Economics

ต้องชนะ! ‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ เปิดธุรกิจที่ยังไปได้…ในวิกฤติ ‘โควิด-19’

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า วิกฤตโควิด-19 ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น ยังสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลกต่อเศรษฐกิจและธุรกิจในแทบทุกสาขา ซึ่งเศรษฐกิจและธุรกิจในไทยก็เผชิญแรงกดดันนี้ เริ่มจากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว การผลิตในห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่ผูกพันกับการค้าระหว่างประเทศ เกิดการหยุดชะงักและขาดรายได้หล่อเลี้ยงกิจการ ทำให้ต้องปรับลดต้นทุนหรือแม้แต่ปิดกิจการชั่วคราว ลุกลามมาถึงธุรกิจที่พึ่งพาตลาดภายในประเทศที่เดิมก็อยู่ในภาวะอ่อนแรงอยู่แล้ว ปัจจัยลบนี้ซ้ำเติมกำลังซื้อของครัวเรือนให้ยิ่งลำบากและต้องระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้นโดยเฉพาะถ้าสมาชิกในครัวเรือนต้องประสบกับภาวะถูกเลิกจ้างหรือมีรายได้ลดลง โดยเบื้องต้นประเมินว่า ในปี 2563 จำนวนผู้มีงานทำอาจลดลงอีกในหลักหลายแสนตำแหน่ง ต่อเนื่องจากในปี 2562 ที่จำนวนผู้มีงานทำลดลง 2.5 แสนตำแหน่ง

Covid19 Banner 800
kasikornresearch.com

คงเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า วิกฤตโควิด-19 จะยังไม่สิ้นสุดในระยะใกล้ จึงยากที่เศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะพลิกฟื้นกลับมาเติบโตได้อย่างรวดเร็ว โดยมูลค่าสะสมที่สูญเสียไปตลอดปีอาจคิดเป็นเม็ดเงินรวมๆ ไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท ในด้านธุรกิจก็เช่นกัน การจะอยู่รอดภายใต้สถานการณ์นี้ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวอย่างหนัก ทั้งการบริหารจัดการสภาพคล่อง/กระแสเงินสด การผ่อนผันการชำระหนี้ต่างๆ การตัดลดต้นทุนในส่วนที่ไม่กระทบต่อการสร้างรายได้ รวมทั้งการใช้สิทธิประโยชน์จากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐและสถาบันการเงินที่ทยอยออกมาแล้วหรือที่กำลังจะตามมาอีกในอนาคต

ท่ามกลางความซบเซาในบรรดาธุรกิจต่างๆ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หากจะต้องหาธุรกิจในประเทศที่ยังพอมีโอกาสหรือแย่น้อยกว่าธุรกิจอื่นโดยเปรียบเทียบในปี 2563 แล้ว อาจแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

1. ธุรกิจพัฒนาแอพพลิเคชั่น/โซลูชั่น/คอนเทนท์ออนไลน์ รวมถึงผู้ให้บริการคลาวด์และสนับสนุนการใช้อินเทอร์เน็ต จากความจำเป็นในการรักษาระยะห่างทางสังคม การเรียนออนไลน์ และการทำงานที่บ้าน แต่ผู้ประกอบการที่อยู่ในกลุ่มนี้คงต้องปรับผลิตภัณฑ์และบริการให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้ใช้งานมากขึ้น ทั้งในด้านข้อมูลสาระและความบันเทิง ขณะที่ผู้ประกอบการที่เดิมไม่ได้ทำธุรกิจนี้ อาจมีข้อจำกัดในการเข้าสู่ตลาดพอสมควรเพราะขาดทักษะหรือความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

FB 19 03 20 2

2. ธุรกิจด้านอาหาร รวมถึงธุรกิจค้าปลีกสินค้าและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ อาทิ วิตามิน เจลแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อ หน้ากากอนามัย เป็นต้น ซึ่งแม้ตลาดจะมีผู้ขายมากรายและเต็มไปด้วยการแข่งขัน แต่ผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาหรือเป็นลูกจ้างที่ตกงาน/ถูกหยุดจ้างชั่วคราว อาจเข้าสู่ธุรกิจนี้ได้โดยไม่ลำบากเกินไป เพียงแต่หากทำธุรกิจด้านอาหาร ก็คงต้องเน้นการชูความสะอาดและความปลอดภัยเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค รวมถึงเป็นเมนูอาหารสำเร็จรูปที่มีคุณค่าทางโภชนาการในราคาที่ย่อมเยาและเสริมด้วยบริการจัดส่งให้ถึงที่พัก ขณะที่หากเป็นธุรกิจค้าปลีกสินค้าที่เป็นที่ต้องการในยามนี้ ก็คงอยู่ที่ว่าผู้ประกอบการจะสามารถจัดหามาจำหน่ายในราคาที่เข้าถึงได้และส่งถึงมือผู้บริโภคเป้าหมายได้โดยสะดวกหรือไม่เป็นหลัก

ท้ายสุดนี้ ในยามวิกฤต หากผู้ประกอบการตั้งหลักให้ดี มีความขยันและอดทน มองหาโอกาสสร้างรายได้อยู่เสมอ ก็น่าจะช่วยให้สามารถฝ่าวิกฤตโควิด-19 ไปได้ และหลังจากนี้เมื่อสถานการณ์ต่างๆ ทยอยกลับสู่ภาวะปกติ ทุกธุรกิจคงต้องกลับมาทบทวนและซ่อมสร้างกลยุทธ์ให้ดีกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นการกระจายตลาด/แหล่งวัตถุดิบ/ช่องทางที่หลากหลาย รวมไปถึงการมีเงินออม/แผนสำรองรองรับกรณีฉุกเฉิน

Avatar photo