Business

พ่ายโควิด-19! โรงแรมดังทั่วไทยแห่ปิดชั่วคราว พนักงานหลายหมื่นคนสะเทือนหนัก!

การแพร่ระบาดของเชื้อ ‘ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่’ หรือ โรค ‘โควิด-19′ ยังคงแพร่ระบาดไปทั่วโลก รวมทั้งในไทย การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงทำให้ทุกประเทศใช้มาตรการ ‘ล็อกดาวน์’ สกัดการแพร่ระบาด ห้ามคนต่างประเทศเดินทางเข้า-ออก รวมถึง ห้ามคนในประเทศของตัวเองเดินทางออกนอกประเทศ มีการใช้มาตรการการคัดกรองอย่างเข้มข้น ทำให้ทั่วโลกหยุดการเดินทาง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจการท่องเที่ยว

สายการบินทั่วโลกต้องหยุดการให้บริการชั่วคราว ผลของการเดินทางเข้า-ออกแต่ละประเทศไม่ได้ ทำให้ ปริมาณนักท่องเที่ยวหดหายไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย และการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ยิ่งกระหน่ำซ้ำให้ธุรกิจต่อเนื่องที่ได้รับผลกระทบขณะนี้คือ ‘ธุรกิจโรงแรม’ สถานการณ์ตอนนี้พบว่า โรงแรมในประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และแหล่งท่องเที่ยวหลักๆ ได้ประกาศปิดกิจการชั่วคราวไปแล้วนับ 100 แห่ง ทั้งในส่วนของโรงแรมที่บริหารโดยเชนและบริหารโดยคนไทยเอง โดยเป็นโรงแรมที่มีขนาดห้องพักตั้งแต่100 ห้อง ถึง 1,300 ห้อง

ทั้งนี้พบว่าสำหรับเชนโรงแรมรายใหญ่ที่ประกาศปิดให้บริการชั่วคราวแล้ว ในจังหวัดที่ประกาศพื้นที่เสี่ยง และจังหวัดแหล่งท่องเที่ยว ได้แก่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC, บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ก็ประกาศเตรียมปิดให้บริการชั่วคราวเช่นกัน  ล่าสุดคือ “เอสโฮเทล” ที่ปิดโรงแรมชั่วคราวทั้งในไทย มัลดีฟส์ ฟิจิ อังกฤษ

โรงแรม1

โรงแรมดังกลางกรุงทะยอยปิดให้บริการ

จากการสำรวจธุรกิจโรงแรม พบว่าปัจจุบุัน มีโรงแรมทั่วประเทศได้ประกาศปิดกิจการชั่วคราวแล้วนับ 100 ราย หากเป็นโรงแรมในกรุงเทพ ส่วนใหญ่จะเป็นโรงแรมที่ตั้งอยู่ในละแวก ถนนวิทยุ, ร่วมฤดี, สุขุมวิท, สีลม, สาธร, ราชดำริ, รัชดา, ลุมพินี, ริมแม่น้ำเจ้าพระยา, สุรวงศ์, ราชปรารภ, รัชดา, รามคำแหง, ถนนงามวงศวาน จังหวัดนนทบุรี เป็นต้น ส่วนใหญ่ประกาศปิดให้บริการชั่วคราวเริ่ม ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม – 15 เมษายน และมีหลายแห่งที่ปิดยาวถึง 31 พฤษภาคม 2563 ขณะที่ เอทัส ลุมพินี และ เอทัส กรุงเทพ ประกาศปิดกิจการยาวถึงวันที่ 30 กันยายน 2563

สำหรับโรงแรมที่ปิดบริการชั่วคราวในกรุงเทพฯ อาทิ โอกุระ เพรสทีจ, เลอ เมอริเดียน, พูลแมน จี สุรวงศ์, เครือฮิลตัน ได้แก่ ดับเบิล ทรี บาย ฮิลตัน สุขุมวิท, ฮิลตัน สุขุมวิท, แบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค, แบงค็อก แมริออท เดอะ สุรวงศ์, สยาม แอท สยาม, ยู สาธร, ทวิน ทาวเวอร์, โรสวู้ด, เพนนินซูล่า เป็นต้น แต่ละแห่งเริ่มปิดตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา หรือไม่บางแห่งก็จะปิดให้บริการช่วงวันที่ 1 เมษายน 2563 แต่แจ้งเปิดให้บริการไม่ตรงกันบางแห่งเปิดวันที่ 15 เมษายน 2563 บางแห่งเปิดเดือนเมษายน พฤษภาคม เปิดให้บริการยาวถึงเดือนกันยายน 2563 ก็มี

อย่างไรก็ดี จากจำนวนโรงแรมที่ปิดกิจการชั่วคราวกว่า 30 โรง ในกรุงเทพฯ ประเมินกันว่ามีจำนวนห้องพักไม่ต่ำประมาณ 6,000-7,000 ห้อง

เชียงใหม่-ภูเก็ตปิดบริการแล้วกว่า 50 แห่ง

นอกจากนี้ จากการสำรวจตลาดในแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากไวรัสโควิด-19 ได้แก่ เชียงใหม่ และ ภูเก็ต พบว่ามีโรงแรมประกาศปิดบริการชั่วคราวจำนวนมาก โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีโรงแรมประกาศปิดกิจการชั่วคราวเกือบ 50 แห่ง

ทั้งนี้ โรงแรมที่ปิดบริการชั่วคราวในเชียงใหม่ อาทิ เชียงใหม่ ออร์คิด, อิสติน ตัน โฮเทล, โฟร์ซีซัน, โลตัส ปางสวนแก้ว, ยู เชียงใหม่, วีรันดา , โนโวเทล เป็นต้น โดยส่วนใหญ่จะปิดตั้งแต่เดือนเมษายน 2563  ปิดนานสุดถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563

การปิดให้บริการชั่วคราวของโรงแรมนับ 100 แห่ง ครั้งนี้ นอกจากเป็นผลจาก ไวรัสโควิด-19 และ การประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน แล้ว ส่วนหนึ่งยังเป็นผลมาจากอัตราการเข้าพัก (Occupancy) ที่ลดลงอย่างมากเหลือเพียง 5-10% ยกเว้นโรงแรมที่โรงแรมที่มีผู้เข้าพักระยะยาว จะยังพอมีอัตราการเข้าพักอยู่ที่ 30-50% หลังจากนี้คาดว่าจะมีโรงแรมทะยอยปิดให้บริการชั่วคราวเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมากโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว และพื้นที่ที่มีการประกาศ ‘ล็อกดาวน์’ จังหวัดอย่างเช่น ภูเก็ต เป็นต้น

เอวาซอน
ภาพเฟซบุ๊ก:Evason Hua Hin

อย่างล่าสุด วานนี้(30 มี.ค.) บริษัท ปราณบุรี บีช รีสอร์ท จำกัด ได้ประกาศปิดกิจการโรงแรมเอวาซอน หัวหิน และเลิกจ้างพนักงาน โดยระบุว่าบริษัทมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องปิดกิจการโรงแรมเอวาซอน หัวหินและเลิกจ้างพนักงานทุกท่านที่ปฏิบัติงานภายใต้การดำเนินงานของบริษัท ปราณบุรี บีช รีสอร์ท จำกัด

โดยให้เหตุผลและความจำเป็นของการปิดกิจการและการเลิกจ้างพนักงานครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากสถานการณ์ภาวะโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดเป็นจำนวนมากและมากขึ้นตามลำดับ ทั้งในและต่างประเทศ จนต้องปิดประเทศและห้ามคนเข้าประเทศจากทุกยานพาหนะ ทุกด่าน

พนักงานนับหมื่นได้รับผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วงขณะนี้คือพนักงานโรงแรมในทุกระดับ ที่ได้รับผลกระทบจากการจ้างงาน  มีพนักงานโรงแรมทุกระดับ ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้หลายหมื่นคน โดยปกติแล้วพนักงานโรงแรมแต่ละแห่ง จะได้รับเงินจาก 2 ส่วน คือ มาจากเงินเดือน และเงินจากค่าบริการ (เซอร์วิสชาร์จ) จากการที่โรงแรมไม่มีรายได้จากผู้เข้าพักทำให้พนักงานได้รับผลกระทบจากการไม่ได้รับ เงินจากค่าบริการ (เซอร์วิสชาร์จ) อยู่แล้ว ยังต้องโดนซ้ำเติมจากการสูญเสียรายได้จากเงินเดือนอีก ซึ่งหลายๆโรงแรมขอให้ พนักงานลาหยุดโดยไม่ได้รับค่าจ้าง (Leave Without Pay) สำหรับการประกาศปิดให้บริการชั่วคราวของแต่ละโรงแรมการดูแลพนักงานขึ้นอยู่กับข้อตกลงในการจ่ายเงินเดือน ว่าจะมีการจ่ายในสัดส่วนเท่าไหร่ ในระหว่างหยุดให้บริการ

ดังนั้น สื่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วนคือ การหาแนวทางเยียวยาพนักงานโรงแรมนับหมื่นคน โดยเฉพาะพนักงานโรงแรมที่อยู่ในระบบประกันสังคม ทำให้ไม่ได้รับมาตรการเยียวยาเดือนละ 5,000 บาทจำนวน 3 เดือน

ถึงแม้ว่าจะมีโรงแรมบางแห่งจ่ายเงินเดือนให้เหมือนเดิม แต่ส่วนใหญ่เป็นการให้หยุดงานโดยไม่รับเงินเดือน รวมถึงการหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงแรมที่ต้องการการเยียวยาอย่างเร่งด่วนเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรมระดับกลาง-เล็กที่มีสายป่านไม่ยาวนัก ไม่เช่นนั้นเราจะเห็นโรงแรมที่จำเป็นต้องตัดสินใจปิดกิจการแบบถาวรอีกหลายแห่ง

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight