Business

เปิดวิชั่นนายกสมาคมการตลาดมุ่งสร้างแบรนด์ไทยแลนด์

สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย (MAT) แถลงวิสัยทัศน์และพันธกิจ MAT Forward  ก้าวสู่โลกการตลาดยุคใหม่ ในโอกาสการเปิดตัวคณะกรรมการและนายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทยคนใหม่ “อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์”

ปัจจุบัน “อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ PTTOR  โดยจะดำรงตำแหน่งนายกสมาคมการตลาดฯ วาระ 2 ปี ระหว่างปี 2561-2563

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์
อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย

อรรถพล ให้มุมมองว่าการเปลี่ยนแปลงของโลกครั้งสำคัญในอดีต คือการเปลี่ยนแปลงในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมกว่า 100 ปีที่ผ่านมา แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในยุคนี้ คือ โลกเปลี่ยนจากอนาล็อกสู่ดิจิทัล  ปัจจุบันข้อมูลในโลกที่ถูกบรรจุไว้ในโลกดิจิทัลแล้ว 70% หากถึง 100%  นั่นเท่ากับว่าขีดสามารถการเรียนรู้ของคนจะไร้ขีดจำกัด เพราะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทุกมุมโลก ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบอย่างมาก ทั้งอุตสาหกรรม องค์กร และนักการตลาด

ปัจจุบันเป็นโลกของเทคโนโลยีเชื่อมต่อ (Connectivity) ทุกอย่างเชื่อมโยงกันทั้งหมด ไม่ว่าธุรกิจขนาดเล็ก หรือใหญ่ ไม่สามารถอยู่ได้โดยลำพังอีกต่อไป ธุรกิจต้องมีการร่วมมือกัน (Collaboration) เพื่อมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างมากมายจากเทคโนโลยีแห่งการเชื่อมต่อ

ทฤษฎีทางการตลาดแบบเดิม ๆ ที่มีการแยกส่วน จะต้องกลับมามองเป็นองค์รวม เพราะจุดมุ่งหมายหลักการทำการตลาดในยุคปัจจุบัน คือ Customer Centric ที่ต้องยึดผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง  เพราะผู้บริโภคในยุคนี้ เน้นเรื่องความสะดวกสบายและรวดเร็ว โลกของการเปลี่ยนแปลงเร็ว ส่งผลกระทบให้ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ความท้าทายของนักการตลาดปัจจุบัน จะต้อง Unlearn to Relearn โดยทบทวนทฤษฎีการตลาดปัจจุบันว่ายังทันสมัยอยู่หรือไม่  และไม่ยึดติดกับการตลาดและความสำเร็จแบบเดิม ๆ ของตัวเอง  เพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในโลกดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

learn

“พบว่าทุกปีผู้บริหารระดับประเทศท่านหนึ่ง จะประชุมระดับผู้บริหาร เพื่อให้คำคมและข้อคิดในการทำงาน นโยบายและกลยุทธ์การทำงานกับทีมผู้บริหาร  ปีนี้พบว่าท่านประธานองค์กรระดับประเทศไม่ได้ให้นโยบายอะไร แต่ฝากให้ผู้บริหารองค์กรทุกคนไปเรียนรู้จากเด็กรุ่นใหม่ สะท้อนได้ว่าผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์ระดับประเทศ ยอมรับว่ายุคของคนที่มีประสบการณ์สูง ก็ต้องกลับไปเรียนรู้ใหม่ และเรียนรู้กับเด็กรุ่นใหม่  เช่นเดียวกับนักการตลาดในยุคนี้ ต้อง Unlearn to Relearn”

ปัจจุบันนิยามของการตลาดและบทบาทของนักการตลาดเปลี่ยนไป จากเดิมมองทุกอย่างแยกส่วน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสินค้า ราคา โปรโมชั่น จุดขาย หรือ การสื่อสาร โฆษณา ประชาสัมพันธ์  แต่ยุคนี้ทุกอย่างถูกหลอมรวมเป็นเรื่องเดียวกัน เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยมีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) ที่ต้องเน้นความสะดวก สบาย และเข้าถึงได้โดยง่าย หรือ (Convenient)

