General

แรง! ผู้ติดเชื้อกทม.1 คน แพร่โรคอีก 3.4 คน

ย้ำตัวเลขผู้ติดเชื้อคนกรุง 1 คน แพร่เชื้อให้คนอื่น 3.4 คน รองลงมา 4 จังหวัดใต้ 1 ต่อ 2.2 ส่วนจังหวัดอื่นๆ 1 ต่อ 1.8 ย้ำ Social Distancing ผกผันตามยอดการแพร่เชื้อ หากช่วยกัน ลด/งด การเดินทาง 80% ลดยอดผู้ป่วยได้ 50% ในสิ้นเดือนเม.ย.เหลือไม่ถึงพันคน

ANN 0941

พญ.วลัยรัตน์ ไชยฟู ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สถานการณ์ไวรัส COVID-19 ในตอนนี้ คือ ติดเชื้อทั่วโลกแล้วใน 192 ประเทศ มีผู้ป่วยยืนยันมากขึ้นเป็น 366,000 ราย เสียชีวิตรวม 16,098 ราย

สำหรับประเทศไทยล่าสุดยอดผู้ป่วยสะสม 827 ราย เสียชีวิตแล้ว 4 ราย เป็นอันดับที่ 31 และนับจากวันที่ 15 มีนาคมเป็นต้นมา ยอดผู้ติดเชื้อของไทยเกินหลักร้อย จาก 114 ราย ในวันที่ 15 มีนาคม มาอยู่ที่ 827 รายในวันที่ 24 มีนาคม หรือภายใน 10 วัน มีผู้ติดเชื้อเพิ่มถึง 713 คน

426772

มาดูข้อมูลผู้ป่วยของไทย จะไม่ต่างกันมาก ส่วนใหญ่เป็นชาย หรือมีสัดส่วน ชายต่อหญิง 2 ต่อ 1 การติดเชื้อในประเทศไทย พบคนไทยเป็นหลัก ในช่วงแรกอายุ 30-39 ปี ต่อมา มีปัจจัยใหม่ ที่ติดจากสถานที่ ที่วัยรุ่นไปเที่ยว อาทิ ผับ และสนามมวย กลุ่มอายุจึงมีทั้ง กลุ่ม 30-39 และ 20-29 ปี

ส่วนพื้นที่พบการป่วย ซึ่งเราหมายถึงสถานที่ผู้ป่วยไปรักษา กระจายไปใน 47 จังหวัด มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงเทพ ต่อมากระจายไปต่างจังหวัด จากกรณีติดจากสนามมวยจนสัดส่วนใกล้กัน ณ วันนี้ ( 24 มี.ค.) ผู้ติดเชื้อกระจุกตัวในเขตกทม. 349 ราย ต่างจังหวัด 306 ราย อยู่ระหว่างสอบสวน 172 ราย

426770

สำหรับอัตราการแพร่เชื้อในรอบ 7 วัน คนกรุงเทพ 1 คน แพร่เชื้อ 3.4 คน ส่วนใน 4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สงขลา ปัตตานี ยะลา และภูเก็ต ผู้ป่วย 1 คน แพร่เชื้อให้คนอื่น 2.2 คน ส่วนจังหวัดอื่น สัดส่วน 1 ต่อ 1.8 คน

ปัจจุบันเส้นผู้ป่วยเพิ่มของไทย กำลังพุ่งไม่หยุด หากเป็นอย่างนี้ต่อไป คาดการณ์แนวโน้มผู้ป่วยเกินหลักพันแน่นอน หรือไปถึง 1,600-1,700 คน แต่ถ้าประชาชน ลดระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) 50% ผู้ป่วยใหม่จะลดเหลือ 1,100-1,200 คน หากลดระยะห่างทางสังคม ลงได้ 80% เราจะลดยอดผู้ป่วยใหม่ลง 50% เหลือ 700-800 คนในสิ้นเดือนเมษายน 2563

426769

” ปัจจุบัน คนกรุงเทพ ไม่รู้ได้ว่าใครติดเชื้อบ้าง ดังนั้นหากเราไม่เดินทางไปไหน ก็จะไม่แพร่เชื้อกัน ผู้สูงอายุ ซึ่งปกติก็จะไม่ออกไปไหนอยู่แล้ว ก็จะปลอดภัย โดยเฉพาะในต่างจังหวัด หากเราเดินทางกลับบ้าน ก็เหมือนเราเชื้อจากนอกบ้านไปให้คนในบ้าน ดังนั้นทุกคนต้องช่วยกัน จำกัดการเดินทางของตวเอง และสร้างระยะห่างให้มากขึ้น ”  

ขอย้ำเตือนประชาชน ช่วยกันรักษาระยะห่างทางสังคม เว้นระยะห่างระหว่างกัน 1 -2 เมตร งด/ลด การเดินทางโดยไม่จำเป็น ไม่ไปในพื้นที่แออัด แยกสำรับอาหารไม่ใช้ช้อน ถ้วย ชาม แก้วน้ำร่วมกัน หากมีอาการโรคระบบทางเดินหายใจ ไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ให้สวมหน้ากากอนามัยไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติเสี่ยง ขอให้ทุกคนร่วมมือกันเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไปในวงกว้าง ลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ให้มีน้อยที่สุด

Avatar photo