ซักซ้อมแผนป้องกันและเผชิญเหตุ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไว้ล่วงหน้าแล้วตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา ทั้งระบบการแจ้งเตือน และเตรียมช่วยเหลือประชาชน และตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเมื่อวันที่ 30 ก.ค.61 ซึ่งในวันพรุ่งนี้ (5 ส.ค.61) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ในการกู้ภัยมายังศูนย์ฯ เพื่อพร้อมดำเนินการช่วยเหลือประชาชนได้ทันที และกรมชลประทานได้เร่งดำเนินการขุดทางเพื่อเชื่อมต่อทางระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้เร็วขึ้น และระดมเครื่องสูบน้ำมาในพื้นที่ โดยเฉพาะการเร่งสูบน้ำในเขตเทศบาลเมืองที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา แต่ปีนี้คาดว่าน้ำที่ไหลท่วมจะระบายออกได้เร็วขึ้นอย่างน้อยใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ขณะที่พื้นที่ลุ่มต่ำก็น่าจะประมาณ 1-2 เดือน

ลุ่มน้ำเพชรบุรี

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight