General

‘หมอศิริราช’ ขอคนไทย ‘หยุด อยู่บ้าน’ เบรคสถานการณ์วิกฤติ ยอดตายทะลุ 7 พัน เดือนเม.ย.

หมอศิริราช! สุดทน ย้ำ 1 เดือนรู้ผลหากคนไทยใช้ชีวิตปกติ ยอดติดเชื้อไวรัส COVID-19 ทะลุ 3.5 แสน ตาย 7,000 คน แน่นอน ระบบรักษาพยาบาลรองรับไม่ได้ “ต้องเลือกรักษาใคร” ขอร้องคนไทยช่วยกันทำวันนี้ ยึดหลัก “โรคติดต่อจะไม่ติดต่อ หากคนไม่ติดต่อกัน”  ต้องอยู่บ้าน การควบคุมโรคจึงจะได้ผล

thumbnail 48 ตัด 3

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล และทีม ประเมินสถานการณ์ไวรัส COVID-19 มาระยะหนึ่ง โดยอาศัยข้อมูลต่างๆประกอบ สุดท้ายต้องออกโรงเล่าสถานการณ์ และการประเมินความรุนแรงตามหลักวิชาการ ที่ประเทศไทยมีโอกาสได้เจอ เพื่อย้ำ และขอร้องให้คนไทยออกแรงช่วยกัน ณ ตอนนี้ก่อนจะสายเกินไป

โดยคุณหมอ บอกว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูล และนำไปสู่การหารือกับนายกรัฐมนตรี และผู้ว่าราชการจังหวัด หลังจากเห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวเลขผู้ติดเชื้อ ที่วิ่งสูงขึ้น จาก 2 คลัสเตอร์ใหญ่ คือ ผับ และสนามมวย ทำให้เกิดความกังวล โดยเราพบว่าประเทศไทยใช้เวลา 3 วัน ในการทำให้ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากระดับ 100 ราย สู่ 200 ราย ใกล้เคียงกับเยอรมัน ดังนั้นถ้าไทยไม่ทำอะไรสถานการณ์จะแย่เหมือนกลุ่มยุโรป ทำให้มียอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 33% ต่อวัน

thumbnail 42 ตัด

วันนี้ไทยมีการรายงานผู้ป่วย COVID-19 สะสมไต่ระดับ 100 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม หรือ อยู่ที่ 114 คน คาดว่า 1 เดือนต่อจากนี้ หรือ วันที่ 15 เมษายน 2563 ไทยอาจมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ประมาณ 350,000 ราย แต่ถ้าสามารถลดระดับการเร่งตัว 33% ต่อวัน มาอยู่ที่ 20% ต่อวัน จะมีคนไข้COVID-19 ในไทยลดลงเหลือ 24,269 ราย

” ถ้าทุกคนไม่ทำอะไร ออกจากบ้าน พูดคุย ทำงานตามปกติ ในวันที่ 15 เมษายนนี้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อคาดว่าจะไปถึง 351,946 ราย มีผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล 52,792 ราย คนไข้หนัก ต้องนอนไอซียู 17,597 ราย และเสียชีวิต 7,039 ราย “

แต่ถ้าช่วยกันลดให้อัตราจาก 30% เร่งตัวเหลือ 20% ต่อวันได้สำเร็จ ในวันที่ 15 เมษายนนี้ คาดว่าจะมีจำนวนผู้ป่วย 24,269 ราย นอนในโรงพยาบาล 3,640 ราย คนไข้หนักต้องนอนไอซียู 17,597 ราย และเสียชีวิต 485 ราย

thumbnail 49 ตัด

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ย้ำว่า การที่มีคนป่วยจำนวนมาก สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ รพ.สนามนอกรพ. และคนป่วยจะมามากจน เกินศักยภาพของระบบการรักษาพยาบาล ไม่สามารถรักษาทุกคนได้ จนต้องเลือกว่าควรรักษาใคร

