COLUMNISTS

Disruption and Innovation

กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด
779

สวัสดีครับ อยากมาพูดเรื่องน่าสนใจที่ถูกพูดถึงมากๆๆๆ ในช่วงนี้ คือ เรื่อง Disruption ของธุรกิจหรืออุตสาหกรรมต่างๆ กับเรื่องที่มักจะถูกโยงไปด้วยกันคือเรื่องการสร้างหรือการบริหารจัดการนวัตกรรมขององค์กร เรื่องแรกคือเรื่อง Disruption นั้น สิ่งที่น่าสนใจคือไม่นานมานี้ IBM โดย Ginni Rometty ประธานเจ้าหน้าที่ผู้บริหารหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของ IBM ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ทรงอิทธิพลจากการจัดอันดับต่างๆ เช่น Bloomberg และ Fortune ให้เธอเป็น 1 ใน 50 หญิงที่ทรงอิทธิพลของธุรกิจ และ TIME ให้เธอเป็นผู้ที่ทรงอิทธิพลอันดับ 6 ในปี 2018 ทางด้าน Technology เป็นต้น

เธอกับผู้บริหารอีก 100 คนในธุรกิจได้มาพบกันเพื่อพูดคุยถึง “อนาคต” ของธุรกิจโดยเฉพาะประเด็นของความอยู่รอดหรือความล้มเหลวของบรรดาธุรกิจใหญ่ พวก Big boys ต่างๆ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าในช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะในระยะ 10 ปีนี้ มีธุรกิจที่โดนเผาทำให้ล้มหายตายจาก หรือ ถูกกลืนไปมากต่อมาก พวกผู้บริหารเหล่านี้แลกเปลี่ยนความเห็นกันว่ากระแสการ Disruption กับการที่พวกเขาปรับตัวและต่อสู้ รวมถึง “โต้กลับ” นั้นเป็นยังไงบ้าง?

สิ่งที่ Rometty เธอพูดถึงเปิดประเด็นเลยคือ เธอคิดว่าตอนนี้จะไม่เหมือนช่วงที่ผ่านมาแล้ว บริษัทขนาดใหญ่จะมีโอกาสในการที่จะ Disrupt คนอื่นบ้าง … อย่างมากขึ้น แทนที่จะเป็นฝ่ายถูก Disrupted เองเหมือนที่ผ่านๆ มา!!! ช่วงที่ผ่านมานั้น “เข้าทาง” บริษัทขนาดเล็กหรือ Startups ต่างๆ โดยมีบริษัทขนาดใหญ่จำนวนน้อยเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ เก็บเกี่ยวโอกาสได้ แต่ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว เพราะอะไร? เพราะว่าด้วยเทคโนโลยี ความพร้อมและความจำเป็นทางธุรกิจทำให้กระแสกับโอกาสเปลี่ยนจาก Platform ไปเป็นองค์ความรู้ การบริหารจัดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลและความรู้ที่มีที่เก็บรวบรวมไว้ และจากความรู้ความเชี่ยวชาญและความชำนาญ ซึ่งทั้งหมดนี้บริษัทองค์กรใหญ่ๆ ไม่ได้เสียเปรียบบริษัทขนาดเล็กหรือ Startups เหมือนที่ผ่านมาเลย ในทางตรงข้ามกลับได้เปรียบมากกว่าด้วยซ้ำ

แต่มันมีจุดหักมุมนิดนึงที่ว่า พวกเขาจะมองทะลุและนำจุดแข็งจุดได้เปรียบที่ตัวเองมีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้เต็มที่หรือไม่ด้วย? เพราะสิ่งหนึ่งที่บริษัทขนาดเล็กหรือ Startups ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จได้ คือการที่บริษัทองค์กรขนาดใหญ่มองไม่เห็นในสิ่งที่ควรมองเห็น!!! ซึ่งตรงนี้ Rometty ที่มีพื้นเพมาจากการเป็นวิศวกรระบบแนะไว้ว่าเจ้าปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะช่วยได้ แต่ส่วนตัวแล้วผมคิดว่าการที่บริษัทหรือองค์กรใหญ่ปรับตัว เปลี่ยนแปลงในช่วงที่ผ่านมาหลายๆ อย่างโดยหนึ่งในนั้น คือ การนำคนรุ่นใหม่ คนนอก ทลายกำแพงเดิมๆ ออกไปน่าจะเป็นตัวช่วยที่มี Impact มาก เมื่อประกอบกับ AI ด้วยตามที่ Rometty พูดถึงทำให้เกิดพลังของความได้เปรียบและความสามารถแข่งขันที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดทันที

นอกจากประเด็นหลักเรื่องที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว  IBM ยังสรุปสิ่งที่ได้จากการสำรวจของ IBM ก่อนหน้าการพบปะนี้ และได้นำมาแบ่งปันกันอีกด้วย สรุปได้ว่า (1) บริษัท 100 แห่งนี้เห็นตรงกันว่าความรู้ ความเชี่ยวชาญ ความชำนาญของบริษัทนั้นเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งยวดกว่าที่ผ่านๆ มา อย่างไรก็ตาม การจะใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่และสร้างความเหนือกว่าได้นั้น เทคโนโลยีเป็นตัวช่วยที่สำคัญ

(2) ข้อมูลเป็นสมบัติที่สำคัญของบริษัทองค์กรขนาดใหญ่ แต่ความท้าทายที่ต้องเอาชนะให้ได้ คือ ทำอย่างไรจะเปลี่ยนข้อมูลมหาศาลเหล่านี้เป็นตัว Intelligence ให้กับตัวเองให้ได้ ผมไม่ขอแปล Intelligence เป็นไทยเพราะว่าใช้คำภาษาอังกฤษเดิมจะให้ความหมายได้ดีกว่า ซึ่งประเด็นนี้เราเรียกกันสั้นๆ จนติดปากในปัจจุบันว่า Big Data นั่นเอง และ (3) ทุกบริษัททั้ง 100 บริษัท กำลังพัฒนา Platform ใหม่ที่จะเป็นอนาคตของตัวเองใหม่

จะเห็นได้ว่าทั้ง 3 ประเด็นที่ได้จากการสำรวจนี้ ตรงกับสิ่งที่ได้จากการพูดคุยกันของ Rometty กับบรรดาผู้บริหารจากทั้ง 100 บริษัทเป๊ะ มีเพียงเจ้าตัว Platform เท่านั้นที่ฟังดูเหมือนจะขัดๆ กัน แต่ถ้าให้คิดเพิ่มเติมก็อาจคิดได้ว่ามันเป็นการต่อยอดจากเจ้า 2 ตัวแรกและจากสิ่งที่พวกผู้บริหารได้พูดคุยกัน

สุดท้ายเลยคือตัวอุปสรรคครับ ฝรั่งเองก็ยังยอมรับว่าอุปสรรคสำคัญที่พวกผู้บริหารทั้ง 100 คนเจอมาโดยตลอดคือวัฒนธรรมองค์กร ทำอย่างไรให้องค์กรมีวัฒนธรรมที่พร้อมกับการเปลี่ยนแปลง วัฒนธรรมที่เป็นการยอมรับสิ่งใหม่ๆ ในองค์กรให้ได้