World News

จีนเผย ‘ฟาวิพิราเวียร์’ รักษา ‘โควิด-19’ ได้ผลดี

จีน เผย ดำเนินการทดลองทางคลินิกกับฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ยาต้านไวรัสก่อโรคไข้หวัดใหญ่ ที่แสดงประสิทธิผลทางการรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ในระดับดี

จาง ซินหมิน ผู้อำนวยการศูนย์การพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติจีน (CNCBD) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีน  แถลงว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งได้รับการอนุมัติใช้งานทางคลินิกในญี่ปุ่นเมื่อปี 2557 ไม่มีผลข้างเคียงชัดเจนในการทดลองทางคลินิก

การทดลองนี้ มีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มากกว่า 80 ราย ที่เข้าร่วมการทดลอง ในโรงพยาบาลประชาชนแห่งที่ 3 ของเมืองเสิ่นเจิ้น มณฑลกว่างตงทางตอนใต้ โดยมีผู้ป่วยได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ 35 ราย และผู้ป่วยกลุ่มควบคุม (control group) อีก 45 ราย

ผลทดลองพบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์ มีผลการตรวจหาไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่กลายเป็นลบในระยะเวลาสั้นกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับการรักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์

ยาจีน

นอกจากนั้น การทดลองทางคลินิกแบบสุ่ม (randomized) ในหลายสถาบัน นำโดยโรงพยาบาลจงหนานของมหาวิทยาลัยอู่ฮั่น ก็บ่งชี้ว่าการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ด้วยยาฟาวิพิราเวียร์ สัมฤทธิ์ผลดีกว่ามากเช่นเดียวกัน

จางกล่าวว่า มีการแนะนำยาฟาวิพิราเวียร์แก่ทีมบุคลากรการแพทย์ และจะบรรจุยาตัวนี้เข้าแผนการวินิจฉัยและรักษาโรคโควิด-19 โดยเร็วที่สุด ด้านสำนักงานบริหารเวชภัณฑ์แห่งชาติ (NMPA) ได้อนุมัติการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ในปริมาณมากแล้ว

ขณะเดียวกันจีนกำลังผลักดันการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่บางส่วน อาทิ การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์ (stem cell) ตับเทียม และการขจัดสารพิษในเลือดหรือการฟอกเลือด เพื่อการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง

จางกล่าวว่าการรักษาด้วยสเต็มเซลล์แสดงประสิทธิผลโดยลดอาการอักเสบอย่างรุนแรงที่เกิดจากโรคโควิด-19 รวมถึงลดการบาดเจ็บในปอดและภาวะพังผืดสะสมในปอด (pulmonary fibrosis) ของผู้ป่วยอีกด้วย

จีนได้ริเริ่มโครงการทดลองทางคลินิกกับการรักษาโควิด-19 ด้วยสเต็มเซลล์หลายโครงการ ซึ่งครอบคลุมยาสเต็มเซลล์ที่ได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการทดลองทางคลินิก และการรักษาด้วยสเต็มเซลล์เนื้อเยื้อเกี่ยวพัน (mesenchymal)

มีการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงและอาการหนักขั้นวิกฤติด้วยสเต็มเซลล์ จำนวน 64 ราย ซึ่งพบว่าช่วยบรรเทาอาการหายใจลำบาก และช่วยให้ผู้ป่วยหายดีใน 8-10 วัน รวมถึงป้องกันภาวะพังผืดสะสมในปอด และพัฒนาการพยากรณ์โรคในระยะยาว

สมาคมชีววิทยาของเซลล์แห่งชาติจีน (CSCB) และสมาคมการแพทย์แห่งชาติจีน (CMA) ได้ร่วมกันออกแนวทางเพื่อกำหนดมาตรฐานการทดลองทางคลินิกและการประยุกต์ใช้วิธีการรักษาโรคโควิด-19 ด้วยสเต็มเซลล์

จางเสริมว่าจีนพยายามใช้เทคโนโลยีตับเทียมและการขจัดสารพิษในเลือดมารักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีอาการหนักขั้นวิกฤต ซึ่งพบว่าช่วยลดระดับการอักเสบในปอด ลดระยะเวลาใช้เครื่องช่วยหายใจเหลือเฉลี่ย 7.7 วัน และการเฝ้าระวังอาการวิกฤติให้สั้นลงด้วย

ที่มา: Xinhua Thai

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight