COLUMNISTS

‘รูมาตอยด์’ ภัยเงียบ…โรคข้อ!

Avatar photo
Longevity Inspirationist ผู้เชี่ยวชาญสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการรักสุขภาพ
19548

“อากาศเปลี่ยน หนาวขึ้น เย็นขึ้น เครียดมากขึ้น จะปวดมาก”

กว่าจะรู้ตัว ก็สายเสียแล้ว ถือว่าโรครูมาตอยด์ เป็นภัยเงียบโรคข้อจริง ๆ เพราะไม่ว่า อากาศเปลี่ยน ร้อนมาฝน ฝนมาหนาว และหนาวมาร้อนอีก ผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคนี้ จะทรมานมาก บางคนปวดมาก ถึงกลับต้องคลานไปห้องน้ำกันเลยทีเดียว ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาโรครูมาตอยด์อย่างถูกวิธี และต่อเนื่อง มีโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้ข้อต่อกระดูกที่อักเสบเกิดการผิดรูปได้

โรครูมาตอยด์ หรือ โรครูมาติสซั่ม เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง ที่มีลักษณะเด่น คือ มีการเจริญงอกงามของเยื่อบุข้ออย่างมาก เยื่อบุข้อนี้ จะลุกลามและทำลายกระดูกและข้อในที่สุด โรคนี้ไม่ได้เป็นแต่เฉพาะข้อ เท่านั้น ยังอาจมีอาการทางระบบอื่น ๆ อีกด้วย เช่น ตา ประสาท กล้ามเนื้อ เป็นต้น

ใส้ใน

ผู้ใดบ้างที่มีโอกาสเป็นโรครูมาตอยด์ โรครูมาตอยด์ สามารถเป็นได้กับทุกกลุ่ม อายุ ตั้งแต่ เด็กจนถึงวัยชรา แต่โดยส่วนใหญ่ จะพบในผู้ป่วยวัยกลางคน และพบในเพศหญิง มากกว่า เพศชาย

สาเหตุของโรครูมาตอยด์ โรครูมาตอยด์ สาเหตุมาจากภูมิคุ้มกันตัวเองบกพร่อง หรือจะอธิบายเข้าใจง่ายคือ ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำลายตัวเอง ถึงแม้ว่านักวิจัยยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ แต่หนึ่งในสาเหตุนั้น อาจเกิดจากไวรัส หรือ แบคทีเรีย ที่กระตุ้นให้เกิดการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน ไปทำลายเนื้อเยื่อของร่างกาย สัญญาณที่พบของโรครูมาตอยด์อาจแตกต่างกันแต่ละท่าน บางครั้งสงบ บางครั้งรุนแรง เป็นพัก ๆ ได้เช่นกัน

อาการของโรครูมาตอยด์ ผู้ป่วย มักมีอาการปวดข้อ ข้อบวม และเคลื่อนไหวข้อลำบาก จะเป็นมากที่สุดในช่วงตื่นนอนตอนเช้า และอาจจะมีอาการอยู่ถึง 1 – 2 ชั่วโมงหรือนานเป็นอาทิตย์ หรือเป็นเดือน ก็เป็นได้ ลักษณะอาการปวดข้อ ช่วงเช้านี้เป็นลักษณะสำคัญของโรครูมาตอยด์ ซึ่งจะต่างจากโรคข้ออื่น ๆ และตำแหน่งของข้อที่มีอาการปวดมากที่สุด มักจะเป็นที่มือ และเท้า แต่มีโอกาสปวดข้อตำแหน่งอื่นๆ ได้

นอกจากมีอาการปวดตามข้อทั้งร่างกายแล้ว อาจมีอาการอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น อ่อนเพลีย ไข้ต่ำ ๆ เบื่ออาหาร ตาแห้ง คอแห้งผิดปกติ ในรายที่ได้รับการรักษาล่าช้า อาจเกิดการทำลายข้อถาวร ทำให้ข้อพิการ ผิดรูปได้

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และโรคข้อเสื่อม เหมือนหรือต่างกันอย่างไร อาการของข้ออักเสบนั้น มีหลายชนิดด้วยกัน ซึ่งโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และโรคข้อเสื่อม นั้น เป็น 2 โรคที่พบบ่อยมากที่สุด

  • โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ นั้นเกิดจากการที่เยื่อบุข้อต่อเกิดการอักเสบขึ้น และมีการทำลายที่ข้อ
  • โรคข้อเสื่อม เกิดจากกระดูกอ่อน ที่ปกคลุมบริเวณส่วนท้ายของกระดูกบริเวณข้อต่อ มีการเสื่อมจากการใช้งานตามปกติ

ภาวะแทรกซ้อนของโรครูมาตอยด์

แน่นอน ความเสี่ยง ที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ นั้นเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป รวมถึงถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จะเกิดภาวะแทรกซ้อน ดังนี้

  1. ตาแห้ง ปากแห้ง ผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ ส่วนใหญ่มักจะพบว่าเกิดอาการปากแห้ง ตาแห้ง เคืองตา แพ้ง่าย
  2. ข้อจะผิดรูป และสูญเสียการทำงาน จะเกิดปุ่มบวมในบริเวณที่มีการเสียดสี เช่น ข้อศอก และปุ่มบวมนี้ สามารถเกิดได้ทุกที่ในร่างกาย
  3. กระดูกเปราะง่าย ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ หกล้ม กระดูกแตกร้าวได้ง่าย อาจเกิดโรคกระดูกพรุน ซึ่งอาจเกิดจากยารักษารูมาตอยด์บางชนิด ที่ผู้ป่วยต้องทานเป็นประจำระหว่างการรักษา
  4. ติดเชื้อ ยาที่ใช้ในการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ สามารถทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ติดเชื้อง่าย
  5. ภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจ จะมีความเสี่ยงของภาวะหลอดเลือดอุดตัน รวมถึงเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ซึ่งเกิดจากการอักเสบในร่างกาย

การรักษา

ถือว่าโรครูมาตอยด์ เป็นโรคที่มีความผิดปกติของการควบคุมภูมิคุ้มกันของร่างกายตัวเอง (Autoimmune disease) ก่อนให้เกิดการอักเสบ ทำให้ยาที่ใช้ในการรักษา ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มที่มีฤทธิ์ปรับภูมิคุ้มกันให้ทำงานลดลง รวมทั้งยังช่วยลดการอักเสบเฉพาะที่อีกด้วย (target therapy) ทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาดีขึ้น โดยมีจุดหมายในการรักษา คือ ช่วยลดความเจ็บปวด ลดการอักเสบ ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดและทำลายข้อ และช่วยทำให้ข้อ สามารถกลับมาทำงานได้เหมือนเดิม

บางท่าน อาจมีสงสัยว่า มีวิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดหรือไม่ คำตอบคือ มีค่ะ การรักษาด้วยการผ่าตัด ถือเป็นการรักษาที่สำคัญอีกหนึ่งวิธี เช่นการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม การผ่าตัดซ่อมแซม กรณีข้อผิดรูปฯลฯ

ผู้อ่านอ่านมาถึงตรงนี้ อย่าเพิ่งเครียดไปนะคะ เพราะปัจจุบันมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์มากขึ้นเยอะทีเดียว ทำให้ผลของการผ่าตัดและรักษาโรคข้อรูมาตอยด์ดีขึ้นกว่าเดิมมาก ช่วยลดความทุกข์ทรมาน ลดความพิการ (ข้อต่อต่าง ๆ ) ซึ่งเมื่อเป็นโรคนี้แล้ว ผู้ป่วยสามารถควบคุมอาการได้ด้วยการดูแลตัวเองในชีวิตประจำวันอย่างใกล้ชิด ออกกำลังกายเบา เบา (เช่น การเดินในน้ำ ) แต่ที่สำคัญคือ ควรรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพราะถึงแม้อาการดีขึ้นแล้ว ก็ควรต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันภาวะเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นข้อเสื่อม หรือข้อถูกทำลาย

ใส้ใน เรื่องเล่าจากเรื่องจริง 01

ประสบการณ์ดูแลผู้ป่วยโรครูมาตอยด์อย่างใกล้ชิด

อยากขอแชร์เรื่องราวอย่างสั้น ๆ ก็แล้วกันค่ะ เหตุเกิดขึ้นกับคนใกล้ชิดที่สุด คือ คุณแม่ผู้เขียนเอง ท่านเป็นผู้หญิงเก่ง ทำงานคล่องแคล่ว (สวยด้วย ทำงานเก่งด้วย) แต่โชคชะตาแต่ละคนไม่เหมือนกัน ย้อนกลับไป เมื่อ 25 ปีที่แล้ว คุณแม่ป่วยเป็นโรครูมาตอยด์ (ตอนนั้นท่านอายุเพียง 50 ปี) ตั้งแต่เริ่มต้นเกิดอาการเล็กน้อย ส่งสัญญาณน้อยจนตัวคุณแม่ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าเป็นโรคอะไร จนกระทั่ง อาการกำเริบมากขึ้นตามลำดับ มากขึ้นอย่างไม่รู้ทันตั้งตัว ถึงขนาดต้องคลานเข้าห้องน้ำ ลุกจากเตียงแทบไม่ไหว และด้วยไม่มีความรู้เรื่องโรคพรรณนี้มาก่อน ทำให้การรักษาโรครูมาตอยด์ช่วงแรกของคุณแม่ เป็นไปอย่างลองผิด ลองถูก ที่บอกว่า ลองผิด ลองถูก ท่านผู้อ่านลองคิดดูแล้วกัน คือประมาณว่าเข้าโรงพยาบาลที่ไหนก็แล้วแต่ หมอสั่งให้ตรวจนั่น เจาะเลือดนี่ ทำทุกอย่าง จ่ายยามา ก็ทานตามแพทย์สั่งทุกประการ ทานยาต่อเนื่อง ครั้งหนึ่งแพ้ยาที่หมอให้ทาน จนผมร่วงทั้งศีรษะ! อยากบอกว่าช่วง 3 – 4 ปีแรกสุดแสนทรมาน อากาศเปลี่ยนทีไร เจ็บทุกข้อ (ถ้าดูภายนอกดูไม่ออกว่า คุณแม่ป่วยเป็นโรครูมาตอยด์ ยังจำได้ว่า เพียงแค่..เอานิ้วตัวเราเอง แตะที่ต้นแขนคุณแม่ ท่านบอกว่าเจ็บมาก)

