Economics

จาก ‘หลังเต่า’ สู่ ‘Duck Curve’ ไฟฟ้าไทย

กราฟเป็ด

ประมาทไม่ได้กับยุคดิจิทัลที่อะไรๆ ก็เปลี่ยนแปลงได้เร็วเกินคาด ด้วยความก้าวหน้าของ Disrupt Technology ส่งผลให้เกิดปรากฏในวงการต่างๆ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในช่วงเวลานี้

สำหรับวงการไฟฟ้าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้วเช่นกัน โดยมีการจับสัญญาณได้ชัดเจนจากกราฟแสดงการใช้ไฟฟ้าในแต่ละวัน จากกราฟที่เคยเป็นรูป “หลังเต่า” นูนสูงขึ้นตรงช่วงกลาง ตามช่วงเวลาการใช้ไฟฟ้าที่มักจะกระโดดพุ่ง (พีค) ในตอนกลางวันราว 13.00-15.00 น.ของทุกๆวัน และลดลงตามลำดับ

มาเป็น  “Duck Curve” หรือ กราฟรูป “หลังเป็ด” หรือแอ่นลงตรงกลาง กลับตาลปัตรเป็นการใช้ไฟฟ้าตอนกลางวันต่ำ และกระโดดสูงในช่วง 18.00 น.เป็นต้นไป ความผิดปกตินี้เกิดขึ้นชัดเจนเมื่อ 2 ปีก่อน และถูกค้นหาสาเหตุมาตามลำดับ

แล้วก็พบว่าไม่ใช่สาเหตุอื่นไกล แต่มาจากการผลิตพลังงานหมุนเวียนที่ทะลักเข้าระบบมาแทนที่การผลิตจากโรงไฟฟ้าหลักที่ใช้ฟอสซิล ตามนโยบายการส่งเสริมของกระทรวงพลังงานที่มีมาตรการจูงใจเป็นรูปธรรมด้วยราคาซื้อไฟฟ้าบวกเพิ่ม (Feed-in Tariff) และเปิดทางให้เดินเครื่องเข้าระบบประเทศก่อนโรงไฟฟ้าหลัก เรียกว่า “ซื้อง่ายขายคล่อง”  รวมถึง การผลิตไฟฟ้าใช้เองแบบ “โซล่าร์รูฟท็อป”  หรือ ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคาร และบ้านเรือนที่กำลังมาแรง

ข้อมูลกำลังผลิตตามสัญญาณ เดือนเมษายน 2561 มีพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบแล้ว 11,173  เมกะวัตต์ จากกำลังผลิตรวมทั้งประเทศประมาณ 57,600 เมกะวัตต์ หากตัดพลังน้ำต่างประเทศ 2,104    เมกะวัตต์ และพลังน้ำในประเทศ 3,549 เมกะวัตต์ จะมีพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบตามลำดับดังนี้

  • พลังงานแสงอาทิตย์ 2,573 เมกะวัตต์
  • ชีวมวล 1,668 เมกะวัตต์
  • ลม 650 เมกะวัตต์
  • ก๊าซชีวภาพ 313 เมกะวัตต์
  • ขยะ 270 เมกะวัตต์

ตัวเลขพลังงานหมุนเวียนที่เข้าระบบมากขึ้น ทั้งโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ขนาดเล็กมาก (VSPP ) เป็นเหตุให้พีคในระบบของ 3 การไฟฟ้าลดลง ในปี 2559 เทียบปี 2560 ลดลง 669 เมกะวัตต์ เฉพาะพีค ของ กฟผ.ลดลง 1,040 เมกะวัตต์ จาก 29,618 เมกะวัตต์ในปี 2559 เหลือ 28,578 เมกะวัตต์ในปี 2560 เป็นที่มาของกราฟ “หลังเป็ด” และสำรองไฟฟ้าของระบบที่สูงถึง 30%

เมื่อประชาชนคนธรรมดาก็ผลิตไฟฟ้าได้ วันนี้โรงไฟฟ้าใหญ่โตของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงถูกลดบทบาท กลายเป็น “ตัวสำรอง” รอเดินเครื่องเมื่อพลังงานหมุนเวียนไม่สามารถเข้าระบบได้ หรือในช่วงค่ำราว 18.00 น.เป็นต้นไป และทำหน้าที่รอเดินในกรณีฉุกเฉิน

 

142740

 ต่อไปใน 1 เดือน โรงไฟฟ้าของกฟผ.อาจเดินเครื่องจริงๆไม่กี่วัน 

 สหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ กฟผ. ประเมินอนาคต ว่ากฟผ.อาจถูก disrupt

 สหรัฐ  เล่าว่าสัญญาณอันตรายเกิดให้เห็นในปี 2560 เมื่อเกิดกราฟรูป  “Duck Curve” ที่กำลังแอ่นลงตรงกลางมากขึ้น เพราะผู้ประกอบการต่างจับมือกันติดตั้งโซล่าร์รูฟท็อปในพื้นที่ของตนเอง เช่น โครงการอสังหาริมทรัพย์ โรงงานอุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรม และในมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองแทนที่จะซื้อจากระบบ และกำลังนำ Blockchain Technology“ มาใช้ในการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันผ่านอินเทอร์เน็ต และหากใช้กันเองไม่หมดสามารถเชื่อมสายขายเข้าระบบได้อีกด้วย

 สหรัฐ บอกข้อกังวลว่า ไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล หรือก๊าซชีวภาพสามารถสำรองเชื้อเพลิงไว้ป้อนโรงไฟฟ้าได้ ขณะที่แสงอาทิตย์ หรือลม ยังน่าเป็นห่วง เพราะผลิตได้เฉพาะตอนแดดแรง หรือลมมาในช่วงกลางวันเท่านั้น

เมื่อเป็นพลังงานที่ไม่เสถียรแต่ทะลักเข้าระบบ โจทย์ใหญ่ที่ต้องหาแนวทางแก้ไข จึงมี 2 ทาง คือ 1.ผู้ผลิตต้องนำแบตเตอร์รี่ไปติดตั้ง เพื่อเก็บพลังงานไว้ใช้ในช่วงที่ “แดดไม่มี ลมไม่มา” แต่ยอมรับว่าต้องลงทุนเพิ่มเป็นดับเบิ้ล ยกตัวอย่าง ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เมกะวัตต์ละ 35-40 ล้านบาท ต้องลงทุนแบตเตอร์รี่สำรองอีกเท่ากันประมาณ 35-38 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ เพราะขณะนี้ราคายังสูง แต่จะช่วยทำให้การผลิตไฟฟ้ามีเสถียรภาพมากขึ้น

แนวทางที่ 2 คือ การสำรองระบบด้วยโรงไฟฟ้าของกฟผ. แต่ต้องปรับให้โรงไฟฟ้ายึดหยุ่น และคล่องตัวมากขึ้นกว่าเดิม รองรับขณะที่แสงอาทิตย์ต้องลดกำลังผลิตลงด้วยธรรมชาติไม่เอื้ออำนวย  ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีการจัดเรียงการผลิตไฟฟ้าไว้สำหรับการผลิตสำรองฉุกเฉิน  ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังน้ำที่สามารถเดินเครื่องมาช่วยได้ภายใน 3-5 นาทีและต้นทุนต่ำ ตามด้วยโรงไฟฟ้ากังหันแก๊ส และโรงไฟฟ้าพลังความร้อน

แต่จะสลับโรงไฟฟ้าขึ้นลงอย่างไรไม่ให้กระตุก จำเป็นต้องมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันมารองรับการตัดสินใจ  สหรัฐ ชี้ว่าระบบที่ว่าก็คือ มิเตอร์ออนไลน์ เพื่อส่งสัญญาณการใช้แบบเรียลไทม์มายังศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติ  เพื่อสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่เหมาะสม

“แม้จะผ่านมาหลายปีแล้ว แต่มิเตอร์ออนไลน์ยังไม่เกิด ทั้งที่เป็นตัวส่งสัญญาณที่สำคัญ เพราะหน่วยงานที่รับผิดชอบยังไม่ได้ดำเนินการ”  

 สหรัฐ เป็นห่วงว่า หากไม่เร่งทำ จะทำให้เกิดปัญหาในการบริหารจัดการผลิตและสำรองไฟฟ้าของประเทศในไม่ช้า เพราะแหล่งผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กๆกระจายตัวมากขึ้น ทั้งแบบโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและแบบผลิตจากโซล่าร์รูฟท็อป จนทำให้ข้อมูลการผลิต รวมถึงการใช้ไฟฟ้าตกหล่น อาจนำมาสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด

นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องปรับปรุงอีกประการ  คือ “สัญญาซื้อขายไฟฟ้า” เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้นเหมือนในบางประเทศจะมีสัญญาที่เรียกว่า  Ancillary Service Contract”  ซึ่งเป็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ทำกับโรงไฟฟ้าหลัก ที่เข้ามาทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้าในช่วงฉุกเฉินกรณีที่พลังงานหมุนเวียนผลิตไม่ได้ ซึ่งโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องแบบนี้จะมีต้นทุนสูงกว่า ขณะนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่ระหว่างศึกษา

 สหรัฐ ย้อนกลับมามองที่องค์กรกฟผ.   ยอมรับว่า ต้องเร่งปรับตัวไม่เช่นนั้น จะถูก disrupt ภายในไม่กี่ปี

north 2

ทางรอด  คือ ต้องทำให้โรงไฟฟ้าอนาคตคล่องตัว เหมือนขับรถเฟอร์รี่ แล่นเร็วหยุดเร็ว เพื่อมาเติมระบบให้ทัน ขณะเดียวกันต้องแสวงหาเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าใหม่ๆ

ขณะที่คนกฟผ.ก็ต้องปรับ เพื่อทำให้องค์กรกระชับ และ คล่องตัวเหมือนโรงไฟฟ้า  ที่ผ่านมาได้เริ่มทำไปแล้ว เป็นการปรับลดสายงานลงจากเดิม 12 สายงานเหลือ 8  ส่วนคนกฟผ.มีนโยบายจะลดให้เหลือ 12,000-15,000  คนภายใน 4-5 ปี จากปัจจุบันมี 21,000 คน

“ที่สำคัญต่อไปกฟผ.ต้องวางแผนการบริหารจัดการให้เป็นเชิงยุทธศาสตร์มากขึ้น ไม่ใช่มองเฉพาะแผนผลิตไฟฟ้าและแผนรัฐวิสาหกิจเท่านั้น เพื่อให้เราอยู่ได้รอดท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง”  

Avatar photo