โดยศิริราช ได้ดึงข้อมูลศักยภาพของรพ.ทั้งหมดออกมาให้ทุกคนเห็นภาพ สำหรับกรุงเทพ มีห้องแยกผู้ป่วยเดี่ยวทั้งหมด 237 ห้อง ต่างจังหวัด 2,444 ห้อง หากเป็นคนไข้อาการไม่เยอะ เป็นห้องผู้ป่วยรวมหลายเตียง 143 ห้อง ต่างจังหวัด 3,061 ห้อง และห้องควบคุมความดัน เพื่อไม่ให้เชื้อกระจายออกไปข้างนอกจำนวน 136 ห้อง ต่างจังหวัด 1,042 ห้อง

ศิริราช24

ทั้งนี้กรณีผู้ป่วยไม่เสียชีวิต ผู้ป่วยหนักจะใช้เวลาพักรักษาตัวเป็นสัปดาห์ และจะมีผู้ป่วยสะสมมากขึ้น ถึงขั้นต้องเลือกจัดสรรให้ทรัพยากร ในการรักษาให้เพียงพอ แต่ก็อาจไม่เพียงพอ แต่ถ้าหากเราควบคุมให้อัตราเร่งตัวลดเหลือ 20% ต่อวัน เราจะยังพอคุมสถานการณ์ได้อยู่

อีกเรื่องที่เรากังวล ก็คือ จำนวนบุคลากร 8% ของผู้เสียชีวิตในอิตาลี มาจากชุดกาวน์ป้องกัน และหน้ากากไม่พอ และจำนวนแพทย์ก็อาจไม่พอรองรับคนไข้จำนวนมากด้วย หากไม่ดักตั้งแต่ต้นน้ำ

thumbnail 38 ตัด

ปัจจุบัน ไทยมีบุคลากรการแพทย์ทั้งหมอและพยาบาลของรัฐ 156,115 คน และเอกชน 32,616 คน แต่ไม่ใช่ทุกคนจะดูแลผู้ป่วยหนักไวรัส COVID-19 ได้ทั้งหมด ต้องเป็นแพทย์เฉพาะด้าน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องช่วยกันลดอัตราการติดเชื้อ เพื่อให้จำนวนบุคลากรเพียงพอกับจำนวนผู้ป่วย

สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ประเมินไว้ว่ายอดผู้ป่วยไวรัส COVID-19 ปลายเดือนมีนาคม ทะลุหลักพันแน่นนอน คาดว่าจะขึ้นเป็น 2,500 ราย ถ้าไม่ทำอะไรเลย เรากำลังวิ่งขาขึ้น และหากไม่มีการร่วมมือกันอย่างจริงจังต่อไป คาดว่าช่วงวันที่ 23-30 มีนาคม 2563 จะเห็นผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 จำนวน 2,500 ราย และเพิ่มเป็นจำนวน 17,500 ราย ในวันที่ 6-13 เมษายนนี้

แต่หากเราดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบ จะสามารถชะลออัตรา เพิ่มจำนวนการติดเชื้อไวรัส COVID-19 สามารถชะลอการระบาดของโรค และลดจำนวนผู้ติดเชื้อ  และสิ้นสุดได้ภายใน 6-9 เดือน

thumbnail 44 ตัด 1

ทางด้าน ผศ.นพ.มนศักดิ์ ชูโชติรส รองผู้อำนวยการรพ.ศิริราช ระบุข้อเท็จจริงที่เกิดในเวลานี้ ว่า จากตัวเลขของเรามีผู้ป่วยไวรัส COVID-19 มารักษา 6 ราย หนัก 4 ราย ปานกลาง 2 ราย และระหว่างวันที่ 1-16 มีนาคมที่ผ่านมา เราใช้ชุดกาวน์ไป 200 ชุด จากปกติใช้ 16 ชุดต่อเดือน ดังนั้นชุดน่าจะหมดในเร็ววันนี้ ส่วนหน้ากาก เคยใช้เดือนละ 250,000 ชิ้น แต่ 16 วันที่ผ่านมา ใช้ไป 210,000 ชิ้น ก็จะหมดเร็วๆนี้เช่นกัน

