Wellness

‘ความจริง..ของหมอ’ 90% เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์เพราะ‘อดนอน’

ในโอกาสครบรอบ 50 ปี แพทยสภา ได้เปิดตัวโครงการการ์ตูน “ด็อกเตอร์ซีรีส์”  เป็นการจัดทำภาพนิ่งการ์ตูน บทความ รูปแบบอินโฟกราฟฟิก เนื้อหาเกี่ยวกับ ความจริงเกี่ยวกับการทำงานของแพทย์ ใน 14 ราชวิทยาลัย เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊ก แพทยสภา

ด็อกเตอร์ซีรีส์ แพทยสภา

การ์ตูนด็อกเตอร์ซีรีส์ มีเนื้อหา 12 ตอน นำเสนอทุกวันพุธ-พฤหัส ตอนแรกเริ่มวันที่ 1 ส.ค.2561 เรื่องราวของศัลยแพทย์ที่ทำงานหนัก ผ่าตัดรักษาผู้ป่วยอุบัติเหตุเมาแล้วขับ แต่สุดท้ายแพทย์ก็ต้องเสียชีวิตเพราะอดนอนจากการผ่าตัดต่อเนื่องและไม่ได้พักผ่อน

dr 11

การ์ตูน ด็อกเตอร์ซีรีส์ Ep.1

จากสถิติจากแพทยสภา ปี 2551-2560 พบว่าแพทย์ที่มีอายุระหว่าง  25-50 ปี สัดส่วน 90%  ที่เสียชีวิตเกิดจากอุบัติเหตุรถยนต์  สาเหตุเพราะ “อดนอน”  จากการทำงานหนักต่อเนื่อง

ด็อกเตอร์ซีรีส์ แพทยสภา

เฟซบุ๊ก แพทยสภา ยังบอกเล่าเรื่องราว “ความจริง..ของหมอ” ที่พบว่ากว่าครึ่งของผู้ป่วยอุบัติเหตุในยามค่ำคืน ล้วนมีสาเหตุจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ทั้งจากความประมาท โชคร้าย หรือเป็นเหยื่อจากกลุ่มเมาแล้วขับ ซึ่งส่วนหนึ่งต้องได้รับการผ่าตัดช่วยชีวิตอย่างเร่งด่วน หมอแต่ละคน อาจต้องผ่าตัดคนไข้หนักคืนละ 3-5 ราย

ตารางชีวิตของคนเป็นหมอโดยทั่วไป เริ่มตั้งแต่เช้าออกตรวจคนไข้ในหอผู้ป่วย จากนั้นจึงออกตรวจผู้ป่วยนอก ผ่าตัดหรือทำหัตถการคนไข้ที่นัดไว้ ตกเย็น..ออกตรวจที่หอผู้ป่วยในอีกครั้ง ถ้าวันใดต้องอยู่เวรกลางคืน นั่นแปลว่าวันนั้นจะต้องทำงานข้ามวันข้ามคืน 24 ชั่วโมง และอาจต้องทำงานต่อเนื่องถึง 72 ชั่วโมง! (ในเวรวันหยุด ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์)

การผ่าตัดผู้ป่วยหนักจากอุบัติเหตุแต่ละราย มักจะใช้เวลาหลายชั่วโมงติดต่อกัน หลังผ่าตัดเสร็จต้องประเมินคนไข้ว่าปลอดภัยแน่ จึงเป็นเวลาที่หมอโล่งใจและได้พักเสียที

หมอไทยจึงเป็นวิชาชีพหนึ่งที่จำต้องอดนอนเยอะมาก กลางวันรับผิดชอบรักษาคนไข้ในและนอก รวมถึงผ่าตัด-หัตถการ ส่วนกลางคืนอยู่เวรเพื่อรอดูแล ผู้ป่วยฉุกเฉินและอุบัติเหตุ

หลายคนอาจถามว่า แล้วหมอจะมีสภาพที่พร้อมทำงานจริงหรือ คำตอบคือ มีสิ! เพราะหมอจะหาจังหวะ “งีบพัก” ในช่วงที่ปลอดงานหรือรอยต่อ ระหว่างรอผ่าตัด หรือรอดูคนไข้รายต่อไป เพื่อชาร์ตแบตตัวเอง ให้มีพลังเพียงพอที่จะดูแลคนไข้อุบัติเหตุและฉุกเฉินให้ได้ตลอดทั้งคืน และรวมถึงการช่วยชีวิตผู้ขับขี่และเหยื่อที่มาจากเมาแล้วขับ

หลังออกเวรดึก จึงเป็นช่วงเวลาที่หมอเหนื่อยล้าสุดๆ ที่อาจเกิดอุบัติเหตุระหว่างทางกลับบ้านได้ คุณอาจตั้งคำถามว่า แล้วทำไมหมอไม่หยุดพัก คำตอบง่ายๆ คือ ในหลายพื้นที่เรายังมีหมอไม่เพียงพอต่อผู้ป่วย หากหมอหยุดแล้วผู้ป่วยก็จะไม่ได้รับการรักษา

เกือบทุกปี เราต้องสูญเสียหมอจากอุบัติเหตุบนท้องถนน เป็นความสูญเสียทั้งต่อครอบครัวหมอ วงการแพทย์ และประเทศชาติ เพราะกว่าจะผลิตหมอได้สักคน ให้พร้อมทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ต้องใช้เวลานับ 10 ปี โดย 6 ปีแรกเรียนแพทยศาสตร์ เพิ่มพูนทักษะ 1 ปี ใช้ทุนอีก 2 ปี เรียนต่อแพทย์เฉพาะทางอีก 3-5 ปี

ตลอด “ชีวิต” ของหมอ 1 คน จะสามารถช่วยผู้ป่วยได้มากถึง 1.5-2 แสนครั้ง..หากเขามีอายุยืนยาวถึงเกษียณ

ตัวเลขจากศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ Thai RSC ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 1 สิงหาคม 2561 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุไปแล้ว 9,550 คน และมีคนบาดเจ็บถึง 585,852 คน ซึ่งจำนวนมากเกิดจาก “เมาแล้วขับ” ผู้บาดเจ็บทั้งหมดล้วนต้องการ “หมอ” เพื่อมาช่วยเยียวยารักษาชีวิต

“เมาแล้วขับ” จึงไม่เพียงทำลายชีวิตคุณ และ ชีวิตคนอื่นบนท้องถนน แต่อาจทำร้าย “ชีวิตหมอ” ที่กำลังจะต้องไปช่วย “ชีวิตคนอื่น”…ซึ่งอาจเป็นคนที่คุณรัก

ด็อกเตอร์ซีรีส์ แพทยสภา

Avatar photo