World News

วิเคราะห์สารพัดปัจจัยดัน ‘อัตราเสียชีวิตจากโควิด-19’ ในอิตาลีพุ่งทะยาน

“อิตาลี” เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดนับตั้งแต่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) แพร่ระบาดในยุโรปด้วยอัตราการเสียชีวิตสูงที่สุดและมีผู้ป่วยมากที่สุดในภูมิภาค บรรดานักวิเคราะห์ด้านการแพทย์ในท้องถิ่นระบุว่า ปัจจัยเบื้องหลังสถิติอันน่าสลดใจนั้นมีหลายประการด้วยกัน

itta1
แฟ้มภาพ

สำนักงานคุ้มครองพลเรือนของอิตาลี รายงานว่าเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมาว่า อิตาลีพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 เสียชีวิตสูงถึง 627 รายภายในเวลา 24 ชั่วโมง นับเป็นการเพิ่มขึ้นของผู้เสียชีวิตที่สูงที่สุดในรอบหนึ่งวัน ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 4,032 ราย โดยอัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในอิตาลีคิดเป็น 8% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่อยู่ที่ 4%

บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ในอิตาลีให้ข้อมูลว่า ปัจจัยต่างๆ ที่อยู่เบื้องหลังอัตราการเสียชีวิตที่สูงเช่นนั้น มีทั้ง “ผู้ป่วยอาการไม่หนักไม่ได้รับการตรวจยืนยันและ “สัดส่วนประชากรสูงอายุที่อยู่ในระดับสูง

ฟาบรีซิโอ เปรเกลียสโก (Fabrizio Pregliasco) นักวิจัยภาควิชาชีวเวชเพื่อสุขภาพ มหาวิทยาลัยมิลาน กล่าวว่าผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงหรือไม่แสดงอาการ ซึ่งยังไม่ได้รับการตรวจยืนยันนั้นมีอยู่มาก เนื่องจากอิตาลีมีความสามารถตรวจวินิจฉัยไม่เพียงพอในระยะแรกของการแพร่ระบาด

เปรเกลียสโกระบุว่า หากรวมจำนวนผู้ป่วยที่ยังไม่ได้รับการตรวจยืนยันเข้าไปแล้ว อัตราการเสียชีวิตในอิตาลีอาจใกล้เคียงกับที่อื่นๆ

ขณะนี้อิตาลีกำลังเสริมสร้างความสามารถในการตรวจเชื้ออย่างต่อเนื่อง โดยรายงานของกระทรวงสาธารณสุขอิตาลีระบุว่า เมื่อนับถึงวันที่ 19 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา มีการตรวจเชื้อทั่วประเทศแล้วมากกว่า 180,000 ครั้ง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในตัวเลขที่สูงที่สุดของโลก

XxjpbeE007044 20200304 PEPFN0A001 scaled 1

ซิลวิโอ เปาเน (Silvio Paone) นักวิจัยโรคไวรัส มหาวิทยาลัยลาปีเอนซา (La Sapienza) คิดเห็นเช่นเดียวกัน โดยระบุว่าปัจจัยอีกหนึ่งประการคือสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุของอิตาลีที่ขยายใหญ่ขึ้น

รายงานจากสำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ระบุว่าประชากรทั้งหมดของอิตาลีอยู่ที่ราว 60.39 ล้านคน ณ เดือนมกราคม 2562 ในจำนวนนี้มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป สูงกว่า 13.8 ล้านคน คิดเป็น 22.8% ของประชากรทั้งหมด โดยข้อมูลเมื่อปี 2561 ของธนาคารโลก (World Bank) ระบุว่าสัดส่วนดังกล่าวถือว่ามากเป็นอันดับ 2 ของโลก ตามหลังเพียงญี่ปุ่น

อันเจโล บอร์เรลลี (Angelo Borrelli) หัวหน้าสำนักงานคุ้มครองพลเรือนของอิตาลี ย้ำในงานแถลงข่าวหลายครั้งว่าผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ โดยรายงานเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 เผยว่าราว 31% ของผู้เสียชีวิต อายุ 70-79 ปี, ราว 44% อายุ 80-89 ปี และอีกราว 14% อายุมากกว่า 90 ปี

itaa

รายงานอีกฉบับหนึ่งที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2563 โดยสถาบันชั้นสูงด้านสุขภาพแห่งอิตาลี (ISS) ระบุสถิติการเสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 โดยอายุเฉลี่ยของการเสียชีวิตในอิตาลีอยู่ที่ 80 ปี และหากถ้าพิจารณาตามอายุ อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยชาวอิตาลีที่ติดเชื้อนั้น ไม่ได้สูงกว่าอัตราเดียวกันของประเทศอื่น

นอกจากนี้รายงานจากสถาบันฯ ยังชี้ว่า 46-47% ของผู้เสียชีวิตยังมีโรคอื่นๆ ร่วมด้วย 2-3 โรคหรือมากกว่านั้น หลายรายเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด หรือโรคเบาหวานมาก่อนแล้ว

ซิลวีโอ บรูซาแฟร์โร (Silvio Brusaferro) ผู้อำนวยการสถาบันฯ กล่าวว่างานวิจัยยืนยันแล้วว่าผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่มีโรคอื่นๆ ร่วม มีความเสี่ยงต่อการติดโรคโควิด-19 มากกว่าคนอื่น และควรให้ความสำคัญกับการป้องกันโรค

ที่มาสำนักข่าวซินหัว

Avatar photo