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ย้ำว่า ที่เราต้องมาบอกกัน เพื่อหาทางไม่ให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น อยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญ และรีบช่วยกัน โดยเริ่มตั้้งแต่วันนี้ จึงจะทันการณ์

สำหรับธรรมชาติของโรคระบาด และมาตรการที่ควรนำมาใช้

ระยะที่ 1 มีคนจากข้างนอกมาติดในพื้นที่ของเรา

มาตรการที่ควรใช้ คือ การทำ containment ปิดกั้นไม่ให้เข้ามา เช่น การระงับการเดินทางของคนจากพื้นที่เสี่ยงเข้ามาในประเทศเรา ซึ่งประเทศไทยไม่ได้แบนช่วงแรก แต่ขณะนี้ดำเนินการแล้ว เพื่อควบคุมการเข้าออกทั้งที่ สนามบิน และเส้นทางชายชอบ เพราะหากไม่ปิดกั้น ตอนเดินผ่านสนามบินไม่มีไข้ก็ผ่านเข้ามาได้ และขอย้ำว่าการผ่านเครื่องเทอร์โมสแกน 48% มีโอกาสหลุดรอด ดังนั้นดีที่สุด คือ หยุดคนเดินทางเข้าออก

ศิริราช241

ระยะที่ 2 เป็นระยะที่คนติดเชื้อ จะแพร่ให้คนของเรากันเอง ซึ่งระยะนี้ คนไทยต้องช่วยกัน มาตรการที่ควรทำ คือ  ต้องตรวจจับคนติดเชื้อให้ได้ และไปกักกันแยกตัวออกจากสังคม (Isolation) รวมถึงการนำคนมีประวัติ ไปเฝ้าระวัง จนกว่าจะพ้นระยะฟักตัว ( Quarantine) อีกวิธี คือ ปิดพื้นที่เสี่ยง เช่น สถานศึกษา สถานบันเทิง และต้องทำอย่างเด็ดขาดด้วย

ระยะที่ 3 สำหรับในต่างประเทศ มาตรการ คือ ปิดประเทศ และปิดเมือง ไม่ให้คนติดเชื้อรายใหม่เข้ามา และไม่ให้คนติดเชื้ออยู่แล้วแพร่กระจายออกไป ให้คนในประเทศอยู่บ้านไม่เดินทาง สังเกตอาการตนเอง เพราะระยะนี้ เวลาออกจากบ้าน จะมีโอกาสได้เชื้อเข้ามาในตัวเราตลอดเวลาโดยที่ไม่รู้ตัว และย้ำอีกว่า รับเชื้อตอนแรกๆ ก็จะไม่มีอาการด้วย

สำหรับการกักตัวอยู่ที่บ้านนั้น จะต้องหมายถึงไม่ออกไปเจอใคร 3 สัปดาห์ ระยะฟักตัว 14 วันก็จริง แต่เชื้ออาจมีการกระจายออกไป จึงต้องเป็น 3 สัปดาห์ ขอย้ำหลักที่ว่า “โรคติดต่อจะไม่ติดต่อ หากคนไม่ติดต่อกัน” 

ทั้งนี้ขอให้ดูอย่างเมืองจีน หลังปิดประเทศจนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา สามารถลดการเล็ดรอดออกนอกประเทศ ของกลุ่มผู้ติดเชื้อ COVID-19 ไปได้ 70.5% หากไม่ประกาศนโยบายห้ามเดินทางเข้าออกประเทศ คาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อในตัวอย่างน้อย 779 ราย ที่ออกนอกประเทศไปก่อนกลางเดือน กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา และในช่วง 3.5 สัปดาห์แรกของการประกาศนโยบายนี้สามารถลดการเล็ดรอดของผู้มีเชื้อในตัวออกนอกประเทศไปได้ถึง 81.3%

Avatar photo