ต้องขอบอกว่า เคสการป่วยโรครูมาตอยด์ของคุณแม่ ค่อนข้างหนักเอาการ แล้วด้วยต้องทานยาประจำ จึงทำให้เกิดโรคใหม่จากยาที่ทานประจำ (ซ้ำเข้าไปอีก) และโดยพื้นฐานความที่คุณแม่เป็นคนที่รักสวย รักงาม (ตามแบบฉบับผู้หญิง ต้องดูดีเสมอ) เมื่อข้อต่าง ๆ เปลี่ยนรูป ดูไม่สวย ดูไม่เข้าที่เข้าทาง คุณแม่ตัดสินใจเข้าโรงพยาบาลเพื่อผ่าตัด ปรับเปลี่ยนข้อต่าง ๆ ในร่างกายเยอะมาก ไล่มาตั้งแต่ นิ้วเท้า ปรับดัดนิ้วเท้า 10 นิ้วด้วยเหล็กไทเทเนียม, ข้อเท้า ผ่าตัดดามด้วยไทเทเนียม เพื่อให้ยืนได้มั่นคง, ผ่าตัดเปลี่ยนเข่า เป็น ไทเทเนียม ทั้งสองข้าง, ผ่าตัดสะโพกเป็นไทเทเนียม, ผ่าตัดกระดูกสันหลัง ตั้งแต่ท้ายทอย ยาวมาถึงกระดูกสันหลัง (เนื่องจากกระดูกสันหลังเสื่อม ต้องเปลี่ยนบางข้อกระดูกสันหลัง), ผ่าตัดไหล่ (เพราะหกล้มหักทันที), ผ่าตัดนิ้วมือ ทั้ง 10 นิ้ว ปรับให้ตรง สวยงาม ยังไม่นับรวมที่ป่วยด้วยโรครูมาตอยด์กำเริบช่วงอากาศเปลี่ยน

จนกระทั่ง ได้พบแพทย์หญิงท่านหนึ่ง และรักษากับท่านจนอาการดีขึ้น (ไม่ต้องผ่าตัดอีก หรือต้องบอกว่าผ่ามาครบทุกอวัยวะแล้ว) ต้องบอกว่า เคสของคุณแม่ป่วยเป็นโรครูมาตอยด์ ท่านเป็นเพื่อนกับรูมาตอยด์อย่างแท้จริง เรียนรู้ที่จะต้องอยู่กับโรคนี้ ทานยาต่อเนื่องทุกวัน พบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง ถือเป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้เขียนโดยตรงจริง ๆ ด้วยหน้าที่และความเป็นห่วงคุณแม่มาก จึงอาสาดูแลคุณแม่อย่างใกล้ชิดตลอดมา เรื่องราวจริง ๆ ยังมีรายละเอียดอีกเพียบ แต่ขอเล่าพอสังเขปเพียงเท่านี้ (ท่านใดต้องการข้อมูลเชิงลึก สามารถเข้าไปถามได้ที่ www.i-kinn.com นะคะ)

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนขอให้กำลังใจทุกท่าน ที่ป่วยเป็นโรครูมาตอยด์ ดูแลรักษาสุขภาพอย่างเคร่งครัด ทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายตามกำลัง (อย่าหักโหม) นั่งสมาธิ (ช่วยได้มาก) พบกันใหม่ฉบับหน้านะคะ

(เครดิต : med.mahidol.ac.th, thairhueumatology.org, www.healthline.com/health/rheumatoid-arthristis#blood-test, www.podpad.com, www.medicinenet.com/rheumatoid_arthritis/article.htm)

#KINN_Holistic_Healthcare
www.kinn.co.th