อีกทั้งเทคโนโลยีแห่งการเชื่อมต่อ (Connectivity) ได้เปลี่ยนโฉมหน้าโลกธุรกิจไปจากเดิม นักการตลาดกลายเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้าง ประสบการณ์ไร้รอยต่อ (Seamless Experience) ระหว่างโลกออนไลน์และออฟไลน์

ปัจจุบันแพลตฟอร์มทางธุรกิจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงเป็นความท้าทายของนักการตลาด ที่ต้องปรับตัวตาม  โดยให้ความสำคัญกับ Customer Experience ด้วยการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ผู้บริโภค เพราะยุคนี้ผู้บริโภคใช้อารมณ์ในการซื้อมากกว่าเหตุผล ให้ความสนใจแบรนด์ที่ดูแลสังคม รักษ์โลก  ดังนั้นแผนการตลาดต้องสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภค

5 คุณสมบัตินักการตลาดที่ดี

ในยุคโลกหลอมรวม บทบาทด้านการผลิต การบริหาร การเงิน และการตลาดจึงแยกจากกันไม่ออก ช่องทางการสื่อสารได้รวมกันเป็นหนึ่งเดียวกับช่องทางการขาย ความจริงใจ และความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากต่อความสำเร็จของแบรนด์

หัวใจของการเป็นนักการตลาด จึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่การเป็นนักการตลาดตามวิชาชีพอีกต่อไป หากแต่เป็นบทบาทของทุกๆ คนในองค์กร ที่ต้องลุกขึ้นมาปรับหรือเปลี่ยนตัวเอง

ดังนั้นนักการตลาดที่ดีต้องฝึกฝนและเรียนรู้ คุณสมบัติ  5 ข้อ  คือ

  1. ช่างสงสัย  (Curious) ต้องตั้งคำถาม ช่างวิเคราะห์ และไม่เชื่ออะไรง่ายๆ
  2. ช่างสังเกต (Observant) เพราะพฤติกรรมผู้บริโภค ละเอียดอ่อน นักการตลาดต้องเป็นนักสังเกตการณ์ที่ดี
  3. มองมุมใหม่ (Innovative) กล้าคิดสร้างสรรค์และทำสิ่งใหม่
  4. พร้อมปรับตัว (Adaptive) รู้จักการเปลี่ยนแปลง ไม่ยึดติดกับความสำเร็จในอดีต ความสำเร็จในอดีตสามารถนำมาเป็นบทเรียนที่ดี และนำมาบูรณาการกับสิ่งใหม่ๆ
  5. ความรับผิดชอบ (Responsive) การสร้างแผนการตลาดและสื่อโฆษณาที่มีผลกระทบในวงกว้าง ต้องมาพร้อมความรับผิดชอบ

thumbnail บรรยากาศงานแถลงวิสัยทัศน์สมาคม

4 พันธกิจขับเคลื่อนการแข่งขันประเทศ        

อรรถพล  กล่าวว่าในยุคนี้ “การตลาด” มีบทบาทสำคัญในการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับทุกๆ ธุรกิจ สมาคมฯ จึงได้กำหนด วิสัยทัศน์ใหม่ คือ การใช้ความเยี่ยมยอดทางการตลาด มาเป็นพลังขับเคลื่อนขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (Marketing Excellence as a ‘Competitive Force’ of the Nation)  ที่จะถูกขับเคลื่อนด้วย 4 พันธกิจหลัก คือ

สร้าง Head : แพลตฟอร์มในการรวมตัวกันของนักการตลาด (Marketing Wisdom Center)

โดยรวมกับนักการตลาดมืออาชีพ เพื่อรวบรวม ประมวลความคิด วิเคราะห์กลั่นกรอง เป็น Co-Creation เพื่อร่วมสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้านการตลาดและธุรกิจ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อชี้นำและกำหนดเทรนด์ ทางการตลาดในแง่มุมต่างๆ พร้อมเผยแพร่แก่ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ

สร้าง Hand : เครือข่ายผู้ทรงคุณวุฒิด้านการตลาด  (Marketing Ambassadors)  มุ่งมั่นสร้างเครือข่ายนักการตลาดที่จะมาแบ่งปันความรู้ในการทำธุรกิจและการตลาด จากประสบการณ์จริงและกรณีศึกษาต่างๆ  ผ่านกิจกรรมต่างๆ ของทางสมาคมในรูปแบบงานสัมมนา งานแลกเปลี่ยนความรู้ ทั้งในระดับจังหวัด และในระดับประเทศ เพื่อร่วมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว

สร้าง Heart : ชี้ให้เห็นถึง จิตวิญญานการตลาด ที่ถูกต้องและเหมาะสม (Marketing Soul) มีบทบาทสำคัญ ในการปลุกจิตสำนึก และชี้ให้เห็นว่า  “การตลาดที่ถูกต้องและเหมาะสม คือ จิตวิญญาณสำหรับทุกธุรกิจ” และการยึดมั่นในจรรยาบรรณการตลาดที่ดี จะส่งผลดีกับธุรกิจในระยะยาว ด้วยการสร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้องและเหมาะสมร่วมกับภาคเอกชนและภาครัฐ รวมถึงการร่วมมือกันระหว่างสมาคมต่างๆ หรือผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง  เพราะการเติบโตอย่างยั่งยืนต้องร่วมดูแลสังคมและชุมชน

สร้าง Hope : จุดประกายธุรกิจรุ่นใหม่ (New Generation Marketers)  ให้การสนับสนุนองค์ความรู้ ด้านการตลาดให้กับเอสเอ็มอี, สตาร์ทอัพ และนักศึกษาการตลาดและสาขาอื่นๆ ในสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อสร้างความหวัง ความเชื่อมั่น ในการที่จะใช้การตลาดนำพาประเทศไทยไปสู่ “ไทยแลนด์ 4.0”

thumbnail DSC 1171 1 resize

 เพิ่มขีดความสามารถแข่งขันด้านการตลาด

ปัจจุบันความสามารถทางการแข่งขันด้านตลาดของประเทศยังต่ำกว่าประเทศอื่นๆ  โดยต้องมุ่งสร้างองค์ความรู้ด้านการตลาดให้กับทุกกลุ่ม ทั้งเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ ภาคการผลิต การเกษตร ที่ต้องนำกลยุทธ์การตลาดมาบอกเล่าเรื่องราวธุรกิจเพื่อสร้างความน่าสนใจและสร้างความแตกต่าง

ประเทศไทยมีจุดแข็งด้านภาคบริการและท่องเที่ยว ดังนั้นจะต้องนำเรื่องการตลาดมาส่งเสริมด้านการสร้าง Branding Thailand  ในอุตสาหกรรมดังกล่าวให้โดดเด่น เพื่อทำให้ต่างประเทศรู้จักโปรดักท์ด้านท่องเที่ยวและบริการที่แตกต่างของไทย

ตัวอย่าง “หมูป่า” ถือเป็นหนึ่งในการทำ แบรนดิ้ง ประเทศไทย ผ่านภาพยนตร์ที่ผู้สร้างภาพยนตร์ต่างประเทศกำลังอยู่ระหว่างศึกษาที่จะดำเนินการสร้าง ซึ่งประเทศไทย สามารถเข้าไปทำงานร่วมกับผู้ผลิตภาพยนตร์ต่างๆ เพื่อทำให้ แบรนด์ ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในต่างประเทศ

ที่ผ่านมาสินค้าจากประเทศไทย สามารถสร้างแบรนด์ได้ระดับโลก เช่น เรดบูล คาราบาวแดง  โดยต้องสนับสนุนอุตสาหกรรมและสินค้าที่มีศักยภาพก้าวสู่ “โกลบอล แบรนด์” เพื่อสร้างแบรนดิ้ง ประเทศไทยให้รู้จักในวงกว้าง ซึ่งนักการตลาดจะเข้ามามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว

ทั้งนี้ การจะบรรลุวัตถุประสงค์ในการสร้าง A Leading Marketing Body ซึ่งประกอบด้วย Head, Hand,  Heart และ Hope สำหรับประเทศไทยได้นั้น ต้องอาศัยการทำงานร่วมกัน ทั้งภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาครัฐ เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้านการตลาดร่วมกัน และใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือช่วยพัฒนาผู้ประกอบการไทย เพิ่มการเข้าถึง และกระจายความรู้ต่างๆ ให้กว้างขวางมากขึ้น และร่วมกันก้าวสู่ความเป็นเลิศทางการตลาดของประเทศไทยอย่างยั่งยืน

thumbnail คณะผู้บริหารหลักของสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย
สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย (MAT)

‘7เทรนด์’นักการตลาดเข้าใจผู้บริโภค ยุค‘ปลาตัวจริงคือผู้ชนะ’

Avatar photo