Business

กองรีท ‘BKER’ งัดมาตรการช่วยผู้เช่า 10 ศูนย์การค้า

กองรีท BKER ผู้บริหาร 10 ศูนย์การค้าดัง เผยกลยุทธ์ช่วยร้านค้าฝ่าวิกฤติโควิด-19 ทั้งลดค่าเช่า ประสานสินเชื่อธนาคาร หนุนเพิ่มช่องทางทำตลาด พร้อมเร่งนำเทคโนโลยีมาพัฒนาทุกด้าน หวังเติบโตต่อเนื่องหลังสถานการณ์คลี่คลาย

นางศุภานวิต เอี่ยมสกุลรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เค.อี. ผู้บริหารกองทุน กองรีท BKER กล่าวว่า ปัจจุบันกองรีท BKER เป็นผู้บริหารศูนย์การค้าทั้ง 10 โครงการ ได้แก่ ซีดีซี คริสตัล ดีไซน์ เซ็นเตอร์, เดอะคริสตัล เอกมัย-รามอินทรา, เดอะคริสตัล เอสบี ราชพฤกษ์, อมอรินี รามอินทรา, แอมพาร์ค จุฬา, เพลินนารี มอลล์ วัชรพล, สัมมากร รามคำแหง รังสิต ราชพฤกษ์ และเดอะซีน มีมูลค่าสินทรัพย์รวม 11,300 ล้านบาท พื้นที่โดยรวม 5 แสนตร.ม. และพื้นที่ขายประมาณ 1.4 แสนตร.ม.

TCR

ทั้งนี้ หลังจากกรุงเทพมหานคร ประกาศให้ศูนย์การค้าปิดชั่วคราว เว้นแต่ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยา ร้านอาหารประเภทเดลิเวอรี่และซื้อกลับบ้าน ฯลฯ  ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม – 12 เมษายน 2563 จากการทำความเข้าใจกับร้านค้าถึงมาตรการของ กทม. พบว่าทุกร้านค้าได้ให้ความร่วมมือด้วยดี

ขณะที่ทางกองทุน BKER ได้วางนโยบายในการให้ความช่วยเหลือร้านค้าที่ชัดเจน ได้แก่ การให้ส่วนลดร้านค้า การช่วยประสานธนาคารด้านการเงินให้กับร้านค้า การสนับสนุนและเพิ่มช่องทางด้านการตลาด การใช้สื่อประชาสัมพันธ์ในการสั่งอาหารจากร้านอาหาร เป็นต้น

ขณะเดียวกัน แม้ว่าขณะนี้จะต้องปิดบริการตามประกาศของ กทม. แต่ก็ยังคงวางกลยุทธ์การเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเน้นพัฒนาศักยภาพศูนย์การค้าทั้ง 10 แห่งให้มีผลประกอบการที่ดีขึ้นทั้งด้านการบริหารรายได้ และการบริหารต้นทุน ส่วนการลงทุนในทรัพย์สินใหม่ปัจจุบันมีกว่า 40 แห่ง ที่แสดงความสนใจและให้ทำการศึกษา โดยอยู่ในกรุงเทพ 68% ต่างจังหวัด 22% และต่างประเทศ 10%

1.นางศุภานวิต เอี่ยมสกุลรัตน์ และ นายกวินทร

พร้อมกันนี้ ยังได้ปรับการบริหารงาน โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในทุกด้าน ซึ่งได้จัดทำ “KE Tech Road Map” ในการพัฒนาทุกด้าน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานในทุกกลุ่มธุรกิจ

ด้านนายกวินทร์ เอี่ยมสกุลรัตน์ กรรมการ บริษัท เค.อี. รีท แมเนจเมนท์ จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า กลยุทธ์หลักที่กองรีท BKER ได้เข้าไปบริหารทั้ง 10 โครงการ ได้แก่

1. Attract top-brand tenants and customize to each neighborhood กลยุทธ์การปรับเพิ่มร้านค้าให้ตรงกลุ่ม และเพิ่มแบรนด์ดังในกลุ่มที่เป็นความต้องการในชีวิตประจำวัน อาทิ ร้านอาหาร ร้านกาแฟชื่อดัง ฟิตเนส ทำให้ Occupancy rate เพิ่มสูงขึ้น และมีข้อดีกับการเพิ่มขึ้นของอัตราค่าเช่าในอนาคต ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนแบรนด์ชั้นนำมีประมาณ 30%

2. Experiential place-making กลยุทธ์การสร้างบรรยากาศใหม่ เช่น การมีสถานที่ที่เป็นคอมมูนิตี้, สถานพบปะสังสรรค์ หรือเป็นสถานที่สามารถทำงานได้ในบรรยากาศสบายๆ

SPRM

 

3. Tech and operations platform การใช้เทคโนโลยีในการบริหารงานทุกขั้นตอน สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนได้อย่างมีนัยสำคัญ

4. Cost reduction through synergy การเพิ่มความสามารถในการลดค่าใช้จ่ายในการบริหารศูนย์จากการมีขนาดที่ประหยัด (economy of scale) ปัจจุบัน สามารถลดค่าใช้จ่ายประเภทสัญญาจ้างภายนอก (outsource contract) เบื้องต้น ได้แก่ ยามและแม่บ้านได้กว่า 20% และลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานจากการบริหารที่มีประสิทธิภาพลงได้กว่า 5%

5. Sustainability การพัฒนาอย่างยั่งยืน การนำแนวทางลดหรือประหยัดพลังงานอย่างยั่งยืน ปัจจุบันได้ทำสัญญาในการทำโซลาร์เซลล์ ที่ ซีดีซี เพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้ากว่า 20% โดยมีแผนงานต่อไปในโครงการอื่นๆ

CDC

6. Quality asset investment การเข้าไปลงทุนในทรัพย์สินหรือโครงการใหม่ในอนาคตที่มีคุณภาพ

สำหรับภาพรวมศูนย์การค้าในกองทรัสต์ BKER ณ 31 ธันวาคม 2562 มีอัตราการเช่าโดยรวมอยู่ที่ 93% มีอัตราการต่อสัญญาที่มีอัตราค่าเช่าปรับสูงขึ้นได้เฉลี่ย 2.9% สำหรับอัตราการเติบโตของจำนวนรถเข้าศูนย์การค้า เดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ 2563 มีอัตราการเติบโตของจำนวนรถเข้าศูนย์ (Traffic Growth) สูงขึ้น 1.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา 2562

Avatar photo